‘ชิดตะวัน’ หวังได้ผู้ว่าธปท.คนใหม่ที่กล้าท้วงติงนโยบายรัฐ
ครม.เห็นชอบตั้งผู้ว่าฯธปท.วันนี้ นักวิชาการย้ำ หวังได้คนกล้าท้วงติงนโยบายรัฐบาลที่ไม่ถูกต้องและเสี่ยงจะเกิดความเสียหายต่อประเทศในอนาคต ตามรอยดร.ป๋วย
22 ก.ค. 2568 - รศ.ดร.ชิดตะวัน ชนะกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณาจารย์ที่เคยลงนามคัดค้านการที่รัฐบาลจะเสนอชื่อนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ทั้ง ๆ ที่ขัดต่อระเบียบ เนื่องจากเคยเป็นประธานที่ปรึกษาของอดีตนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 234 / 2566 โดยพ้นจากตำแหน่งดังกล่าวไม่ถึง 1 ปี กล่าวถึงกรณี นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯและรมว.คลัง จะเสนอชื่อผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยต่อคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 22 กรกฎาคม 2568 ขณะเดียวกันพบว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์ผ่านโซเชียลมิเดียให้เกิดภาพลักษณ์ทางลบกับ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนปัจจุบันว่า ทำให้ธนาคารรวย แต่คนไทยจน ประเทศไทยต้องการผู้ว่าแบงก์ชาติที่ตีนติดดิน ทำเพื่อคนรากหญ้า
เรื่องนี้เห็นว่า แนวคิดที่ว่าควรได้ผู้ว่าแบงก์ชาติที่สามารถทำให้ธนาคารพาณิชย์ทำเพื่อคนรากหญ้านั้น เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องและเป็นไปได้ยาก เนื่องจากสถาบันการเงินเอกชนมีวัตถุประสงค์แสวงหากำไรสูงสุดเฉกเช่นธุรกิจเอกชนประเภทอื่น ๆ ดังนั้น โดยหลักแล้วจึงไม่ปล่อยกู้ถ้าทำกำไรได้น้อย เว้นแต่รัฐบาลจะเข้ามาชดเชยส่วนต่าง เพื่อให้ทางธนาคารได้รับกำไรตามเป้าหมาย ซึ่งงบประมาณที่จะนำมาชดเชยส่วนต่างให้สถาบันการเงินเอกชนก็มาจากภาษีของคนในประเทศทุกคน โดยรัฐบาลสามารถช่วยประชาชนกลุ่มรากหญ้าให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ผ่านรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน อาทิ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน อยู่แล้ว ในลักษณะนโยบายกึ่งการคลัง อย่างไรก็ดี รัฐบาลก็มีหน้าที่นำเงินงบประมาณแผ่นดินมาชดเชยให้องค์กรดังกล่าวเช่นเดียวกัน
รศ.ดร.ชิดตะวันกล่าวอีกว่า รัฐบาลมีหน้าที่ใช้นโยบายการคลัง ได้แก่ มาตรการด้านภาษีและการใช้จ่ายของรัฐบาล เพื่อช่วยประชาชนให้หลุดพ้นจากความยากจน ปัจจุบันประเทศไทยตกอยู่ในสภาพรวยกระจุก จนกระจาย เพราะมีโครงสร้างทางภาษีที่เอื้อประโยชน์ให้กับประชากรส่วนน้อยที่ร่ำรวย ในขณะที่การใช้จ่ายของรัฐบาลมักเป็นการให้ในรูปแบบประชานิยม ที่ไม่ได้เกื้อหนุนให้คนส่วนใหญ่ของประเทศพัฒนาศักยภาพ ความสามารถ จนสามารถหลุดพ้นจากความยากจนได้ สำหรับแนวนโยบายของรัฐบาลชุดนี้พบว่า เป็นไปในลักษณะที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำทวีความรุนแรงมากขึ้น เห็นได้จากช่วงเดือนธันวาคม 2567 รัฐบาลมีแนวคิดปรับโครงสร้างภาษี โดยเพิ่ม VAT จาก 7% เป็น 15% แต่กลับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา/นิติบุคคลเหลือ 15% โดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีอ้างว่า เป็นการปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ทั้ง ๆ ที่ในทางเศรษฐศาสตร์ ทั้ง 3 มาตรการดังกล่าวเป็นการเพิ่มความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่การลดความเหลื่อมล้ำ โดยการเพิ่ม VAT อย่างก้าวกระโดดจะทำให้ประชาชนกลุ่มรายได้น้อยรับภาระภาษีเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในขณะที่การลดภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยหลักแล้วก่อให้เกิดประโยชน์กับกลุ่มทุน จึงไม่ใช่แนวนโยบายที่จะลดช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวยได้เลย นอกจากนี้ การที่รัฐบาลยกเว้นการจัดเก็บภาษีนำเข้าไวน์จากเดิมที่อัตรา 54-60% เหลือ 0% ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ก็เป็นการเอื้อประโยชน์มหาศาลให้กลุ่มผู้ผลิตและนำเข้าไวน์จากต่างประเทศ ตลอดจนผู้ดื่มไวน์ระดับไฮเอนด์ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ร่ำรวย
สำหรับการปฏิรูปภาษีอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งสามารถลดความเหลื่อมล้ำและสร้างรายได้ให้กับประเทศ จนสามารถลดการจัดเก็บภาษีประเภทอื่นได้นั้น นายพิชัย ชุนหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เคยให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2567 ว่า “หากจะทำคงต้องสร้างความเข้าใจกับผู้ที่จะต้องเสียภาษีดังกล่าวก่อน” ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่านายพิชัย ชุนหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหมายถึงใคร เพราะในทางทฤษฎีและข้อเท็จจริงของทุกประเทศพบว่า การปฏิรูปการจัดเก็บภาษีอสังหาริมทรัพย์จะกระทบโดยตรงกับกลุ่มทุนใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มทุนอสังหาริมทรัพย์ นักการเมืองที่กว้านซื้อที่ดินไว้เป็นจำนวนมาก ในขณะที่คนรากหญ้าไม่ได้รับผลกระทบจากภาษีประเภทนี้ สำหรับชนชั้นกลางก็ได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย
“ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงข้างต้นจึงอาจทำนายได้ว่า หากประเทศไทยได้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยที่รัฐบาลชุดนี้สั่งการได้ จะทำให้กลุ่มประชากรที่ร่ำรวย รวมถึงนักการเมืองที่ไร้สำนึกจะยิ่งร่ำรวยมากขึ้น ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่จะจนลงกว่าเดิมค่อนข้างแน่นอน”รศ.ดร.ชิดตะวันกล่าว
เมื่อถามว่า ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยจำเป็นต้องติดดินหรือไม่ ดร.ชิดตะวันกล่าวว่า ความซื่อสัตย์ สุจริต มีความกล้าหาญ เห็นประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนมากกว่าความมั่นคงของตำแหน่งที่ตนดำรงอยู่ คือ คุณสมบัติของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ ปัจจุบันประเทศไทยมีการทุจริตคอร์รัปชันที่รุนแรง ในขณะที่ประเทศเดนมาร์กและสิงคโปร์มีการคอร์รัปชันต่ำที่สุดในโลกอันดับ 1 และ 3 ตามลำดับ แต่ประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 107 จากจำนวน 180 ประเทศ
“ดังนั้น ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยจึงต้องเป็นคนที่มีจุดยืน กล้าท้วงติงนโยบายของรัฐบาลที่ไม่ถูกไม่ควรและไม่เหมาะสม หรือจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศในอนาคต ดังเช่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คุณสมหมาย ภาษี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือแม้แต่ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน และต้องไม่นำความลับเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงนโยบายสำคัญในเรื่องอื่น ๆ มาแพร่งพราย จนเกิดความเสียหายต่อประเทศ จากการที่นักการเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชันแสวงหาประโยชน์ โดยใช้ข้อมูลลับจากผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดังที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต บริบทของการเมืองในประเทศนี้เป็นเรื่องผลประโยชน์ของวงศ์ตระกูลและพวกพ้อง ไม่มีคำว่าแผ่นดินและประชาชนอยู่ในสมการ หากผู้ว่าการธนาคารกลาง ซึ่งเป็นบุคคลที่ต้องเป็นอิสระ ถูกฝ่ายการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ครอบงำได้ จะก่อให้เกิดหายนะกับประเทศชาติและประชาชนแน่นอน”รศ.ดร.ชิดตะวันระบุ
ทั้งนี้มีรายงานก่อนหน้านี้มาโดยตลอดว่า รายชื่อที่คณะกรรมการคัดเลือกผู้ว่าฯธปท.คัดเลือกและส่งชื่อไปให้กระทรวงการคลังมีสองชื่อคือ ดร.รุ่ง โปษยานนท์ มัลลิกะมาส รองผู้ว่าฯธปท. ด้านเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน และนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการออมสิน โดยข่าวหลายกระแสรายงานว่า นายพิชัย ได้เลือกเสนอชื่อนายวิทัย ต่อที่ประชุมครม. เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นผู้ว่าฯธปท.คนใหม่