บุกโกดังนายทุนจีน ซุกวัตถุอันตราย น้ำยาทำความสะอาด-เครื่องสำอางเถื่อน
ปคบ. ร่วม อย. บุกค้นโกดังนายทุนจีนซุกวัตถุอันตรายใช้ในครัวเรือน-เครื่องสำอางเถื่อนลอบขายออนไลน์ ยึดของกลางกว่า 4 แสนชิ้น มูลค่ากว่า 20 ล้านบาท
วันที่ 22 ก.ค. 68 ที่ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) พ.ต.อ.อนุวัฒน์ รักษ์เจริญ รอง ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.วีระพงษ์ คล้ายทอง ผกก.4 บก.ปคบ. พ.ต.ท.รุตินันท์ สัตยาชัย สว.กก.4 บก.ปคบ. ร่วมกับ นพ. รุ่งฤทัย มวลประสิทธิ์พร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาแถลงผลตรวจค้นโกดังซุกซ่อนผลิตภัณฑ์อันตรายที่ใช้ในครัวเรือนลักลอบนำเข้ามาจากต่างประเทศ ตรวจยึดของกลางเช่น น้ำยาทำความสะอาด น้ำยาขจัดท่อตัน และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ไม่มีเลขจดแจ้ง จำนวน 413,746 ชิ้น รวมมูลค่ากว่า 20 ล้านบาท
พ.ต.อ.อนุวัฒน์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากปรากฏข่าวมีผู้เสียชีวิตซึ่งสันนิษฐานว่าเกิดจากการสูดดมก๊าซพิษจากการใช้ผลิตภัณฑ์แก้ไขการอุดตันของท่อ ทาง พล.ต.ต.พัฒนศักดิ์ บุบผาสุวรรณ ผบก.ปคบ. จึงสั่งการให้ร่วมสืบสวนจับกุมร้านค้าลักลอบขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเรื่อยมา
กระทั่งสืบทราบสถานที่จัดเก็บผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมาย ในพื้นที่เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ ก่อนนำหมายค้นศาลอาญามีนบุรี เข้าตรวจค้นสถานที่จัดเก็บสินค้าดังกล่าว พบแรงงานต่างด้าวกำลังบรรจุสินค้าลงกล่องพัสดุ เพื่อส่งต่อให้กับลูกค้า จึงตรวจยึดของกลางอาทิ วัตถุอันตราย ยี่ห้อ SEAWAYS ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ซักผ้า, ทำความสะอาดพื้น, ขจัดคราบสกปรก, ทำความสะอาดอเนกประสงค์, ล้างเครื่องซักผ้า, ขจัดท่ออุดตัน, ทำความสะอาดห้องครัว, ทำความสะอาดห้องน้ำ และกำจัดเชื้อราในครัวเรือน นอกจากนี้ได้ตรวจยึดผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางยี่ห้อ Dr. Leo ได้แก่ ครีมบำรุงผิว และป้องกันแสงแดดอีกด้วย
พ.ต.อ.วีระพงษ์ กล่าวว่า จากการสอบถาม น.ส.อุทุมวัลย์ (สงวนนามสกุล) เจ้าของสถานที่รับว่าสินค้าดังกล่าว เป็นของนายทุนชาวจีน เช่าโกดังเพื่อเก็บสินค้าและจ้างแรงงานต่างด้าวบรรจุสินค้าส่งให้กับลูกค้าที่สั่งซื้อผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยเมื่อลูกค้าคนไทยสั่งซื้อสินค้า ข้อมูลการสั่งซื้อจะส่งไปที่ร้านค้าที่ประเทศจีน จากนั้นร้านค้าจะส่งข้อมูลลูกค้า พร้อมสถานที่จัดส่งเข้ามาในระบบ โดยโกดังไม่ทราบว่ามีร้านค้าใดบ้าง จากนั้นพนักงานโกดังจะพิมพ์ข้อมูลลูกค้า พร้อมสินค้าบรรจุลงกล่อง นำส่งผู้ซื้อ มียอดในการส่งแต่ละวัน ประมาณ 7,000 – 9,000 ชิ้น ได้ค่าจ้างเป็นค่าบรรจุสินค้าในราคาชิ้นละ 5 – 7 บาท โดยทำมาแล้วประมาณ 3 ปี
พ.ต.ท.รุตินันท์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบการนำเข้าผลิตภัณฑ์วัตถุอันตราย ยี่ห้อ SEAWAYS พบทั้งผลิตภัณฑ์ที่ไม่แจ้งข้อเท็จจริง ไม่ขึ้นทะเบียน และบางรายการมีการยื่นคำขอจดทะเบียน แต่ไม่พบข้อมูลการนำเข้า ผ่านด่าน อย. แต่อย่างใด โดยผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายนี้ต้องขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาตทั้งการผลิต นำเข้า หรือครอบครอง
เนื่องจากบางชนิดอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช และสิ่งแวดล้อม และการนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางยี่ห้อ Dr. Leo ของกองด่านอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.67 ถึงปัจจุบัน ของบริษัทผู้ขออนุญาตนำเข้าไม่พบข้อมูลการนำเข้าผลิตภัณฑ์ดังกล่าว
เบื้องต้นแจ้งข้อหา “มีไว้ในครอบครองวัตถุอันตรายไม่แจ้งข้อเท็จจริง, มีไว้ในครองครองวัตถุอันตรายที่ ไม่ได้ขึ้นทะเบียน, ขายวัตถุอันตรายที่ไม่แสดงฉลากภาษาไทย และมีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง, ขายเครื่องสำอางที่ไม่มีเลขจดแจ้ง, ขายเครื่องสำอางที่แสดงฉลากไม่ถูกต้องและนำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางโดยไม่ผ่านการตรวจสอบ ณ ด่านตรวจสอบเครื่องสำอาง
ด้าน นพ.รุ่งฤทัย กล่าวว่า ขอเตือนผู้บริโภคให้ระมัดระวังในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมวัตถุอันตรายทางแพลตฟอร์มออนไลน์ ต้องเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากภาษาไทย มีเลขทะเบียนวัตถุอันตรายอย่างถูกต้อง โดยให้สังเกตที่ฉลาก ต้องมีเลขทะเบียน อย. วอส. และเครื่องสำอางต้องมีฉลากภาษาไทย มีเลขจดแจ้ง และไม่หลงชื่อคำโฆษณาและเห็นแก่ของราคาถูกเกินกว่าปกติ ให้ระลึกไว้เสมอว่าท่านกำลังเสี่ยงต่อการได้ของปลอมและไม่มีคุณภาพอทจเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตจากสารระเหยได้
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : บุกโกดังนายทุนจีน ซุกวัตถุอันตราย น้ำยาทำความสะอาด-เครื่องสำอางเถื่อน
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
- Website : https://www.khaosod.co.th