ผัวเมียนักธุรกิจร้อง ‘บิ๊กเต่า’ ถูกตุ๋นซื้อสิทธิงานหลวง-รถหรู รมต.สูญ 7 ล้าน
เมื่อวันที่ 22 ก.ค. ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) นายกองตรี ดร.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เดินทางเข้าพบ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รอง ผบช.ก. และ พ.ต.อ.เอนก เตาสุภาพ รอง ผบก.ป. เพื่อพา น.ส.ผักกาด (นามสมมุติ) อายุ 45 ปี และนายบอม (นามสมมุติ) อายุ 43 ปี สองสามีภรรยานักธุรกิจรับเหมาก่อสร้างใน จ.ลำปาง ผู้เสียหายถูกนักการเมือง ซึ่งแอบอ้างว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญประจำตัวของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยคนหนึ่ง หลอกลวงเอาเงินเพื่อแลกสิทธิรับโครงการของทางราชการและยังหลอกให้ซื้อรถ BMW สำหรับรับส่งรัฐมนตรี รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 7 ล้านบาท เข้าร้องเรียนโดยตรงและให้ทางตำรวจ บก.ปปป. ตรวจสอบข้อเท็จจริง
หลังจากใช้เวลาพูดคุยกันเกือบ 1 ชั่วโมงครึ่ง นายกองตรี ดร.ธนกฤต ได้เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า จากเหตุการณ์ที่ผู้เสียหายถูกบุคคลแอบอ้างว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญประจำรัฐมนตรีมาหลอกลวงและเรียกรับเงิน รวมทั้งหลอกให้ซื้อรถสำหรับรับ-ส่งรัฐมนตรี ความเสียหายกว่า 7 ล้านบาทนั้น ก็ได้นำเรื่องดังกล่าวมาร้องเรียนกับทางกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดยมีประเด็นที่จะให้ทางตำรวจช่วยตรวจสอบว่าจะเข้าข่ายความผิดใดบ้าง ทั้งประเด็นที่ว่าโครงการรัฐที่ถูกแอบอ้าง โดยเฉพาะโครงการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่ามีอยู่จริงหรือไม่ อีกทั้งนายพลที่ถูกแอบอ้างเป็นข้าราชการ เคยเป็นข้าราชการ มีชั้นยศจริงหรือไม่ และบุคคลที่มาหลอกลวงเป็นข้าราชการการเมืองจริงหรือไม่
ดร.ธนกฤต เผยอีกว่า รวมทั้งอยากให้ตรวจสอบประเด็นเรื่องของการปลอมวุฒิการศึกษาและเอกสารราชการหลายรายการ เช่น เอกสารคำสั่งแต่งตั้ง, บัตรเจ้าหน้าที่เข้าออกทำเนียบรัฐบาล, เอกสารขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ซึ่งเอกสารเหล่านี้ล้วนแต่มีตราประทับราชการที่ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อได้ง่าย โดยประเด็นดังกล่าว หากพบว่าเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายข้อใด ก็ให้ทางตำรวจดำเนินคดีทันที รวมทั้งต้องการอยากจะให้ทำเนียบรัฐบาล กระทรวงมหาดไทย และรัฐสภา ตรวจสอบว่า มีบุคคลกระทำความผิดเป็นข้าราชการในสังกัดหรือมีสถานะทางราชการจริงหรือไม่
พล.ต.ต.จรูญเกียรติ กล่าวว่า หลังจากนี้ต้องนำข้อเท็จจริงไปตรวจสอบอย่างละเอียด เพราะยังไม่แน่ชัดว่า โครงการที่ถูกแอบอ้างมีอยู่จริงหรือไม่มีอยู่จริง และจะเข้าข่ายข้อหาการทุจริตหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ จากพฤติการณ์ที่เกิดขึ้น ค่อนข้างแน่ชัดว่าเข้าข่ายฉ้อโกงและมีหลายกรรมหลายวาระด้วย ซึ่งแนวทางการตรวจสอบหลังจากนี้ต้องดูว่า โครงการราชการเหล่านั้นหากมีอยู่จริงก็จะเข้าข่ายการทุจริต อยู่ในความรับผิดชอบของ บก.ปปป. หากไม่มีอยู่จริง ก็จะเป็นเรื่องของการฉ้อโกง อยู่ในความรับผิดชอบของกองบังคับการปราบปราม
พ.ต.อ.เอนก กล่าวว่า จากพฤติการณ์พบว่าผู้ก่อเหตุหลอกลวงหลายครั้ง จึงอาจเข้าข่ายความผิดฐานฉ้อโกงเป็นกิจธุระ ซึ่งจะกลายเป็นความผิดมูลฐานนำไปสู่ข้อหาฟอกเงินได้ แต่ทางตำรวจจะต้องนำข้อเท็จจริงดังกล่าวไปตรวจสอบก่อนว่า มีโครงการรัฐและมีเจ้าหน้าที่ราชการเกี่ยวข้องหรือไม่ เพราะถ้าเป็นโครงการราชการและมีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้อง ก็จะเข้าข่ายเป็นความผิดฐานติดสินบนได้เช่นเดียวกัน