คนข้ามเพศเฮ! ดีเดย์ 31 มี.ค. 69 ประกาศใช้ ‘ธรรมนูญสุขภาวะคนข้ามเพศ’ เพิ่มคุณภาพชีวิต
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เดินหน้าประกาศใช้ “ธรรมนูญสุขภาวะคนข้ามเพศ” อย่างเป็นทางการในวันที่ 31 มีนาคม 2569 ซึ่งตรงกับวันสากลแห่งการตระหนักถึงตัวตนของคนข้ามเพศ (Transgender Day of Visibility: TDOV) ถือเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิต สวัสดิการ การเข้าถึงสาธารณสุข และสิทธิการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศของประชาชนกลุ่มนี้อย่างเป็นรูปธรรม
ณชเล บุญญาภิสมภาร ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อคนข้ามเพศ (คขพ.) กล่าวว่า ธรรมนูญสุขภาวะคนข้ามเพศฉบับนี้อยู่ภายใต้กระบวนการพัฒนาที่เปิดพื้นที่ให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ผ่านการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างวันที่ 29–30 มิถุนายน 2568
โดยสำนักนโยบายสาธารณะเขตเมือง สช. ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายคนข้ามเพศ จัดเวทีเพื่อพัฒนาศักยภาพคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อคนข้ามเพศ (คขพ.) พร้อมทั้งเริ่มยกร่างธรรมนูญโดยอิงจากความต้องการ ภาพฝัน และประสบการณ์จริงของผู้มีส่วนได้เสีย
แผนการดำเนินงาน (Action Plan) ได้เริ่มตั้งแต่กรกฎาคมถึงกันยายน 2568 ด้วยการจัดทำร่างฉบับแรก จากนั้นจะมีเวทีรับฟังความคิดเห็นรอบแรกในเดือนตุลาคม 2568 และรอบที่สองในเดือนมกราคม 2569 ก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนสุดท้ายคือการประกาศใช้ธรรมนูญในวันที่ 31 มีนาคม 2569
ร่างธรรมนูญแบ่งออกเป็น 5 หมวด ได้แก่
- กำหนดคุณค่า อุปสรรค และบทเรียนจากความสำเร็จในอดีต
- นิยามศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับคนข้ามเพศ
- เป้าหมายและแนวปฏิบัติ เช่น การรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ การมีสวัสดิการที่ครอบคลุม การศึกษาแบบเข้าใจ SOGIESC การเข้าถึงบริการสุขภาพ และโอกาสในการทำงาน
- กิจกรรมสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อการยอมรับความหลากหลาย
- ระบบประเมินผลความสำเร็จ
การจัดทำธรรมนูญนี้อ้างอิงตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 5 ที่ระบุถึงสิทธิของบุคคลในการดำรงชีวิตในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ และความร่วมมือกับรัฐในการดำเนินการเพื่อให้เกิดสิ่งแวดล้อมนั้น โดยธรรมนูญสุขภาพถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะที่เกิดจากพลังร่วมของสังคม
ศิรวิทย์ กมลธรรมศิษฏ์ นักวิชาการจาก สช. กล่าวเสริมว่า คณะกรรมการ คขพ. ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยเลขาธิการ สช. ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2568 ทำหน้าที่เป็นกลไกหลักในการพัฒนาธรรมนูญสุขภาวะคนข้ามเพศ โดยเป้าหมายสูงสุดไม่ใช่แค่การประกาศใช้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเดินหน้าผลักดันให้เนื้อหาที่กำหนดไว้ในธรรมนูญเป็นจริงในทางปฏิบัติ
“คขพ. จะร่วมกันสร้างธรรมนูญสุขภาวะคนข้ามเพศให้บรรลุตามเป้าหมายที่จะประกาศใช้ในวันที่ 31 มี.ค. 69 ซึ่งถือเป็นการจบกระบวนการขาขึ้นเท่านั้น เพราะยังมีกลไกขาเคลื่อนให้สิ่งที่ร่วมกันกำหนดไว้ในธรรมนูญสุขภาพฯ สำเร็จเป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติด้วย”ส่วนบนของฟอร์ม
ส่วนล่างของฟอร์ม