โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ถ้อยแถลงของไทยต่อสถานการณ์ชายแดนไทย – กัมพูชา ในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ UNSC

ไทยพับลิก้า

อัพเดต 10 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 10 ชั่วโมงที่ผ่านมา
ที่มาภาพ:เพจ กระทรวงการต่างประเทศ Ministry of Foreign Affairs of the Kingdom of Thailand

นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ได้ให้ถ้อยแถลงในการประชุมแบบปิดของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ภายใต้ระเบียบวาระ เรื่อง ภัยต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ณ ห้องประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก วันที่ 25 กรกฎาคม 2568

วันที่ 26 กรกฎาคม 2568 เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศได้เผยแพร่ คำแปลถ้อยแถลง ของเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ในการประชุมแบบปิดของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC)

ท่านประธานที่เคารพ

กระผมขอขอบคุณท่านที่จัดการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในครั้งนี้ และขอขอบคุณผู้ช่วยเลขาธิการสหประชาชาติสำหรับการบรรยายสรุปเกี่ยวกับเหตุการณ์

ท่านประธานที่เคารพ
กระผมรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ อย่างไรก็ดี ในวันนี้ กระผมรู้สึกเสียใจอย่างยิ่งที่จำเป็นต้องกล่าวถ้อยแถลงภายใต้สถานการณ์ที่เลวร้าย เนื่องจากการกระทำอันเป็นการรุกรานของกัมพูชา โดยปราศจากการยั่วยุ ซึ่งได้คุกคามต่ออำนาจอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน และที่สำคัญยิ่ง ต่อชีวิตของพลเรือนผู้บริสุทธิ์ของประเทศไทย ซึ่งเป็นที่ทราบดีว่า ประเทศไทยยึดมั่นในสันติภาพมาโดยตลอด

กระผมขอชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ประเทศไทยถือว่า กัมพูชาเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดและเป็นสมาชิกที่สนิทสนมในครอบครัวอาเซียนมาโดยตลอด นับตั้งแต่ที่กัมพูชาได้รับเอกราชในปี 2496 (ค.ศ. 1953) ประเทศไทยได้ช่วยสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อกระบวนการสร้างสันติภาพ การสร้างชาติ และการพัฒนาของกัมพูชามาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ไทยยังได้สนับสนุนข้อตกลงสันติภาพปารีสในปี 2534 (ค.ศ. 1991) และการเข้าเป็นสมาชิกของอาเซียนของกัมพูชาในปี 2542 (ค.ศ. 1999) ซึ่งตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา ไทยและกัมพูชาได้ร่วมมือกันด้วยความสุจริตใจเพื่อประโยชน์ร่วมกันของประชาชนทั้งสองประเทศ

อย่างไรก็ดี ไทยและกัมพูชาประสบกับความท้าทายและมีความเห็นต่างในบางโอกาส ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ระหว่างประเทศที่เป็นเพื่อนบ้านกันทั่วไป แต่เมื่อเกิดกรณีดังกล่าวขึ้น สิ่งที่ควรกระทำ คือ การร่วมกันแก้ไขปัญหาด้วยการเจรจาอย่างสันติ ไม่ใช่การใช้ความรุนแรง และด้วยเหตุนี้ เราจึงมาหารือกันในที่ประชุมแห่งนี้

ท่านประธานที่เคารพ

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ได้เกิดการปะทะกันเล็กน้อยในบริเวณชายแดนไทย–กัมพูชา ในขณะที่ทหารไทยกำลังอยู่ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ลาดตระเวนตามเส้นทางประจำที่กำหนดไว้ในเขตแดนของประเทศไทย ทหารฝ่ายกัมพูชาได้เริ่มยิงโจมตีทหารไทยก่อน โดยปราศจากการยั่วยุใด ๆ ทหารฝ่ายไทยจึงมีความจำเป็นต้องตอบโต้โดยคำนึงถึงความเหมาะและได้สัดส่วน ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ประเทศไทยเชื่อมั่นมาโดยตลอดว่า ช่องทางทวิภาคีคือ แนวทางที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการแก้ไขปัญหาลักษณะดังกล่าว ไทยจึงได้พยายามผลักดันให้มีหารือกับกัมพูชาผ่านการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (Joint Boundary Commission – JBC) ซึ่งได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2568ณ กรุงพนมเปญ

แม้จะมีความพยายามอย่างต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 16 และ 23กรกฎาคม 2568 ได้เกิดเหตุการณ์ทหารไทยเหยียบทุ่นระเบิดขณะปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนตามปกติภายในดินแดนของไทยเช่นเดียวกัน ส่งผลให้ทหาร 2 นายได้รับบาดเจ็บ ซึ่งนำไปสู่การทุพลภาพถาวร ขณะที่ทหารนายอื่น ๆ ได้รับบาดเจ็บสาหัส หลักฐานยืนยันชัดเจนว่า ทุ่นระเบิดที่พบเป็นทุ่นระเบิดที่ถูกนำไปวางใหม่ในพื้นที่ ซึ่งเคยเก็บกู้ทุ่นระเบิดหมดไปแล้ว ในการนี้ จึงขอเรียนข้อเท็จจริงว่า ไทยได้ทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลหมดสิ้นไปแล้ว ซึ่งรวมถึงส่วนที่เก็บไว้เพื่อการวิจัยและฝึกอบรม ตั้งแต่ปี 2562 ในขณะที่ รายงานความโปร่งใสประจำปีของกัมพูชา เมื่อเดือนธันวาคมปี 2565 ระบุว่า กัมพูชายังคงครอบครองทุ่นระเบิดสังหารบุคคลประเภทดังกล่าว การกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดอย่างร้ายแรงต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ได้แก่ อนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล หรือที่เป็นที่รู้จักในนามอนุสัญญาออตตาวา (Anti-Personnel Mine Ban Convention – APMBC) ซึ่งไทยและกัมพูชาเป็นรัฐภาคี และขัดต่อเจตนารมณ์ของปฏิญญาเสียมราฐ–อังกอร์ ซึ่งได้รับการรับรองในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2567
เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์อันร้ายแรงนี้ ประเทศไทยจึงได้ส่งหนังสือสองฉบับถึงประธานการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ครั้งที่ 22 โดยชี้แจงข้อเท็จจริงของรายละเอียดเหตุการณ์และประณามอย่างรุนแรงที่สุดต่อการกระทำของกัมพูชา ซึ่งถือเป็นการละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของไทยโดยเจตนา นอกจากนี้ ไทยยังได้มีหนังสือถึงเลขาธิการสหประชาชาติ เพื่อขอให้ฝ่ายกัมพูชาชี้แจงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นการดำเนินการตามข้อ 8 วรรค 2 ของอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล

ต่อมา เมื่อเวลา 08.20 น. ของเมื่อวาน วันที่ 24 กรกฎาคม 2568 กองทัพกัมพูชาได้เปิดฉากใช้อาวุธหนักยิงใส่ฐานปฏิบัติการของทหารฝ่ายไทยใกล้บริเวณปราสาทตาเมือนธม จังหวัดสุรินทร์ และต่อมา ทหารฝ่ายกัมพูชาได้โจมตีทางอาวุธต่อพื้นที่ในดินแดนของประเทศไทยโดยไม่เลือกเป้าหมาย ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ซึ่งถือเป็นการกระทำอันเป็นการรุกราน และการโจมตีทางอาวุธอย่างผิดกฎหมายและโดยไม่เลือกเป้าหมาย กระผมขอย้ำคำว่า โดยไม่เลือกเป้าหมาย ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงและความทุกข์ทรมานต่อพลเรือนผู้บริสุทธิ์ มีเด็กเสียชีวิต 4 คน และบาดเจ็บสาหัสอีก 4 คน นอกจากนี้ โครงสร้างพื้นฐานทางพลเรือน รวมทั้งโรงพยาบาลและโรงเรียน ต่างก็ได้รับความเสียหายอย่างหนัก โดยจากรายงานสถิติความเสียหาย ณ วันที่ 25 กรกฎาคม 2568 เวลา 09.00 น. การโจมตีดังกล่าวส่งผลให้มียอดผู้เสียชีวิตจำนวน 14 ราย และบาดเจ็บ 46 ราย โดย 13 รายอยู่ในภาวะวิกฤต

ผมขอย้ำประโยคว่า “อย่าละสายตา” อีกครั้ง ทั้งนี้ ในเพียงระยะเวลา 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา โรงพยาบาล สถานีบริการน้ำมัน และบ้านพักของพลเรือนตกเป็นเป้าหมายของการโจมตี ครอบครัวหนึ่งซึ่งมีสมาชิก 4 คน ในระหว่างซื้อของที่ร้านขายของชำ โดยแม่และลูกสามคน ไม่มีผู้ใดรอดชีวิตออกมา และมีประชาชนมากกว่า 130,000 คน ที่ต้องอพยพออกจากที่อยู่อาศัย

ในการนี้ ประเทศไทยขอประณามอย่างถึงที่สุดต่อการโจมตีโดยไม่เลือกเป้าหมายและไร้มนุษยธรรมของกัมพูชาต่อพลเรือน โครงสร้างพื้นฐานทางพลเรือน และสถานประกอบการสาธารณะต่าง ๆ โดยเฉพาะโรงพยาบาล ซึ่งถือเป็นการละเมิดอนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. 1949(The Geneva Conventions of 1949) โดยเฉพาะข้อ 19 ของอนุสัญญาเจนีวา ฉบับที่หนึ่ง และข้อ 18 ของอนุสัญญาเจนีวา ฉบับที่สี่

ท่านประธานที่เคารพ

การรุกรานและการโจมตีทางอาวุธอย่างต่อเนื่องโดยปราศจากการยั่วยุและมีการวางแผนล่วงหน้าของกองทัพกัมพูชา ถือเป็นการละเมิดอย่างร้ายแรงต่อกฎบัตรสหประชาชาติ ข้อ 2 วรรค 4 ซึ่งทุกท่านทราบดีว่า ระบุห้ามไม่ให้มีการใช้กำลังต่อบูรณภาพแห่งดินแดนของรัฐอื่น อีกทั้งยังขัดต่อหลักการอยู่ร่วมกันฉันมิตรกับรัฐเพื่อนบ้าน หลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของอาเซียน

แม้จะใช้ความอดกลั้นอย่างสูงสุด แต่ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องใช้สิทธิป้องกันตนเองตามข้อ 51 ของกฎบัตรสหประชาชาติ ผมขอยืนยันว่า การตอบโต้ของไทยดำเนินการอย่างมีการจำกัดขอบเขตตามหลักความได้สัดส่วน และมุ่งเป้าในการขจัดภัยคุกคามที่เกิดขึ้นต่อหน้าจากการโจมตีของกองกำลังฝ่ายกัมพูชาเท่านั้น มาตรการที่ใช้ทั้งหมดมุ่งเป้าต่อเป้าหมายทางทหารโดยตรง และได้ใช้ความพยายามทุกวิถีทางเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายต่อพลเรือน

ประเทศไทยมีจุดยืนที่ชัดเจนและต่อเนื่องในการยึดมั่นในหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐอื่น และเคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของรัฐอื่นอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นหลักการที่เป็นพื้นฐานสำคัญของระเบียบระหว่างประเทศและเสถียรภาพในภูมิภาค

ท่านประธานที่เคารพ ในฐานะประเทศที่รักสันติ ประเทศไทยขอปฏิเสธอย่างเด็ดขาดต่อการใช้กำลังแก้ไขข้อพิพาทระหว่างประเทศ และยังคงยึดมั่นต่อการระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธีตามกฎบัตรสหประชาชาติ ในการนี้ ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ไทยได้พยายามอย่างต่อเนื่องในการเจรจาและหารือกับกัมพูชาผ่านกลไกทวิภาคีต่าง ๆ รวมถึง คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (Joint Boundary Commission – JBC) เพื่อแก้ไขความขัดแย้งและป้องกันไม่ให้สถานการณ์ลุกลาม แต่เป็นที่น่าเสียใจอย่างยิ่งที่กัมพูชาจงใจหลีกเลี่ยงการเจรจา แต่พยายามนำเรื่องเข้าสู่เวทีระหว่างประเทศเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ทางการเมืองของตนเอง

ในส่วนของข้อกล่าวหาเกี่ยวกับความเสียหายต่อบริเวณโดยรอบและโครงสร้างของปราสาทพระวิหาร ขอยืนยันว่าไทยได้ใช้สิทธิในการป้องกันตนเองตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดยยึดมั่นในหลักการแบ่งแยกระหว่างพลรบกับพลเรือน ความได้สัดส่วนของการใช้กำลัง ความระมัดระวัง และความจำเป็นทางทหาร การตอบโต้ทั้งหมดของฝ่ายไทยจำกัดเฉพาะเป้าหมายทางทหารอย่างเคร่งครัด

ไม่มีการปะทะใด ๆ ระหว่างกองทัพไทยและกองทัพกัมพูชาเกิดขึ้นใกล้บริเวณปราสาทพระวิหาร พื้นที่ปะทะที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่บริเวณภูมะเขือ ซึ่งห่างจากปราสาทพระวิหารประมาณ ๒ กิโลเมตร และปราสาทพระวิหารตั้งอยู่นอกแนววิถีกระสุนของปฏิบัติการทางทหารของไทยโดยสิ้นเชิง จึงไม่มีความเป็นไปได้ใด ๆ ที่กระสุนหรือสะเก็ดระเบิดจะสร้างความเสียหายแก่ปราสาทพระวิหาร

ข้อกล่าวหาของกัมพูชาจึงปราศจากมูลความจริงและเป็นที่น่าผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง โดยเป็นการเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือน ประเทศไทยขอเรียกร้องให้กัมพูชาหยุดการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จหรือบิดเบือน ซึ่งเป็นการทำให้ประเด็นมรดกทางวัฒนธรรมกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองและขอให้กัมพูชาเคารพพันธกรณีระหว่างประเทศในการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมโดยสุจริตใจ
ในประเด็นระเบิดพวง ไทยขอยืนยันว่า การดำเนินการทางทหารเป็นไปตามหลักการแบ่งแยกระหว่างพลรบกับพลเรือน ความได้สัดส่วนของการใช้กำลัง และความจำเป็นทางทหาร ระเบิดพวงได้ถูกใช้โดยมุ่งไปยังเป้าหมายทางทหารเท่านั้น

ท่านประธานที่เคารพ

ประเทศไทยขอเรียกร้องให้กัมพูชายุติการสู้รบและการกระทำที่เป็นการรุกรานโดยทันที และกลับเข้าสู่กระบวนการเจรจาโดยสุจริตใจ

ที่มาภาพ:เพจ กระทรวงการต่างประเทศ Ministry of Foreign Affairs of the Kingdom of Thailand

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก ไทยพับลิก้า

ttb analytics คาดปี 2568 ตลาดอาคารสำนักงานให้เช่า อุปทานล้น แรงกดดันสูงขึ้น

12 ชั่วโมงที่ผ่านมา

พรรคประชาชนแฉรัฐบาล ‘ลักหลับ’ เร่งเซ็น “สัญญาซื้อไฟ” โดยไม่เปิดเผยราคา จี้นายกฯ-รมว.พลังงานยกเลิก

1 วันที่แล้ว

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความทั่วไปอื่น ๆ

ทภ.2 ชี้แจงแล้ว! หลังมีข่าวลือ เตรียมเรียกระดมพลกำลังสำรอง

News In Thailand

รัฐบาลไทยยืนยันนโยบาย ปฏิบัติการสุภาพบุรุษทางการทหาร

สำนักข่าวไทย Online

โฆษก ทบ.ลั่นหยุดยิงไม่ได้ เหตุกัมพูชาเปิดฉากแต่เช้าตรู่

ฐานเศรษฐกิจ

กังฟู หัวหน้าพรรคไทรวมพลัง เผยทุกคนรู้ดีตลาดช่องอานม้าฝั่งเขมรยึด เป็นของเรามาตั้งนาน เชื่อชาวน้ำยืนรอคอยวันนี้

News In Thailand

ทหารไทยยึดคืน "ช่องอานม้า" ธงไตรรงค์โบกสะบัด ร้องเพลงชาติไทยกึกก้อง

คมชัดลึกออนไลน์

กสทช.แจงเสาสัญญาณบนภูมะเขือเป็นเครือข่ายของกัมพูชา

ไทยโพสต์

“กริพเพนไทย” ดียังไง หลังประวัติศาสตร์กองทัพส่งรบจริง ครั้งแรกของโลก

Thaiger

ตร. ตีแผ่ 5 พฤติกรรมสายลับ โทษสูงสุดถึงประหารชีวิต ขอความร่วมมือประชาชนช่วยแจ้งเบาะแส

THE STANDARD

ข่าวและบทความยอดนิยม

Loading...