คณะกรรมาธิการแม่นํ้าโขง พบสารหนูปนเปื้อนแม่นํ้าโขง ‘เกินมาตรฐาน’ โดยพบ 4 จาก 5 จุดที่สุ่มตรวจ
ที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการแม่นํ้าโขง ได้เปิดเผยการปนเปื้อนของสารหนูในระดับที่ ‘เกินมาตรฐาน’ หรือเกิน 0.01 มิลลิกรัมต่อลิตร ใน 4 จาก 5 จุดเก็บตัวอย่าง บริเวณแม่น้ำกกและแม่น้ำโขง ซึ่งครอบคลุม สปป.ลาว และชายแดนเมียนมาและไทย
คณะกรรมาธิการแม่นํ้าโขง (Mekong River Commission หรือ MRC) คือองค์กรระหว่างรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นในปี 2538 ทำหน้าที่เหมือนเวทีระดับภูมิภาค สำหรับการจัดการทรัพยากรน้ำ โดยส่งเสริมความร่วมมือในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ตามข้อตกลงระหว่างกัมพูชา ลาว ไทย และเวียดนาม
ไม่นานมานี้ MRC ได้สุ่มเก็บตัวอย่างนํ้าจาก 5 จุด ได้แก่
C1 บริเวณพรมแดนพม่า-ลาวตอนบน C2 บริเวณพรมแดนพม่า-ลาวเหนือสามเหลี่ยมทองคำเล็กน้อย C3 บริเวณพรมแดนไทย-ลาวเหนือเมืองเชียงแสน C4 บริเวณพรมแดนไทย-ลาวใกล้สบกก C5 บริเวณพรมแดนไทย-ลาว ระหว่างเมืองเชียงของและห้วยทราย
เมื่อตรวจสอบคุณภาพของทั้ง 5 จุด MRC พบว่ามี 4 จุดที่มีระดับสารหนูสูง ‘เกินค่ามาตรฐานสากล’ ซึ่งกำหนดไว้ที่ 0.01 มิลลิกรัมต่อลิตร โดยพบที่ จุด C2 ถึง C5
ในขณะที่จุด C1 รวมถึงจุดต้นน้ำบริเวณเมืองหัวโขง (Houa Khong) และจุดปลายน้ำปลายน้ำที่เมืองหลวงพระบาง (Luang Prabang) พบระดับสารหนูที่ยังคง ‘ต่ำกว่าค่ามาตรฐาน’ ชี้ให้เห็นว่าต้นตอของการปนเปื้อนสารหนู อาจอยู่ระหว่างจุด C1 ถึง C5
ผลตรวจสอบข้างต้น สอดคล้องข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษของไทย ที่ได้ตรวจสอบคุณภาพน้ำ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2568 และพบระดับความเข้มข้นของสารหนูในแม่น้ำโขงที่ 0.025 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งเกินมาตรฐานการปนเปื้อนเช่นเดียวกัน
จากการตรวจสอบครั้งนี้ MRC ระบุว่าแม่นํ้าโขงถูกปนเปื้อนด้วยสารหนูในระดับ ‘ข้ามพรมแดน’ แล้ว โดย MRC จัดให้วิกฤตครั้งนี้ เป็นปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ในระดับ ‘รุนแรงปานกลาง’ (moderately serious) พร้อมแจ้งให้ประเทศที่อาจได้รับผลกระทบทราบแล้ว
MRC ระบุว่าในวันที่ 21 กรกฎาคมนี้ จะมีการประชุมระหว่างฝ่ายที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับลงพื้นที่เพื่อประเมินสถานการณ์ ที่จังหวัดเชียงราย เพื่อแบ่งปันข้อมูล แลกเปลี่ยนแนวทาง และหาข้อเสนอในการร่วมมือแก้ปัญหาต่อไป
อ้างอิงจาก