กรมพัฒนาที่ดิน พลิกฟื้นชีวิตเกษตรกรต้นน้ำ ด้วย “บ้านเล็กในป่าใหญ่” และ “แม่วากโมเดล”
ที่ผ่านมาความท้าทายของพื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่เกษตรกรรมในเขตภูเขาสูง เช่น ดอยฟ้าห่มปกและบ้านแม่วาก จังหวัดเชียงใหม่ ประสบปัญหาดินเสื่อมโทรมและหน้าดินพังทลายจากการทำการเกษตรที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งทำให้สูญเสียความชุ่มชื้นและธาตุอาหารในดิน ต้นทุนสูงจากการใช้สารเคมี และขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง
สำหรับแนวทางแก้ไขแบบบูรณาการกรมพัฒนาที่ดินได้ดำเนินการหลายมาตรการควบคู่กัน ได้แก่
ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ : ปรับพื้นที่ลาดชันให้เหมาะกับการเพาะปลูกด้วยการทำขั้นบันไดดินทั้งต่อเนื่องและไม่ต่อเนื่อง, คูเบนน้ำ และปลูกหญ้าแฝกรอบแปลงเกษตรเพื่อรักษาหน้าดินไม่ให้พังทลาย
ปรับปรุงบำรุงดิน : ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพจากเศษพืชเหลือทิ้งในไร่นา ลดการเผาและเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน พร้อมทั้งใช้ปูนโดโลไมท์เพื่อปรับค่าความเป็นกรด-ด่างให้อยู่ในระดับเหมาะสม
ส่งเสริมจุลินทรีย์ชีวภาพ : เช่น พด.1 สำหรับผลิตปุ๋ยหมัก, พด.2 สำหรับผลิตน้ำหมักชีวภาพ และ พด.7 สำหรับผลิตสารควบคุมแมลงศัตรูพืช เพื่อปรับโครงสร้างดิน ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต
ด้านการจัดการแหล่งน้ำ สนับสนุนการสร้างแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน เช่น บ่อน้ำขนาด 1,260 ลูกบาศก์เมตร, บ่อพวงพักน้ำ 7 แห่ง, ฝายชะลอน้ำ และระบบส่งน้ำ-แทงค์เก็บน้ำ
อีกหัวใจสำคัญของโครงการ เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่เกษตรยั่งยืนคือ การปรับระบบเกษตรกรรมจากพืชเชิงเดี่ยวไปสู่การปลูกพืชผสมผสานเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่เกษตรยั่งยืน เช่น มะม่วง อะโวคาโด มะขามเปรี้ยวยักษ์ เงาะ และไผ่ซางหม่น ช่วยกระจายความเสี่ยง เพิ่มรายได้ตลอดทั้งปี และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมกันนี้ยังมีการวางแผนการใช้ที่ดินรายแปลง โดยใช้แผนที่เป็นเครื่องมือให้เกษตรกรวางแนวทางการปลูกพืชอย่างเหมาะสม ไม่บุกรุกป่า
พร้อมเสริมสร้างองค์ความรู้และพลังชุมชน โดยกรมพัฒนาที่ดินได้ส่งเจ้าหน้าที่ให้ความรู้แก่เกษตรกร ทั้งด้านเทคนิคและการจัดการดินแบบยั่งยืน พร้อมจัดตั้ง “หมอดินประจำหมู่บ้าน” เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และดูแลพื้นที่ในระยะยาว โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน สนับสนุนให้ชุมชนมีบทบาทนำในการพัฒนา
นายพัฒนา ไชยมงคล เจ้าพนักงานการเกษตรชำนาญงาน และ นางสาวอนุสรา สมสัก นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ร่วมให้คำแนะนำแก่เกษตรกร พร้อมสาธิตการใช้หญ้าแฝก การผลิตปุ๋ยหมัก และการใช้แหล่งน้ำเพื่อเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ
ผลลัพธ์ชัดเจน วัดได้จริงจากโครงการที่บ้านแม่วากสามารถลดการสูญเสียตะกอนดินและธาตุอาหารพืชได้ถึง 6,165 ตันต่อปี บนพื้นที่ 250 ไร่ ดินมีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้น ค่า pH เหมาะสมกับการเพาะปลูก ผลผลิตเกษตรกรดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และมีแนวโน้มเปลี่ยนแนวคิดจากการปลูกเชิงเดี่ยวเป็นระบบเกษตรผสมผสาน
เกษตรกรสามารถลดการพึ่งพาสารเคมี พึ่งพาตนเองได้มากขึ้น เกิดการบอกต่อองค์ความรู้ และขยายผลไปยังหมู่บ้านใกล้เคียง ที่สำคัญยังช่วยลดปัญหาหมอกควันจากการเผาในพื้นที่ และเพิ่มพื้นที่สีเขียวในชุมชน “แม่วากโมเดล” จึงกลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่รวมทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเข้าไว้ด้วยกัน สะท้อนความสำเร็จจากการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างแท้จริง
นายบุญสี กาไว ชาวบ้านแม่วาก เผยว่า ได้เรียนรู้วิธีทำปุ๋ยหมักและเทคนิคปรับโครงสร้างดินจากเจ้าหน้าที่ และเริ่มทดลองใช้ในสวนของตัวเองด้วยความหวังว่าจะได้ผลผลิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
ขณะที่นายนิลภัทร คงพ่วง ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินเชียงใหม่ ย้ำว่า ผลสำเร็จของโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่และแม่วากโมเดลเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า การอนุรักษ์และใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างรู้คุณค่า ควบคู่กับการให้ความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสม สามารถเปลี่ยนชีวิตเกษตรกรให้ยั่งยืนได้จริง