อนุสัญญาออตตาวา ห้ามใช้ สะสม ผลิต ถ่ายโอน "ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล"
เอกสาร All Mine: The United States and the Ottawa Treaty จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวว่าทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (Anti-Personnel Mines หรือ APLs) ถูกขนานนามว่าเป็น "ภัยคุกคามที่ร้ายกาจ" ที่ส่งผลกระทบต่อพลเรือนอย่างไม่เลือกปฏิบัติมานานหลายทศวรรษ แม้การใช้ทุ่นระเบิดจะย้อนไปถึงสงครามกลางเมืองอเมริกา และถูกนำมาใช้แพร่หลายในสงครามโลกครั้งต่าง ๆ แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะกับพลเรือนผู้บริสุทธิ์ ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวระหว่างประเทศเพื่อห้ามอาวุธชนิดนี้ ในช่วงกลางทศวรรษ 1990 มีผู้เสียชีวิตจากทุ่นระเบิดไร้เหตุผลมากถึงปีละประมาณ 26,000 คน
ด้วยแรงผลักดันจากการรณรงค์ขององค์กรภาคประชาสังคมต่าง ๆ รวมถึงคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) และประเทศที่มีความตั้งใจร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแคนาดา ทำให้เกิด "กระบวนการออตตาวา" (Ottawa Process) ขึ้นในปี 1996 ซึ่งเป็นกระบวนการเจรจาอิสระนอกกรอบของสหประชาชาติ
ในที่สุด "อนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิต และโอนทุ่นระเบิดสังหารบุคคลและการทำลายทุ่นระเบิด" (Convention on the Prohibition of the Use, Stockpiling, Production and Transfer of Anti-Personnel Mines and on Their Destruction) หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า "อนุสัญญาออตตาวา" (Ottawa Treaty) หรือ "อนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล" (Anti-Personnel Mine Ban Convention หรือ APMBC) ก็ได้รับการรับรองที่กรุงออสโลเมื่อวันที่ 18 ก.ย.1997 และเปิดให้ลงนามที่กรุงออตตาวาในวันที่ 3 ธ.ค.1997 โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มี.ค.1999 หลังมีประเทศให้สัตยาบันครบ 40 ประเทศ
อนุสัญญาออตตาวาเป็นข้อตกลงด้านอาวุธ "ฉบับแรก" ที่ห้ามอาวุธที่ยังมีการใช้อย่างแพร่หลายในขณะนั้น พันธกรณีหลักของประเทศภาคีภายใต้อนุสัญญานี้คือ
- ห้ามการใช้ สะสม ผลิต พัฒนา จัดหา และโอนทุ่นระเบิดสังหารบุคคล
- ทำลายทุ่นระเบิดที่สะสมไว้ทั้งหมดภายใน 4 ปี
- กวาดล้างพื้นที่ปนเปื้อนทุ่นระเบิดทั้งหมด ภายในอาณาเขตหรือภายใต้การควบคุมภายใน 10 ปี และต้องใช้มาตรการป้องกันพลเรือนจากพื้นที่อันตราย
- ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิด รวมถึงการดูแล การฟื้นฟู และการกลับคืนสู่สังคมและเศรษฐกิจ
อนุสัญญานี้ประสบความสำเร็จอย่างมากในการสร้างบรรทัดฐานระหว่างประเทศที่ต่อต้านการใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล มีทุ่นระเบิดที่สะสมไว้มากกว่า 54 ล้านทุ่นถูกทำลายลง และจำนวนผู้เสียชีวิตจากทุ่นระเบิดใหม่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด จาก 25,000 รายต่อปีในปี 1999 เหลือเพียงน้อยกว่า 5,000 รายในปี 2022
ภาคีประเทศที่ร่วมลงนามอนุสัญญาออตตาวา
สถานะ ไทย-กัมพูชา ภายใต้อนุสัญญาออตตาวา
ประเทศไทยและกัมพูชาต่างก็เป็นประเทศภาคีของอนุสัญญาออตตาวา ทั้ง 2 ประเทศได้ร่วมลงนามในอนุสัญญาฉบับนี้พร้อมกันในวันที่ 3 ธ.ค.1997 ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันในวันที่ 27 พ.ย.1998 และอนุสัญญามีผลบังคับใช้กับไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มี.ค.1999 ในขณะที่กัมพูชาได้ให้สัตยาบันในวันที่ 28 ก.ค.1999 และมีผลบังคับใช้กับกัมพูชาอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ม.ค.2000
กับสถานการณ์ปัจจุบัน เมื่อวันที่ 16 ก.ค.2568 เกิดเหตุทหารไทย 3 นาย ประสบเหตุเหยียบกับระเบิดขณะลาดตระเวนจากฐานปฏิบัติการมรกตไปยังเนิน 481 บริเวณช่องบก จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นพื้นที่แนวชายแดนไทย-กัมพูชา ทำให้ทหารได้รับบาดเจ็บ โดย 1 ในนั้นสูญเสียขา
เบื้องต้น พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม ได้เข้าเยี่ยมทหารที่บาดเจ็บและยืนยันว่ากองทัพไทยจะให้การดูแลทหารที่บาดเจ็บอย่างเต็มที่ พร้อมแจ้งว่าอาจเป็น "ทุ่นระเบิดเก่า" ที่หลงเหลือจากอดีตและยังไม่ได้รับการกวาดล้าง แต่ถ้าพิสูจน์ได้ว่าเป็นระเบิดใหม่ รับรองว่าจะไม่มีการหยุดนิ่ง เพราะทั้ง 2 ประเทศอยู่ในสนธิสัญญาออตตาวา การใช้ระเบิดใหม่ถือว่าผิดอนุสัญญานี้ และจะยื่นประท้วงกัมพูชาอย่างเป็นทางการ
นอกจากนี้ นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยังเรียกร้องให้กระทรวงการต่างประเทศทำหนังสือประท้วงกัมพูชาและฟ้องต่อสหประชาชาติด้วย
ทางด้าน นายสมชาย แสวงการ อดีตประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนฯ วุฒิสภา ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กอย่างชัดเจนว่า "รัฐบาลไทยอย่าเพิกเฉยกับการวางกับระเบิดของกัมพูชา หากเป็นการวางใหม่ นั่นก็เท่ากับว่ากัมพูชาละเมิดอนุสัญญาออตตาวา" และแนะนำว่าทางการไทยควรรวบรวมหลักฐาน เช่น ภาพถ่าย ตำแหน่งที่พบ รวมถึงเก็บกู้กับระเบิดเหล่านั้นไว้เป็นหลักฐานเพื่อดำเนินการทางการทูตต่อไป
พื้นที่รอการปักปันเขตแดน ที่เต็มไปด้วยระเบิด
นายสมชาย แสวงการ ยังระบุในเฟซบุ๊กอีกว่า อนุสัญญาออตตาวาไม่ได้มีหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายหรือมาตรการลงโทษโดยเฉพาะในศาลโลก แต่การละเมิดสามารถนำไปใช้เพื่อการกดดันทางการทูตได้ โดยปกติแล้ว ประเทศภาคีของสนธิสัญญาจะจัดการประชุมทุกปี ซึ่งการประชุมในปีนี้จะจัดขึ้นที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 1-5 ก.ค.
ดังนั้น หากไทยสามารถแสดงหลักฐานว่ากัมพูชาละเมิดสนธิสัญญาในการประชุมนี้ ก็จะสามารถดำเนินการทางการทูตได้ตามความเหมาะสม อย่างน้อยที่สุดคือการทำให้ที่ประชุมระบุว่ากัมพูชาเป็นประเทศที่ละเมิดสนธิสัญญาออตตาวา
เอกสาร CLEARING THE MINES 2024 เหตุการณ์ทุ่นระเบิดครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงเหตุการณ์โดดเดี่ยว แต่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชาที่เรื้อรัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน "พื้นที่รอการปักปันเขตแดน" ซึ่งมีพื้นที่ปนเปื้อนทุ่นระเบิดสูงถึง 14.3 ตารางกิโลเมตร ซึ่งคิดเป็น 2 ใน 3 ของพื้นที่ปนเปื้อนที่เหลืออยู่ในประเทศไทย
ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (TMAC) ของไทยรายงานว่ากองทัพกัมพูชาได้เข้าขัดขวางการปฏิบัติการกวาดล้างทุ่นระเบิดในพื้นที่ชายแดนถึง 5 ครั้งในปี 2023 และมีการขัดขวางเพิ่มเติมในเดือนเมษายน 2024 แม้จะมีความพยายามในการประสานงานเพื่อดำเนินการร่วมกัน เช่น โครงการนำร่องในเดือน มี.ค.-เม.ย. 2020 และการเสนอพื้นที่ 10 แห่งสำหรับการดำเนินการร่วมกันในเดือนตุลาคม 2022
แต่กัมพูชาก็ยังไม่ตกลงที่จะดำเนินการต่อจนถึงเดือน ส.ค.2024 แม้ว่าสมเด็จฮุน เซน อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา เคยให้คำมั่นว่าจะดำเนินการกวาดล้างทุ่นระเบิดชายแดนโดยไม่รอการปักปันเขตแดน
นอกจากปัญหาความร่วมมือกับไทยแล้ว กัมพูชาเองก็ยังเผชิญกับความท้าทายในการกวาดล้างทุ่นระเบิดในพื้นที่ของตนเช่นกัน แม้จะมีความคืบหน้าอย่างมากในการกวาดล้างและลดพื้นที่ปนเปื้อน แต่ในปี 2024 กัมพูชาเองก็ยอมรับว่าอาจไม่สามารถดำเนินการกวาดล้างให้เสร็จสิ้นภายในเส้นตายที่กำหนดไว้ในวันที่ 31 ธ.ค.2026 ได้ และจำเป็นต้องขอขยายเวลาเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาการเข้าถึงพื้นที่ตามแนวชายแดนกับประเทศไทย
แนวโน้มในอนาคตของอนุสัญญาออตตาวา
แม้อนุสัญญาออตตาวาจะประสบความสำเร็จอย่างโดดเด่น แต่ก็ยังคงเผชิญกับความท้าทายหลายประการ เช่น
ประเทศมหาอำนาจที่ไม่เป็นภาคี เช่น สหรัฐอเมริกา จีน และรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตและครอบครองทุ่นระเบิดรายใหญ่ ยังคงไม่ได้เป็นภาคีของสนธิสัญญา
"ทุ่นระเบิดอัจฉริยะ" การพัฒนาทุ่นระเบิดที่ล้ำหน้าทางเทคโนโลยีมากขึ้น เช่น ทุ่นระเบิด PMN-3 ของรัสเซีย หรือทุ่นระเบิด Claymore และระบบ Gator Landmine Replacement Program ของสหรัฐฯ ซึ่งถูกออกแบบมาให้ "แยกแยะ" ระหว่างพลเรือนกับทหาร หรือสามารถควบคุมจากระยะไกลได้ สิ่งเหล่านี้ท้าทายเจตนารมณ์ดั้งเดิมของอนุสัญญาที่มุ่งห้ามทุ่นระเบิดทุกชนิดที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อพลเรือนอย่างไม่เลือกปฏิบัติ
การถอนตัวจากอนุสัญญา ในปี 2025 ประเทศในยุโรปหลายประเทศ เช่น โปแลนด์ ลิทัวเนีย ลัตเวีย เอสโตเนีย และฟินแลนด์ ได้เริ่มกระบวนการถอนตัวจากสนธิสัญญาออตตาวาอย่างเป็นทางการ โดยอ้างถึงข้อกังวลด้านความมั่นคงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งรัสเซียซึ่งไม่ได้เป็นภาคี ได้ใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคลอย่างกว้างขวางในยูเครน ยูเครนเองซึ่งเป็นประเทศภาคีก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีการใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล และ ปธน.โวโลดีเมียร์ เซเลนสกี ได้ลงนามในกฤษฎีกาเสนอให้ยูเครนถอนตัวจากสนธิสัญญาด้วย
แหล่งที่มาข้อมูล : United Nations Office for Disarmament Affairs, All Mine: The United States and the Ottawa Treaty, Thailand Clearing the Mines 2024, Undermining the Mine Ban Treaty, Ending the landmine era
อ่านข่าวอื่น :
ศบ.ทก.ยืนยัน ไทยไม่เพิกเฉย หากตรวจสอบพบ "กัมพูชา" วางทุ่นระเบิดใหม่