วิกฤติน้ำโขง MRC จ่อประสานไทย-ลาว-เมียนมา ประชุมด่วน 21 ก.ค. สารหนูเกินเกณฑ์
สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission : MRC) เปิดเผยผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำล่าสุดที่สร้างความกังวลอย่างมาก โดยพบการปนเปื้อนของสารหนูในระดับที่เกินมาตรฐานในพื้นที่บางส่วนของแม่น้ำกก และแม่น้ำโขงตอนบน ซึ่งครอบคลุมจุดเก็บตัวอย่างใน สปป. ลาว บริเวณใกล้ชายแดนเมียนมาและไทย
จากการสุ่มเก็บตัวอย่างน้ำ 5 จุด พบว่ามี 4 จุดที่มีระดับสารหนูสูงเกินค่ามาตรฐานสากลที่กำหนดไว้ที่ 0.01 มิลลิกรัมต่อลิตร โดยพื้นที่ที่พบว่ามีสารหนูเกินค่ามาตรฐานนั้น อยู่ระหว่างจุด C2 ถึง C5 ขณะที่จุดต้นน้ำบริเวณห้วยขี้เหล็ก (Houa Khong) และจุด C1 รวมถึงปลายน้ำที่หลวงพระบาง กลับมีค่าที่อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย ซึ่งชี้ให้เห็นว่าแหล่งกำเนิดของการปนเปื้อนน่าจะอยู่ระหว่างจุด C1 ถึง C5
ทั้งนี้ ผลการตรวจสอบดังกล่าวยังยืนยันว่าไม่มีการพบสารตะกั่วในแม่น้ำโขงฝั่ง สปป. ลาว ซึ่งแตกต่างจากข้อมูลที่เคยได้รับจากการตรวจสอบในแม่น้ำกกฝั่งไทยก่อนหน้านี้ที่พบการปนเปื้อนของสารตะกั่ว
สำนักงานเลขาธิการ MRC ได้เปรียบเทียบข้อมูลกับผลวิเคราะห์ของกรมควบคุมมลพิษแห่งประเทศไทยซึ่งดำเนินการเมื่อเดือนพฤษภาคม 2568 พบว่าระดับสารหนูในแม่น้ำโขงยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงกันที่ประมาณ 0.025 มิลลิกรัมต่อลิตร นอกจากนี้ ยังมีการตรวจพบสารหนุในพื้นที่ตามแนวพรมแดนลาว–เมียนมา ซึ่งเป็นไปได้ว่าต้นตอของปัญหาอาจมาจากแหล่งที่อยู่เหนือเขตแดน
จากข้อมูลและหลักฐานทั้งหมด สถานการณ์นี้จึงถูกจัดให้อยู่ในระดับ “ค่อนข้างรุนแรง” ตามเกณฑ์ของคู่มือแนวทางการจัดการภาวะฉุกเฉินด้านคุณภาพน้ำของ MRC และสำนักงานเลขาธิการฯ ได้ดำเนินการแจ้งเตือนประเทศสมาชิกที่อาจได้รับผลกระทบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
เพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว MRC ได้เริ่มต้นกระบวนการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรน้ำจากทั้งสามประเทศ ได้แก่ สปป. ลาว เมียนมา และประเทศไทย โดยมีการจัดประชุมหลายครั้งเพื่อพัฒนาแนวทางความร่วมมือในการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำร่วมกันอย่างเป็นระบบและยั่งยืน
โดยมีกำหนดการจัดประชุมและการลงพื้นที่จริงในวันที่ 21 กรกฎาคม 2568 ที่จังหวัดเชียงราย ประเทศไทย การประชุมครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างภาคีทั้งสามประเทศ วางแนวทางการดำเนินงานในระยะยาว และผลักดันข้อเสนอด้านวิชาการและเทคนิคให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยมีสำนักงานเลขาธิการ MRC ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานกลาง
MRC ย้ำจุดยืนขององค์กรที่มุ่งส่งเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาค การแบ่งปันข้อมูล และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำข้ามพรมแดนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาความมั่นคงทางน้ำและสิ่งแวดล้อมให้แก่ลุ่มน้ำโขงในระยะยาว
ที่มา : MRC