เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสตอน 28 สนามรบสู่สนามการค้า: เส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจเวียดนาม
ประเทศไทยต้องเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสตอนที่ 28 จากสนามรบสู่สนามการค้า: เส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจเวียดนาม
เวียดนามเป็นประเทศที่น่าจับตามองที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยบทบาทที่เปลี่ยนผ่านจากอดีตประเทศคอมมิวนิสต์ในยุคสงครามเย็น มาสู่ประเทศเศรษฐกิจเปิดที่เติบโตเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาค พัฒนาการนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากโชคชะตา หากแต่เป็นผลลัพธ์ของการบริหารที่สมดุลระหว่างอุดมการณ์การเมือง ระบบตลาด และพลวัตทางภูมิรัฐศาสตร์
จากอุดมการณ์คอมมิวนิสต์สู่การรวมชาติ โดยนับว่าการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนโดยโฮจิมินห์ ในปี 2473 (ค.ศ. 1930) เป็นหมุดหมายแรกของการปลดปล่อยเวียดนามจากลัทธิล่าอาณานิคม ซึ่งแนวความคิดสังคมนิยมถูกนำมาใช้เป็นรากฐานการจัดระเบียบเศรษฐกิจภาคเหนือระหว่างสงครามกับฝรั่งเศส และถูกขยายสู่ภาคใต้เมื่อเวียดนามรวมชาติในปี 2518
แต่แนวทางเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์กลับทำให้ประเทศเผชิญวิกฤตซ้ำซาก อัตราเงินเฟ้อสูง การผลิตต่ำ และขาดแคลนในวงกว้าง
จุดเปลี่ยนที่เกิดจากภายในผ่านแนวคิดปฏิรูปโด๋ยเม้ย (Đổi Mới) ในปี 2529 คือจุดพลิกผันครั้งใหญ่ เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามประกาศนโยบายโด๋ยเม้ย หรือ การเปลี่ยนแปลงใหม่ ซึ่งเปลี่ยนเวียดนามจากเศรษฐกิจแบบวางแผนกลางไปสู่เศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม (Socialist-Oriented Market Economy) โดยยังคงบทบาทนำของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม
การเปิดเสรีนี้ รวมถึงการอนุญาตให้ภาคเอกชนดำเนินธุรกิจ การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) และการยกเลิกราคาสินค้าแบบควบคุม นำไปสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เห็นผลในเวลาอันสั้น โดยเฉพาะในภาคการเกษตร การผลิต และการค้าต่างประเทศ
ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา กล่าวได้ว่าเวียดนามได้เปลี่ยนผ่านสู่ยุคใหม่ โดยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 6–7% ต่อปี และมี GDP มูลค่ากว่า 400 พันล้านดอลลาร์ (2023) ถือเป็นหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนาที่ฟื้นตัวได้รวดเร็วที่สุด
ภาคการผลิตโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ และอาหารแปรรูป เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะที่บริษัทข้ามชาติ เช่น Samsung, Intel, LG และ Nike ต่างย้ายฐานการผลิตมายังเวียดนามเพื่อกระจายความเสี่ยงจากจีน ภายใต้ยุทธศาสตร์ China+1
อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจของเวียดนามจะเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง แต่ประเทศยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายเชิงโครงสร้างหลายประการ ทั้งความเหลื่อมล้ำระหว่างเขตเมืองกับชนบทที่ยังปรากฏชัด การขาดแคลนแรงงานทักษะสูงที่จำเป็นต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปัญหาสิ่งแวดล้อมและพลังงานที่มาพร้อมกับการพัฒนาอุตสาหกรรม และความเปราะบางต่อภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน รวมถึงความตึงเครียดทางการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจ
ในขณะเดียวกัน เวียดนามก็กำลังเร่งลงทุนในด้านเศรษฐกิจดิจิทัล พลังงานสะอาด และโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ โดยมีเป้าหมายชัดเจนที่จะก้าวขึ้นเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงภายในปี 2578 อย่างยั่งยืน
ประเด็นร้อนแรงอีกเรื่องในปัจจุบันของเวียดนามในสมรภูมิภูมิรัฐศาสตร์ คือ จะมีบทบาทอย่างไรระหว่างสองขั้วอำนาจของโลก คือ สหรัฐ และจีน
ในส่วนของความสัมพันธ์กับสหรัฐนั้น กลาวได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง จากคู่สงครามสู่พันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ โดยความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามกับสหรัฐ เปลี่ยนแปลงอย่างมากในรอบ 30 ปี โดยในปี 2566 ทั้งสองประเทศยกระดับสู่ หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม (Comprehensive Strategic Partnership) ปัจจุบันสหรัฐ เป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของเวียดนาม ทั้งในด้านอิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้า และเฟอร์นิเจอร์
อย่างไรก็ตาม เวียดนามยังต้องจัดการแรงกดดันจากข้อเรียกร้องด้านสิทธิมนุษยชน การเคลื่อนไหวแรงงาน และการปฏิบัติตามมาตรฐานแหล่งกำเนิดสินค้า
ในด้านความสัมพันธ์กับจีนนั้น กลับเป็นไปอย่างมิตรที่ต้องระมัดระวังตัวอย่างยิ่ง กล่าวคือ จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับหนึ่งของเวียดนาม ในแง่ของวัตถุดิบและเทคโนโลยี แต่ความสัมพันธ์มีความเปราะบางจากข้อพิพาททางทะเลในทะเลจีนใต้ ซึ่งเวียดนามต้องเดินเกมอย่างระมัดระวัง ทั้งเพื่อรักษาความมั่นคง และไม่ยอมสูญเสียอธิปไตยทางเศรษฐกิจ
สำหรับความสัมพันธ์กับภูมิภาคอาเซียน กล่าวได้ว่าเวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมืองแข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาค โดยในด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับภูมิภาคนี้ เวียดนามมีบทบาทสำคัญในอาเซียนทั้งในกรอบ RCEP, CPTPP และ AFTA ซึ่งช่วยให้เข้าถึงตลาดในเอเชียและแปซิฟิกได้อย่างลึกซึ้ง ขณะเดียวกันเวียดนามยังใช้เวทีนี้ในการสร้างความร่วมมือด้านพลังงานสะอาด ความมั่นคงทางไซเบอร์ และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
บทสรุปของนโยบายความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศของเวียดนามนับได้ว่าเป็นศิลปะแห่งการทรงตัวอย่างแท้จริง เนื่องจากเวียดนามได้แสดงให้เห็นว่าประเทศสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงโดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงรากฐานทางการเมือง ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์นั้น แม้จะขัดแย้งในเชิงทฤษฎี แต่กลับทำให้เวียดนามสร้าง สมดุล ได้อย่างน่าทึ่ง ทั้งในด้านเศรษฐกิจ ภายในประเทศ และเวทีระหว่างประเทศ
หากเวียดนามสามารถรักษาจุดยืนนี้ต่อไปได้อย่างชาญฉลาด ย่อมมีแนวโน้มสูงที่จะก้าวขึ้นเป็น หนึ่งในผู้นำเศรษฐกิจหลักของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ในอนาคตอันใกล้
บทความโดย: ธนกร สังขรัตน์ กรรมการผู้จัดการ Fabulous Pillar Co., Ltd. (Myanmar)
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสตอน 27 'ไต้หวัน' ก้าวข้ามจากผู้ผลิตสู่ผู้สร้างแบรนด์
- เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสตอน 26 ไต้หวัน จาก OEM สู่ ODM
- เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสตอน 25 ไต้หวัน พัฒนา OEM สู่ศูนย์กลางการผลิตระดับโลก
ติดตามเราได้ที่
- เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
- Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
- X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsight
- Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
- Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg