ค่าเงินบาท และตลาดหุ้นไทย (สัปดาห์ที่ 21-25 ก.ค. 68)
สรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท
• เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 3 ปี 5 เดือน แต่พลิกกลับมาอ่อนค่าท้ายสัปดาห์ ทั้งนี้เงินบาทแข็งค่าขึ้นโดยได้รับแรงหนุนจากราคาทองคำในตลาดโลกที่ปรับตัวกลับขึ้นไปยืนเหนือแนว 3,400 ดอลลาร์ฯ ต่อออนซ์อีกครั้งในระหว่างสัปดาห์ ประกอบกับสกุลเงินเอเชียส่วนใหญ่ขยับแข็งค่าขึ้น สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่ขาดปัจจัยใหม่ ๆ มาหนุน เนื่องจากตลาดกลับมารอติดตามสถานการณ์การเจรจาการค้าของสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้าก่อนเส้นตาย 1 ส.ค. นี้ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ น่าจะมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากความกังวลเกี่ยวกับความเป็นอิสระของเฟด หลังจากที่ยังคงมีคำกล่าววิจารณ์การทำงานของประธานเฟดอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 3 ปี 5 เดือนที่ 32.11 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนจะกลับมาอ่อนค่าลงช่วงท้ายสัปดาห์ตามทิศทางราคาทองคำตลาดโลกที่ปรับตัวลง (ท่ามกลางความหวังว่าการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับหลาย ๆ คู่ค้ามีแนวโน้มจะได้ข้อสรุป) ประกอบกับตลาดยังรอติดตามสถานการณ์ระหว่างไทย-กัมพูชาอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ยังมีปัจจัยบวกจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าที่คาดด้วยเช่นกัน
• สัปดาห์ระหว่างวันที่ 28 ก.ค. – 1 ส.ค. 2568 KBank คาดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.00-32.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการเจรจาการค้าของสหรัฐฯ กับไทย ผลการประชุม FOMC (29-30 ก.ค.) และ BOJ (30-31 ก.ค.) ฟันด์โฟลว์ของต่างชาติ ทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก รายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือนมิ.ย. ของไทย ดัชนีราคา PCE/Core PCE เดือนมิ.ย. และข้อมูลตลาดแรงงานเดือนก.ค. ของสหรัฐฯ จีดีพีไตรมาส 2/2568 ของสหรัฐฯ และยูโรโซน และดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนก.ค. ของจีน ญี่ปุ่น อังกฤษ และยูโรโซน
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
• ดัชนีหุ้นไทยเคลื่อนไหวผันผวนตลอดสัปดาห์ แต่ยังคงปิดเหนือ 1,200 จุดได้เป็นสัปดาห์ที่สอง ทั้งนี้ดัชนีหุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบแคบ ก่อนจะร่วงลงแรงในเวลาต่อมาตามแรงขายจากกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ โดยเฉพาะในหุ้นบิ๊กแคปรายตัว อาทิ หุ้นบริษัทพลังงาน ค้าปลีก เทคโนโลยี รวมถึงแบงก์ที่เพิ่งเสร็จสิ้นการประกาศงบไตรมาส 2/2568 อย่างไรก็ดีดัชนีหุ้นไทยดีดตัวขึ้นและกลับมายืนเหนือ 1,200 จุดในช่วงกลางสัปดาห์ จากความคาดหวังเกี่ยวกับผลการเจรจาการค้าระหว่างไทยและสหรัฐฯ หลังมีรายงานข่าวว่าญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ได้บรรลุข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ แล้วและอัตราภาษีนำเข้าจะถูกปรับลงเหลือ 15% และ 19% ตามลำดับ ดัชนีหุ้นไทยย่อตัวลงอีกครั้งในเวลาต่อมา หลังสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชามีความตึงเครียดและยกระดับความรุนแรงขึ้น แต่กรอบการปรับตัวลงของตลาดหุ้นไทยยังค่อนข้างจำกัด เนื่องจากมีการประเมินว่า ประเด็นดังกล่าวน่าจะส่งผลกระทบจำกัดต่อภาพรวมเศรษฐกิจ แม้จะยังคงต้องติดตามสถานการณ์ต่อไปอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ตลาดยังกลับมารอติดตามประเด็นการเจรจาการค้าไทย-สหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด เนื่องจากใกล้เส้นตายวันที่ 1 ส.ค. 2568
• สัปดาห์ที่ 28 ก.ค. – 1 ส.ค. 2568 KSecurities คาดแนวรับที่ 1,205 และ 1,175 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,230 และ 1,255 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมเฟด (29-30 ก.ค.) การประชุม BOJ (30-31 ก.ค.) ผลประกอบการไตรมาส 2/2568 ของบจ.ไทย ผลการเจรจาการค้าระหว่างไทยและสหรัฐฯ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ดัชนี PCE/Core PCE Price Index เดือนมิ.ย. และข้อมูลตลาดแรงงานเดือนก.ค. ของสหรัฐฯ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2568 ของสหรัฐฯ และโรโซน ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนก.ค. ของสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น ยูโรโซน และอังกฤษ