5กม.นิรโทษกรรมค้างเติ่ง
สภาเปิดฉากถกร่าง กม.นิรโทษกรรม 5 ฉบับรวด "ภูมิใจไทย" ปิดประตูไม่หนุนนิรโทษฯ 112 ด้าน “ปชป.” เขี่ยทิ้งนิรโทษกรรมสุดซอยของแสลง ขณะที่ “อดิศร” ชวนทำบุญใหญ่การเมืองปล่อยเยาวชน ด้าน "ปชน." ขอมือ พท.ช่วยปลดทุ่นระเบิดคลี่คลายความขัดแย้ง “หัวหน้าเท้ง” วัดความจริงใจล่มหัวจมท้ายดันผ่านชั้นรับหลักการทุกร่าง และได้ไปต่อก๊อกสองถกใน กมธ. "คปท." ดักทางอย่าสอดไส้ปล่อยทักษิณ-ยิ่งลักษณ์
เมื่อวันพุธ เวลา 13.00 น. มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม เข้าสู่การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สร้างเสริมสังคมสันติสุข และร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งมี สส.และภาคประชาชนเสนอรวม 5 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ….. เสนอโดยนายวิชัย สุดสวาสดิ์ สส.ชุมพร พรรครวมไทยสร้างชาติ, ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ….. เสนอโดยนายปรีดา บุญเพลิง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคกล้าธรรม, ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ….. เสนอโดยพรรคประชาชน, ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ….. เสนอโดย น.ส.พูนสุข พูนสุขเจริญ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 36,723 คน
และร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ….. เสนอโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นฉบับที่เสนอเข้ามาใหม่ และยังไม่ได้บรรจุในระเบียบวาระ แต่ประธานในที่ประชุมอนุญาตให้นำมาพิจารณาในคราวเดียวกันได้
จากนั้นเป็นการอภิปรายเสนอในแต่ละร่าง โดยนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวว่า การนิรโทษกรรมจำเป็นต้องเปิดกว้างให้มากที่สุด และไม่ต้องการเลือกปฏิบัติ ดังนั้นในร่างกฎหมายของพรรคประชาชนจึงไม่ได้กำหนดฐานความผิดหรือคดีตามมาตราใด ขณะที่ช่วงเวลาไม่ได้กำหนดเวลาสิ้นสุด เพราะที่ผ่านมามีการใช้นิติสงครามเล่นงานประชาชนที่เห็นต่างทางการเมือง และใช้เครื่องมือกฎหมายหลายรูปแบบ ตั้งแต่ที่รุนแรงที่สุดคือประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
“หลายฝ่ายพยายามบอกว่าหากรวมมาตรา 112 จะไม่โหวตให้ ผมมองว่าหากติดกรอบแบบนี้ สังคมจะคลี่คลายความขัดแย้งได้จริงหรือไม่ ผมขอให้ทบทวน เพราะเชื่อว่าจะเป็นทางออกให้สังคมไทย” นายรังสิมันต์กล่าว
ด้านนายภราดร ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย เสนอเนื้อหาว่า พรรคภูมิใจไทยแสดงจุดยืนว่าคนที่ละเมิดหรือทำผิดมาตรา 112 ไม่สามารถนิรโทษกรรมให้ได้ หากนิรโทษกรรมให้กลุ่มนี้อาจทำให้เกิดปัญหาใหม่ มีการชุมนุมเรียกร้องไม่จบหรือไม่ ทั้งนี้ การตั้งหลักของพรรคคือ หากนิรโทษกรรมไม่ได้ทั้งหมด ต้องมีบางส่วนที่ได้รับประโยชน์ จำเป็นต้องตัดบางส่วนจากสมการ
“เราควรต้องรอสังคมมีความพร้อมในบางกรณี อย่าทำให้บางกรณีพัวพันทำให้ทุกกรณีต้องตกขบวนไปด้วย เรามีตัวอย่างของความเจ็บปวดมาแล้ว กรณีของนิรโทษกรรมสุดซอยที่สังคมรับไม่ได้ จึงเป็นเหตุผลสังคมค่อยๆ ทำไป เพื่อที่จะให้มีผู้ได้รับอานิสงส์จากร่างฉบับนี้อย่างแท้จริง ไม่ใช่ดันเข้าไป ถึงเวลาไม่ได้รับการนิรโทษกรรมสักคนเดียว แบบนี้ไม่เกิดประโยชน์” นายภราดรระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสาระสำคัญของกลุ่มร่างกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมทางการเมืองนั้น พบว่า เนื้อหามีความคล้ายกันคือ การนิรโทษกรรมทางการเมืองโดยให้มีกรรมการกลางขึ้นมาพิจารณาบุคคลที่เข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรม สำหรับคดีที่จะได้รับการนิรโทษกรรมนั้นมีความต่างและแยกเป็น 2 ฝั่งคือ ฉบับที่เสนอโดยพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคกล้าธรรม พรรคภูมิใจไทย ได้กำหนดรายละเอียดที่ชัดเจนคือ ไม่นิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 แต่นิรโทษกรรมข้อหากบฏ ตามมาตรา 113 ขณะที่ฉบับของพรรคประชาชนและฉบับที่เสนอโดยภาคประชาชน รวมการนิรโทษกรรมคดี 112 ไว้ด้วย
จากนั้น เวลา 14.40 น. เปิดให้สมาชิกอภิปรายแสดงความคิดเห็นถึงร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 5 ฉบับ โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อภิปรายว่า ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมการกระทำความผิดตามมาตรา 110 และมาตรา 112 และไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมการกระทำความผิดในคดีทุจริตและประพฤติไม่ชอบ รวมถึงการนิรโทษกรรมในคดีอาญาร้ายแรง เช่น การฆ่าคนตายโดยเจตนา
“ในปี 2556 รู้จักกันดีว่าเป็น พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย ฉะนั้นการนิรโทษกรรมในคดีทุจริตประพฤติมิชอบจึงกลายเป็นของแสลงสำหรับสังคมไทย และถือเป็นอุทาหรณ์สำคัญที่สะท้อนว่าประเทศไทยไม่ต้องการเห็นการนิรโทษกรรมการกระทำความผิดจากการทุจริตคอร์รัปชัน” นายจุรินทร์ระบุ
เวลา 15.20 น. นายอดิศร เพียงเกษ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) อภิปรายว่า การนิรโทษกรรมเป็นเรื่องง่ายๆ การให้อภัยเป็นเรื่องง่าย แต่ทำไมต้องทำเป็นเรื่องยาก คิดไม่เหมือนกันก็อภัยทานกัน พรรคเพื่อไทยเองก็เห็นว่าคุณประโยชน์จากการนิรโทษกรรมครั้งนี้จะมหาศาล จึงขอเรียกร้อง อยากให้บ้านเมืองนี้ไปได้จริงๆ อย่าคิดเล็กคิดน้อย บ้านเมืองไม่สามัคคี จะไปพัฒนาภายนอกได้อย่างไร บุคลากรสำคัญที่สุด ลูกหลานคิดต่างแล้วติดคุก ถ้าเป็นลูกของคุณบ้างจะอยู่อย่างไร นายกรัฐมนตรีหรือผู้มีอำนาจจะมีความสุขได้อย่างไรหากลูกหลานคิดต่างแล้วติดคุกโดยไม่ได้รับการอภัยโทษ
“วันนี้เรามาทำบุญแบบยิ่งใหญ่กันดีไหมครับ ทำบุญทางการเมือง ให้ลูกหลานหรือคนที่เห็นต่างกันได้มีอิสรภาพ เพื่อมาพัฒนาชาติบ้านเมือง” นายอดิศรกล่าว
นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) อภิปรายสนับสนุนว่า เข้าใจดีถึงความกังวลเห็นว่ามาตรา 112 ที่อาจสร้างปัญหาใหม่ก่อให้เกิดความแตกแยกใหม่ เป็นทุ่นระเบิดที่ทำให้ความขัดแย้งไม่จบสักที จึงอยากให้สื่อสารไปถึงสมาชิก โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ตนเชื่อว่านี่คือการที่จะใช้เพื่อสร้างสังคมใหม่ร่วมกับเรา
“เรามาปลดทุ่นระเบิดนี้ด้วยกัน ด้วยการปลดปล่อยประชาชนออกจากการคุมขัง และกลไกที่กดทับ บีบคั้นความคิดทางการเมืองของพวกเขา เพื่อที่เปิดทางให้พวกเราเดินไปด้วยกัน สร้างสังคมไทยไปด้วยกัน” นายรอมฎอนกล่าวทิ้งท้าย
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า มีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคเพื่อไทยเองที่มีการเสนอมาก่อนหน้านี้ว่า วาระหลายๆ อย่างที่เขาไม่สามารถขับเคลื่อนได้เพราะมีพรรคภูมิใจไทยร่วมรัฐบาล ครั้งนี้พรรคภูมิใจไทยมาเป็นฝ่ายค้านแล้ว จึงคิดว่านอกเหนือจากวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก็เป็นอีกหนึ่งอย่างที่พรรคเพื่อไทยจะสามารถแสดงความจริงใจได้ ก็รอดู ส่วนตัวเชื่อว่ามีโอกาสมากขึ้น
“แต่ผมยืนยันว่า ไม่ว่าจะมีข้อแตกต่างหรือเห็นต่างกันอย่างไร เรายังมีพื้นที่และโอกาสในการพิจารณาความเห็นต่างกันในชั้นกรรมาธิการวาระที่สองได้ จึงไม่มีเหตุผลใดๆ เลยที่คุณจะปัดตกตั้งแต่ชั้นรับหลักการในวาระที่หนึ่ง เพราะฉะนั้น หากเราอยากจะเดินหน้าเรื่องการนิรโทษกรรม คืนความเป็นธรรมให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคดีทางการเมือง หรือการชุมนุมต่างๆ ก็ควรสร้างโอกาส สร้างบรรยากาศที่ดีในการรับหลักการวาระที่หนึ่งทุกร่างไปก่อน” นายณัฐพงษ์ระบุ
เวลา 17.00 น. ภายหลังสมาชิกได้อภิปรายวาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมทั้ง 5 ฉบับกันอย่างกว้างขวาง นายพิเชษฐ์ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในขณะนั้น ได้ให้ผู้ชี้แจงขึ้นกล่าว
น.ส.เบนจา อะปัญ ผู้ชี้แจงกล่าวว่า คนที่ติดคุกอยู่ และกำลังจะติดคุก ก็เป็นเรื่องคดีมาตรา 112 ทั้งสิ้น ดังนั้นถ้าจะสันติสุข หากไม่รวมคดีนี้เข้าไปจะสันติสุขแบบไหน จะสันติสุขเฉพาะพวกท่านหรือไม่ และถ้าบอกว่าอยากก้าวไปด้วยกัน เพื่อได้โอกาสในการเริ่มต้นใหม่ ทำไมถึงไม่ให้โอกาสคนอย่างพวกเราคนรุ่นใหม่ให้ก้าวผ่านไปด้วยกัน เหมือนกับคดีอื่นๆ ซึ่งเราก็ไม่อยากถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ไม่มีใครเปลี่ยนอดีตได้ แต่เราร่วมกันเปลี่ยนแปลงอนาคตได้ตั้งแต่วันนี้
จากนั้นนายพิเชษฐ์กล่าวว่า ยังมีเจ้าของร่างจาก 5 ร่าง เหลือ 3 ร่างที่จะกล่าวสรุป ขอให้ไปต่อในสัปดาห์หน้า และสั่งปิดการประชุมในเวลา 17.09 น.
ทั้งนี้ ภายหลังการกล่าว กลุ่มผู้ชี้แจงได้ลุกขึ้นยืนพร้อมชูสามนิ้ว โดยมีรายงานว่า สส.พรรคประชาชนบางส่วนได้ขึ้นไปให้กำลังใจด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กรุงเทพมหานคร พรรคประชาชน รับหนังสือจากเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน โดยนายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวว่า ขอให้พรรคประชาชนในฐานะผู้นำฝ่ายค้านฯ ช่วยสนับสนุนให้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่จะพิจารณาในวันนี้ผ่านพ้นไปได้ แม้จะต้องทำ 2-3 ขยักก็ต้องทำ ทุกฝ่ายควรที่จะได้รับพิจารณา และได้รับอานิสงส์จากกฎหมายนิรโทษกรรม ไม่ว่าจะชื่ออะไรก็แล้วแต่ ขอให้เริ่มต้นใหม่เพื่อให้ประเทศเจริญก้าวหน้า
ด้านกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) และกองทัพธรรม นำโดยนายพิชิต ไชยมงคล แกนนำ คปท. ยื่นหนังสือคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยระบุว่า สิ่งที่ทำให้เกิดความกังวลคือความพยายามนำความผิดที่ไม่เกี่ยวข้องทางการเมืองมาแฝงเข้าไปในการนิรโทษกรรมครั้งนี้ โดยเฉพาะมาตรา 112 และการทุจริตคอร์รัปชัน รวมถึงความผิดในทางอาญาที่มีผลต่อชีวิต หากมีการสอดไส้นิรโทษกรรมให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนายทักษิณ ผู้ชุมนุมก็จะต่อต้านให้ถึงที่สุด.