ไม่ไหวอย่าฝืน! "คิงเพาเวอร์" เตรียมปิด 3 ดิวตี้ฟรีในเมือง! รีเซตโมเดลธุรกิจสู้ศึกวิกฤติค้าปลีก
ใครเล่าจะรู้! ภายใต้แรงกดดันจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปหลัง โควิด-19 ต้นทุนที่สูงขึ้น พร้อมแรงสะเทือนจากโครงสร้างการบริหารพื้นที่ในเมือง "คิงเพาเวอร์" ยักษ์ใหญ่ธุรกิจดิวตี้ฟรีของไทย เตรียมปิด "ดิวตี้ฟรีในเมือง" 3 สาขา ได้แก่ ศรีวารี, พัทยา และมหานคร ภายในเดือนกันยายน 2568 เพื่อลดต้นทุน และวางแผนหาโมเดลธุรกิจใหม่ให้เหมาะกับพื้นที่ดังกล่าวในอนาคต
ขณะเดียวกัน "คิงเพาเวอร์" เดินหน้าปรับองค์กรครั้งใหญ่ เปิดโอกาสให้พนักงานทุกสาขาลาออกโดยสมัครใจ พร้อมโยกย้ายทีมงานจากสาขาที่ปิด มายังสาขาหลักที่ยังดำเนินธุรกิจต่อ ทั้งรางน้ำ, วันแบงค็อก และภูเก็ต
ในอีกด้านหนึ่ง คิงเพาเวอร์ยังต้องเผชิญแรงกดดันจากสัญญาสัมปทานกับ "บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) AOT หรือ ทอท." ที่ต้องเลื่อนจ่ายค่าตอบแทนบางส่วนพร้อมดอกเบี้ยเกือบ 9% ต่อปี ขณะรอผลศึกษาใหม่จากมหาวิทยาลัยรัฐ เพื่อกำหนดมาตรฐานใหม่ของอุตสาหกรรมดิวตี้ฟรีไทยในยุคหลังวิกฤติ
ซึ่งทาง "นิตินัย ศิริสมรรถการ" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คิงเพาเวอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด คาดหวังว่าบทสรุปที่จะเป็นมาตรฐาน ที่ ทอท. ใช้กับผู้ประกอบการทุกคนในมาตรฐานเดียวกัน
ก่อนหน้านี้ ทอท. ให้คิงเพาเวอร์ดิวตี้ฟรี สามารถแบ่งชำระส่วนต่างและเลื่อนกำหนดชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำเพียงบางส่วนออกไปอีกงวดละ 8 เดือนสำหรับงวดดังต่อไปนี้
- เดือนมิถุนายน - ตุลาคม 2568 สำหรับสัญญาอนุญาตให้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ทสภ. (ยกเว้นเฉพาะงวดเดือนมิถุนายน 2568 ให้เลื่อนออกไป 6 เดือน)
- เดือนกันยายน - ตุลาคม 2568 สำหรับสัญญาอนุญาตให้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ทดม.
- เดือนกรกฎาคม - ตุลาคม 2568 สำหรับสัญญาอนุญาตให้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) และ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.)
โดยคิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ต้องชำระดอกเบี้ยในอัตรา 8.8440% ต่อปี (คิดตาม MLR+2) ซึ่งเป็นไปตามมาตรการก่อนหน้าของค่าผลประโยชน์ตอบแทนที่ค้างชำระในแต่ละงวดให้แก่ AOT ทุกเดือน
ซึ่ง AOT ได้ดำเนินการตรวจสอบหลักประกันสัญญาของ KPD แล้วพบว่ายังครอบคลุมค่าผลประโยชน์ตอบแทนที่ KPD ขอเลื่อนชำระรวมกับค่าปรับในอัตรา 18% จากการผิดนัดชำระ
และเพื่อให้ความเชื่อมั่นต่อ AOT ในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ทอท.ขอให้ KPD นำหลักประกันสัญญามาวางเพิ่มเติม และ KPD ยืนยันจะชำระเงินที่เรียกเก็บตามสัญญาบางส่วน พร้อมชำระดอกเบี้ยในส่วนที่ชำระล่าช้าตามโครงการขยายระยะเวลาชำระเงินฯ ระหว่างที่รอผลการศึกษาและวิเคราะห์ทางเลือกในการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรให้มีความเหมาะสมกับการดำเนินงานและบริบททางเศรษฐกิจในปัจจุบัน
ทั้งหมดนี้คือช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของอาณาจักรค้าปลีกระดับชาติ ที่ไม่เพียงแต่ต้องปรับตัวให้ Lean แต่ยังต้อง "รีเซ็ต" เพื่อให้รอดในสมรภูมิใหม่ที่ไม่มีที่ยืนสำหรับใครที่ปรับตัวไม่ทัน.