สินค้าความงาม 'ชิ่งฐานผลิตจีนซบไทย' เอส แอนด์ เจ รับอานิสงส์ลูกค้าเพิ่ม
ประเทศไทยมีผู้ผลิตสินค้าความงามหรือบิวตี้จำนวนมาก เพื่อป้อนให้กับ “ท็อปแบรนด์” ของโลก รวมถึง “เอส แอนด์ เจ” เป็นอีกรายที่รับจ้างผลิตทั้ง OEM และ ODM ส่วนแบรนด์ไทยที่บริษัทผลิตให้ ดังไม่แพ้กันนั่นคือ “มิสทิน” โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ครีมกันแดด ที่ขายในประเทศจีนเป็น เบอร์ 1
ปีก่อน เอส แอนด์ เจ เผชิญยอดขายและ “กำไรสุทธิ” ลดลง หนึ่งในผลกระทบคือรายได้จากการขายในต่างประเทศ อย่าง “ตลาดยุโรป” เจอสภาวะเศรษฐกิจถดถอย จนส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท
นายธีระศักดิ์ วิกิตเษศรษฐ์ กรรมการผู้จัดการและประธานกรรมการ บริษัท เอส แอนด์ เจ อินเตอร์เนชั่นแนล เอนเตอร์ไพรส์ จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า การดำเนินธุรกิจในปี 2568 บริษัทยังตั้งเป้าหมายการเติบโตต่อเนื่อง ส่วนอัตราเท่าใด เป็นสิ่งที่เผชิญความผันผวน เนื่องจากมีปัจจัยภายนอกที่ยังต้องจับตาทั้งสงครามการค้า ภาษีทรัมป์ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก ขยายวงสู่ตะวันออกกลางที่เสี่ยงกระทบการขนส่งสินค้าเพื่อส่งออก
ส่วนค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น บริษัทมีการล็อกอัตราแลกเปลี่ยนหรือ hedge ไว้แล้ว และทำการเสนอราคาสินค้าเผื่อไว้ล่วงหน้า ประกอบกับข้อดีของบริษัทคือมีการผลิตสินค้าใหม่ทุกปีนับพันรายการ(เอสเคยู) เมื่อค่าเงินมีการเปลี่ยนแปลงแต่ละครั้งจะคำนวณและตั้งราคาใหม่ ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ส่วนสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง อาจปิดช่องแคบฮอร์มุซ แต่ที่ผ่านมาบริษัทเคยเผชิญวิกฤติทะเลแดงมากแล้ว อาจทำให้ปรับเส้นทางการขนส่งสินค้าและใช้เวลายาวนานขึ้น 2-3 สัปดาห์
ทั้งนี้ แม้สถานการณ์โลกจะผันผวน แต่จากสงครามการค้า นโยบายภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์ ส่งผลให้ลูกค้าสินค้าความงามที่มีการผลิตในประเทศจีน โยกการผลิตมายังประเทศไทยมากขึ้น และบริษัทได้รับอานิสงส์ดังกล่าวด้วย เนื่องจากการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปยังตลาดสหรัฐ เสียภาษีในอัตราต่ำกว่าผลิตในประเทศจีนส่งออกไปสหรัฐ
“เอส แอนด์ เจ มีลูกค้าแบรนด์สินค้าความงามจากทั่วโลกนับร้อย เมื่อการค้ามีปัญหาด้านการส่งออกบริษัทยังไม่ได้รับผลกระทบ แต่ที่ได้อานิสงส์คือลูกค้าที่เคยผลิตสินค้าในจีน หลบจากฐานผลิตในจีนมายังประเทศไทย และมีการย้ายกำลังผลิตมาไทยต่อเนื่อง เพราะภาษีที่ส่งออกจากไทยไปสหรัฐต่ำกว่าส่งจากจีนไปสหรัฐค่อนข้างมาก”
สำหรับการผลิตสินค้าความงามของบริษัท มีการป้อนลูกค้าทำตลาด สร้างยอดขายในประเทศ 50% และส่งออกไปต่างประเทศ 50% ตลาดสำคัญอยู่ในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ยุโรป อังกฤษ สหรัฐ
“ลูกค้าทำให้ธุรกิจเรามีการเจริญเติบโตมาตลอด ทั้งยอดขายและกำไร แม้กระทั่งเผชิญวิกฤติโควิด-19 ระบาด บริษัทก็ยังเติบโตได้”
ด้านแผนธุรกิจจากนี้ บริษัทจะขยายการผลิตสินค้าสู่กลุ่มใหม่ๆมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสินค้าดูแลภายในบ้าน(Home Care) ผลิตภัฑ์ดูแลช่องปาก(Oral Care) ผลิตภัณฑ์เพื่อสัตว์เลี้ยง(Pet Care) และน้ำหอม(Fragrance) เพื่อเป็นแหล่งรายได้ใหม่ๆต่อไป ซึ่งสินค้าจะเริ่มทยอยเห็นในปีนี้
“นอกจากพัฒนาสินค้าความงามที่มีอยู่ เราจะขยายหมวดหมู่ไปยังกลุ่มใหม่ๆ เพื่อเป็นแหล่งรายใด้ใหม่ หาจุดที่แตกต่างในแต่ละหมวดสินค้า หาจุดได้เปรียบในธุรกิจ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน มั่นคง”
สำหรับปี 2567 บริษัทมีรายได้จากการขาย 6,182 ล้านบาท ลดลง 9.5% ผลกระทบจากยอดขายกลุ่มเครื่องสำอาง และสินค้าบรรจุภัณฑ์ที่เกี่ยวกับเครื่องสำอางจากการขายในประเทศปรับตัวลดลง รวมถึงรายได้ต่างประเทศลดลงจากเศรษฐกิจถดถอยในตลาดยุโรป ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 476 ล้านบาท ลดลง 33.6% หรือ 241 ล้านบาท จากยอดขายที่ลดลง