ตร.ไม่เคยเห็น ชายชราแสดง "ใบขับขี่แปลก" คิดว่าของปลอม เฉลยอึ้ง ของแรร์ในตำนาน!
ตร.ไม่เคยเห็น คิดว่าของปลอม ชายชราวัน 72 แสดงใบขับขี่ “เขียนด้วยลายมือ” สมัยโบราณ แต่ตรวจสอบแล้วต้องยอมให้ขับต่อ เพราะยังคงมีผลทางกฎหมายอยู่จริง!
เรื่องราวน่าทึ่งของคุณตาวัย 72 ปีจากมณฑลหูหนาน ประเทศจีน กลายเป็นกระแสในโลกออนไลน์ หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจขอตรวจใบขับขี่ ซึ่งคุณตาก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แต่สิ่งที่สร้างความตกตะลึงกลับเป็น "บัตรบิ่นสีแดง" หรือใบขับขี่เขียนด้วยลายมือสมัยโบราณ
ใบขับขี่ดังกล่าวมีลักษณะเก่าแก่ ชื่อ-นามสกุลและข้อมูลต่างๆ ถูกเขียนด้วยมือบนกระดาษสีแดงที่ซีดจางตามกาลเวลา และไม่มีระบบป้องกันปลอมแปลงเหมือนใบขับขี่ปัจจุบัน ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งอึ้ง และอดไม่ได้ที่จะเกิดความสงสัยว่า… บัตรนี้เป็นของจริงหรือไม่?
อย่างไรก็ดี คุณตายังคงบอกเล่าอย่างใจเย็นว่าเขาได้รับใบขับขี่นี้ขณะรับราชการเป็นทหารในหน่วยขนส่งเมื่อหลายสิบปีก่อน และได้เก็บรักษาไว้อย่างดีจวบจนปัจจุบัน ตำรวจจึงพาตัวไปตรวจสอบที่สถานีอย่างละเอียด กระทั่งพบว่าบัตรถูกออกโดยหน่วยทหารจริง และยังคงมีผลทางกฎหมายตามระเบียบเดิม จึงไม่ได้เป็นของปลอมแต่อย่างใด
เจ้าหน้าที่จึงกล่าวขอบคุณ และอนุญาตให้คุณตาขับรถต่อได้ พร้อมกันนี้ ยังแนะนำให้คุณตาไปดำเนินการเปลี่ยนใบขับขี่เป็นแบบใหม่ เพื่อความปลอดภัยและสะดวกต่อการใช้งานในอนาคต
ขณะที่กระแสในโซเชียลฯ ชาวเน็ตจีนต่างพากันชื่นชมคุณตาในเหตุการณ์นี้ หลายคนกล่าวว่า “น่าทึ่งมากที่คุณตายังสามารถขับรถได้อย่างปลอดภัยในวัย 72 ปี” ขณะเดียวกัน หลายคนก็เห็นด้วยว่าผู้สูงวัยควรหลีกเลี่ยงการขับรถหากสุขภาพไม่เอื้ออำนวย เพราะอาจเกิดอันตรายโดยไม่คาดคิดได้
ใบขับขี่ “บิ่นแดง” สะท้อนประวัติศาสตร์การคมนาคมจีน
ใบขับขี่แบบเขียนมือที่คุณตาถืออยู่นั้น ถือเป็นสัญลักษณ์ของยุคเปลี่ยนผ่านของระบบขนส่งในจีนช่วงทศวรรษ 1980 เมื่อรถยนต์เริ่มแพร่หลายในสังคม และใบขับขี่กลายเป็นสิ่งมีค่า สะท้อนฐานะและสถานะของผู้ถือครอง
ในยุคนั้น การออกใบขับขี่มักเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐหรือกองทัพ และเอกสารส่วนใหญ่เขียนด้วยมือทั้งหมด ถือเป็นของหายากและมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ในปัจจุบัน
เรื่องราวนี้เกิดขึ้นในบริบทที่ประเทศจีนกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว รัฐบาลจึงเริ่มมีมาตรการควบคุมผู้ขับขี่วัย 70 ปีขึ้นไป เช่น จำกัดประเภทพาหนะที่ขับได้, ต้องตรวจสุขภาพประจำปี, ใบขับขี่เดิมยังใช้ได้ แต่ต้องมีเอกสารยืนยันสุขภาพเพื่อความปลอดภัย มาตรการเหล่านี้ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างสมดุลระหว่างสิทธิการเดินทางของผู้สูงอายุกับความปลอดภัยของผู้ใช้ถนนทั้งหมด
ท้ายที่สุด เหตุการณ์นี้ได้นี้สะท้อนให้เห็นทั้งความเปลี่ยนแปลงของสังคมจีนในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา และการผสมผสานระหว่าง “กฎหมาย” กับ “ความเข้าใจมนุษย์” ที่ทำให้ทุกฝ่ายสามารถเดินหน้าต่อได้อย่างปลอดภัยและมีศักดิ์ศรี