รมว.ยุติธรรม พร้อม จุฬาราชมนตรี ร่วมเปิดประชุมสัมมนาการเสริมสร้างความร่วมมือด้านชารีอะฮ์ระดับภูมิภาค ครั้งที่ 19
วันนี้ (16 กรกฎาคม 2568) พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และหัวหน้าพรรคประชาชาติ เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดงานประชุมสัมมนาการเสริมสร้างความร่วมมือด้านชารีอะฮ์ระดับภูมิภาค ครั้งที่ 19 (MUZAKARAH CENDEKIAWAN SYARIAH NUSANTARA: MUZAKARAH 2025) จัดโดย คณะวิทยาการอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศูนย์เศรษฐศาสตร์และการเงินอิสลาม ร่วมกับ สถาบันวิจัยชารีอะฮ์สากลด้านการเงินอิสลาม (ISRA) ศูนย์การศึกษานานาชาติด้านการเงินอิสลาม มหาวิทยาลัย (INCEIF) ภายใต้การกำกับของ ธนาคารกลางประเทศมาเลเซีย (Bank Negara Malaysia)
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และหัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวว่า การประชุมสัมมนาการเสริมสร้างความร่วมมือด้านชารีอะฮ์ระดับภูมิภาค ครั้งนี้ ถือเป็นเวทีสำคัญที่หลอมรวมองค์ความรู้จากทั้งบริบทของประเทศที่มีประชากรมุสลิมส่วนใหญ่และประเทศที่มุสลิมเป็นชนกลุ่มน้อย การได้พบปะแลกเปลี่ยนกันในครั้งนี้จึงมิใช่เพียงการประชุมสัมมานาวิชาการธรรมดา แต่ยังเป็นการเชื่อมโยงสายสัมพันธ์แห่งความรู้ ความร่วมมือ และความหวังร่วมกันต่ออนาคตของระบบเศรษฐกิจที่ยึดมั่นในคุณธรรมและศรัทธาในระดับสากล
ข้อมูลล่าสุดในปี 2024 ระบุว่า อุตสาหกรรมการเงินอิสลาม (Islamic Financial Services Industry – IFSI) มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราการขยายตัวถึง 14.9% ต่อปี และมีสินทรัพย์รวมถึง 3.88 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภาคธนาคารยังเป็นกลไกหลักของระบบนี้ แต่ที่น่าจับตามองคือการเติบโตของภาค ศุกูก (ตราสารทุนที่สอดคล้องกับหลักชะรีอะฮฺ) ถึง 25.6% และภาคตะกาฟุล (การประกันภัยที่สอดคล้องกับหลักชะรีอะฮฺ) ถึง 16.9% ซึ่งสะท้อนถึงพลังของภาคที่มิใช่ธนาคาร (non-bank segments) ที่มีบทบาทเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
อย่างไรก็ดี ความท้าทายสำคัญคือการที่ระบบนี้ยังเติบโตไม่สม่ำเสมอ และกระจุกตัวอยู่ในบางภูมิภาค จึงเป็นหน้าที่ของประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่และตลาดแนวหน้า ที่ต้องร่วมกันส่งเสริมการพัฒนาภาคส่วนอื่น ๆ ของการเงินอิสลามให้เติบโตอย่างสมดุล
สำหรับประเทศไทย แม้จะมิใช่ประเทศที่มีประชากรมุสลิมส่วนใหญ่ ซึ่งเรามีพี่น้องชาวไทยมุสลิมกว่า 4 ล้านคน หรือคิดเป็นประมาณ 6 % ของประชากรทั้งประเทศ ที่มีความศรัทธาและต้องการระบบการเงินที่สอดคล้องกับหลักชtรีอะฮ์ แต่เราก็มีพัฒนาการทางการเงินอิสลามอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่าสามทศวรรษ เริ่มจากการจัดตั้งสหกรณ์อิสลามแห่งแรกในปี 2527 การเปิด Islamic Window ในธนาคารพาณิชย์ในปี 2541 การจัดตั้งธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยในปี 2546 รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์การเงินต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับหลักชะรีอะฮ์ เช่น กองทุนอิสลาม ตะกาฟุล และดัชนีชะรีอะฮ์ในตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และหัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวว่า ข้อมูลล่าสุดในปี 2567 ระบุว่า มูลค่าสินทรัพย์รวมของอุตสาหกรรมการเงินอิสลามในประเทศไทยมีมากกว่า 4,358 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 5.56% ซึ่งแบ่งออกเป็น:
● ธนาคารอิสลาม: 2,709.804 ล้านดอลลาร์ (62.18%) = 88,177.02 ล้านบาท
● สหกรณ์อิสลาม: 1,222.855 ล้านดอลลาร์ (28.06%) = 39,803.93 ล้านบาท
● ตะกาฟุล: 352.562 ล้านดอลลาร์ (8.09%) = 11,475.89 ล้านบาท
● กองทุนอิสลาม: 72.779 ล้านดอลลาร์ (1.67%) = 2,368.96 ล้านบาท
ตัวเลขเหล่านี้แม้ยังมีขนาดไม่ใหญ่ในเชิงเปรียบเทียบกับระบบการเงินกระแสหลัก แต่สะท้อนถึงความต้องการ ความเชื่อมั่น และศักยภาพในการเติบโตอย่างยั่งยืน
สหกรณ์อิสลาม มีบทบาทสำคัญในการสร้างโอกาสทางการเงินให้กับประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบธนาคารหลัก และต้องการบริการทางการเงินที่สอดคล้องกับหลักศาสนา สหกรณ์อิสลามจึงเป็นทั้งเครื่องมือในการพัฒนาชุมชน เสริมสร้างคุณธรรมทางเศรษฐกิจ และเป็นฐานรากของระบบการเงินอิสลามที่เติบโตจากความต้องการของประชาชนจริง ๆ และได้ขยายการเติบโตไปสู่ทุกภูมิภาคของประเทศไทยมากกว่า 54 แห่ง
'อย่างไรก็ตาม เราต้องยอมรับว่า ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมกระแสหลักที่ยึดติดกับดอกเบี้ย อาจเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของระบบการเงินอิสลามอิสลามเนื่องจากหลักการของชะรีอะฮ์ห้ามการริบาฮ์อย่างชัดเจน จึงถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องกล้าหยิบยกหลักการของเศรษฐกิจอิสลามซึ่งตั้งอยู่บนผลประโยชน์สาธารณะที่เหนือกว่า เพื่อพัฒนาโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่มีความยั่งยืน ยุติธรรม และเอื้อต่อทุกศรัทธา' - พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และหัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าว
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และหัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในบริบทนี้การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนในพื้นที่มุสลิม ไม่อาจดำเนินไปโดยละเลยรากฐานสำคัญทางศรัทธา หากต้องการให้เกิดพลังจากภายในและความยั่งยืนจากพื้นฐานจริง ระบบเศรษฐกิจชุมชนของชาวมุสลิมควรตั้งอยู่บน สามเสาหลัก ที่สำคัญ ได้แก่:
1.ปลอดดอกเบี้ย (Riba-Free): เศรษฐกิจที่สอดคล้องกับหลักอิสลามต้องปราศจากดอกเบี้ย เนื่องจากดอกเบี้ยเป็นสิ่งต้องห้ามตามหลักศาสนา และถือเป็นรากของความเหลื่อมล้ำ การเข้าถึงแหล่งทุนที่ไม่มีดอกเบี้ยจะช่วยให้คนยากจนมีโอกาสเริ่มต้นและยืนอยู่บนขาของตนได้อย่างสง่างาม
2.ต้องฮาลาล (Halal-Based Economy): ทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องยึดหลักฮาลาล ทั้งในด้านสินค้า บริการ การผลิต และกระบวนการ เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและจริยธรรมของชุมชนมุสลิม ตลอดจนเสริมสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคทั้งในประเทศและระดับโลก
3.ระบบซะกาต (Zakat-Based Redistribution): เศรษฐกิจที่เป็นธรรมต้องมีกลไกแบ่งปันความมั่งคั่งอย่างเป็นระบบ ซะกาตไม่เพียงเป็นหน้าที่ทางศาสนา แต่เป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจในการลดความยากจน ฟื้นฟูศักดิ์ศรี และสร้างการกระจายรายได้ในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ
สิ่งสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนการเงินอิสลามมิใช่เพียงโครงสร้างหรือผลิตภัณฑ์ แต่คือ ทรัพยากรมนุษย์ ความรู้ และธรรมาภิบาล ที่ยึดโยงกับหลักชะรีอะฮ์ และนั่นคือเหตุผลที่การจัดเวทีประชุมสัมมนา
งานประชุมสัมมนาการเสริมสร้างความร่วมมือด้านชารีอะฮ์ระดับภูมิภาค ครั้งที่ 19 นี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการอภิปรายในประเด็นสำคัญร่วมสมัย อาทิ เงินสมัยใหม่ ความเสี่ยงจากการไม่ปฏิบัติตามหลักชารีอะฮ์ (Shariah Non-Compliance) ในกรณีจำเป็นและสุดวิสัย และรูปแบบการให้ความยินยอมในระบบสมัยใหม่ (Deemed Consent) ที่ล้วนมีผลกระทบต่อสถาบันการเงินอิสลามโดยตรง
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และหัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวว่า รัฐบาลไทย โดยเฉพาะกระทรวงยุติธรรม กำหนดนโยบายชัดเจนในการส่งเสริม เศรษฐกิจคุณธรรม โดยผลักดันให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่สอดคล้องกับหลักศรัทธา ลดความเหลื่อมล้ำ และขจัดอุปสรรคในการเข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรชายขอบ เช่น ผู้มีรายได้น้อย ผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่ชนบท และชุมชนมุสลิมในพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งมักถูกจำกัดโอกาสในระบบธนาคารกระแสหลัก ในหลายกรณี ความเหลื่อมล้ำทางการเงินไม่เพียงเกิดจากปัจจัยเศรษฐกิจ แต่ยังรวมถึงอุปสรรคทางวัฒนธรรม ความเชื่อ และความไม่เข้าใจต่อผลิตภัณฑ์ทางการเงินแบบดั้งเดิม ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักศาสนา ด้วยเหตุนี้ การส่งเสริมการเงินอิสลามจึงมิใช่เพียงการเปิดทางเลือกทางการเงิน แต่ยังเป็นกลไกในการคืนความเป็นธรรม สร้างความเท่าเทียม และเพิ่มพลังทางเศรษฐกิจแก่ชุมชนที่ถูกละเลย
”รัฐบาลส่งเสริมให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการเงินที่เข้าถึงได้ในระดับฐานราก เช่น การสนับสนุนสหกรณ์อิสลาม การจัดทำกองทุนส่งเสริมผู้ประกอบการฮาลาล การสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึง และการพัฒนากฎหมายที่รองรับนวัตกรรมทางการเงินตามหลักชะรีอะฮ์ โดยทั้งหมดนี้มีเป้าหมายเพื่อทำให้ระบบเศรษฐกิจเปิดกว้างสำหรับทุกคน ไม่เลือกปฏิบัติ และยึดโยงกับคุณค่าทางศาสนาและจริยธรรม“ - พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และหัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าว
“กระทรวงยุติธรรม สนับสนุนการแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชน รวมถึงพี่น้องมุสลิมอย่างครอบคลุม พร้อมทั้งพัฒนากลไกทางกฎหมายเพื่อรองรับการระงับข้อพิพาททางการเงินตามหลักชะรีอะฮ์ และส่งเสริมระบบอนุญาโตตุลาการอิสลาม เพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างธุรกรรมสมัยใหม่
ในโอกาสนี้ ข้าพเจ้าขอแสดงความชื่นชมต่อความร่วมมืออย่างแน่นแฟ้นระหว่างสถาบัน ISRA มหาวิทยาลัย INCEIF ประเทศมาเลเซีย ภายใต้การกำกับของธนาคารกลางมาเลเซีย และ ศูนย์เศรษฐศาสตร์และการเงินอิสลาม คณะวิทยาการอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่มีบทบาทสำคัญในการจัดงานครั้งนี้”
“ผมขอขอบคุณ จุฬาราชมนตรี รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารกลางมาเลเซีย คณะกรรมการชะรีอะฮ์ของสถาบันการเงินอิสลาม นักวิชาการ และผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ ที่เดินทางมาเข้าร่วมงานในวันนี้ และขอให้ผลลัพธ์จากการประชุมสัมมนาในครั้งนี้ได้นำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่สามารถขับเคลื่อนระบบการเงินอิสลามในระดับประเทศและภูมิภาคได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพครับ” - พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และหัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าว
ภายในงาน มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ระหว่าง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กับ สถาบันวิจัยชารีอะฮ์สากลด้านการเงินอิสลาม (ISRA) ศูนย์การศึกษานานาชาติด้านการเงินอิสลาม มหาวิทยาลัย INCEIF, กิจกรรมการเปิดตัวหนังสือ โดย ดาโต๊ะ ศ.ดร.มูฮัมมัด อักรอม ลาลดิน และ ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ การปฏิรูประบบการเงินอิสลามแบบบูรณาการ โดย นายอรุณ บุญชม จุฬาราชมนตรีแห่งประเทศไทย รวมทั้งการปาฐกถาพิเศษโดย Dato’ Syeikh Haji Zakaria Othman ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สำนักงานบริหารจัดการซะกาตแห่งรัฐเคดะฮ์ ประเทศมาเลเซีย
การจัดงานประชุมสัมมนาเสริมสร้างความร่วมมือด้านชารีอะฮ์ระดับภูมิภาค ครั้งที่ 19 มีวัตถุประสงค์ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และยกระดับมาตรฐานชารีอะฮ์ และพัฒนาศักยภาพของระบบเศรษฐกิจการเงินอิสลามในภูมิภาค โดยเฉพาะ ในบริบทของประเทศไทย ซึ่งมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางด้านการเงินอิสลามแห่งใหม่ในอาเซียน เป็นการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดความรู้ ของนักวิชาการด้านชารีอะฮ์ เศรษฐศาสตร์ และการเงินอิสลาม ตลอดจนผู้ปฏิบัติงานในภาคอุตสาหกรรมการเงิน จากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน สิงคโปร์ และ ฟิลิปปินส์