ศึกษาพบ ‘เสพติดหน้าจอ’ ภัยแฝงทำ ‘วัยรุ่น’ ในสหรัฐฯ เลือกจบชีวิต
× กรุณาติดต่อทีมงานเพื่อดาวน์โหลดคลิป
ซาคราเมนโต, 16 ก.ค. (ซินหัว) — บทความวิจารณ์ที่เผยแพร่โดย 74 องค์กรข่าวไม่แสวงหาผลกำไรที่รายงานข่าวด้านการศึกษาในสหรัฐฯ สะท้อนถึงผลกระทบร้ายแรงจากการเสพติดการใช้หน้าจอในกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยระบุว่าวัยรุ่นชาวอเมริกันกำลังเผชิญวิกฤตสุขภาพจิตมากขึ้น หลังพบนักเรียนมัธยมปลายสองในห้าคนเผยว่าพวกเขารู้สึกเศร้าหรือสิ้นหวังอย่างต่อเนื่อง
บทความรายงานว่าผู้ปกครองเกือบร้อยละ 60 มองว่าสุขภาพจิตของบุตรหลานตนเองอยู่ในระดับ “แย่มากหรือค่อนข้างแย่” และย้ำถึงข้อเท็จจริงที่ว่าคุณภาพของการใช้งานหน้าจอ เช่น การใช้โซเชียลมีเดียหรือโทรศัพท์แบบย้ำคิดย้ำทำ ส่งผลเสียมากกว่าระยะเวลาทั้งหมดที่ใช้บนโลกออนไลน์ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญระบุว่าพฤติกรรมเหล่านี้มีส่วนทำให้วัยรุ่นอเมริกันเครียดแบบฝังรากลึก
วิกฤตสุขภาพจิตที่ทวีความรุนแรงขึ้นนี้ได้รับการสนับสนุนจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ หลังคณะนักวิจัยได้เผยแพร่ผลการศึกษาครั้งสำคัญลงในวารสารของสมาคมการแพทย์อเมริกันเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ที่ผ่านมา หลังจากติดตามเด็กชาวอเมริกันเกือบ 4,300 คนเป็นระยะเวลาสี่ปี โดยพบว่าวัยรุ่นที่เสพติดโซเชียลมีเดีย โทรศัพท์มือถือ หรือวิดีโอเกม เสี่ยงที่จะมีพฤติกรรมฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า เมื่อเทียบกับกลุ่มเพื่อนรุ่นเดียวกันที่เสพติดโซเชียลมีเดียในระดับต่ำ
ผลการศึกษาครั้งนี้ท้าทายความเชื่อแบบเดิมเกี่ยวกับการจำกัดเวลาใช้หน้าจอ โดยพบว่าเวลาการใช้หน้าจอทั้งหมดเมื่ออายุ 10 ปีไม่ได้สัมพันธ์กับผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตายในตอนโต แต่เด็กที่มีรูปแบบการใช้แบบย้ำคิดย้ำทำ เช่น ไม่สามารถหยุดเล่นได้ รู้สึกเครียดเมื่อไม่ได้ใช้อุปกรณ์ หรือใช้หน้าจอเพื่อหลีกหนีปัญหา เสี่ยงที่จะมีพฤติกรรมดังกล่าวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
วิกฤตการณ์สุขภาพจิตนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่กรณีส่วนบุคคลเท่านั้น จากการสำรวจพฤติกรรมเสี่ยงของเยาวชนประจำปี 2023 ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ พบว่านักเรียนมัธยมปลายในสหรัฐฯ จำนวนหนึ่งในห้ามีความคิดพยายามฆ่าตัวตายอย่างจริงจัง