‘ชาญชัย’ ร้องค้านทนาย ‘ทักษิณ’ ขอศาลไต่สวนลับ คดีชั้น 14 ชี้อาจจะขัดรัฐธรรมนูญ
ศาลฎีกา ฯ ไม่รับคำร้อง ‘ชาญชัย’ ยื่นขอเปิดเผยคำเบิกความ คดีชั้น 14 หลังศาลสั่งคู่ความ – นักข่าว ห้ามจดคำให้การพยานออกเผยแพร่ต่อสาธารณะ แต่ยังให้เข้าฟังการพิจารณาคดีได้ ชี้อาจจะขัดรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะกรณีไต่สวนคดีเป็นการลับ
ต่อกรณีที่นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความนายทักษิณ ชินวัตร ได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาแล้ว 2 ครั้ง โดยขอให้ศาลฎีกาฯออกข้อกำหนดในการพิจารณาไต่สวนคดีของนายทักษิณ ชินวัตร เป็นวาระลับ ทั้งนี้ เนื่องจากมีการนำข้อเท็จจริงจากคำเบิกความพยาน ตามที่ศาลฎีกาฯได้ไต่สวนออกเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชน ในลักษณะทำต่อคำ
โดยระบุว่าการเผยแพร่ข้อเท็จจริงจากการเบิกความนั้น อาจทำให้พยานบุคคลที่ศาลเรียกจะมาไต่สวนครั้งถัดไปทราบข้อเท็จจริงที่พยานคนก่อนเบิกความไว้ และอาจทำให้ศาลไต่สวนแล้วได้ข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อนไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ รวมทั้งมีการนำคำเบิกความพยานไปวิเคราะห์ หรือ ให้ความเห็นทางคดี จนก่อให้เกิดความสับสนแก่สังคมได้ ประกอบกับข้อมูลด้านสุขภาพของจำเลยเป็นข้อมูลส่วนบุคคล
จากคำร้องดังกล่าว ศาลจึงมีคำสั่งให้คู่ความและผู้เข้าฟังการพิจารณาคดี “งดเว้นการเผยแพร่โฆษณาคำเบิกความพยานบุคคล และพยานเอกสารที่ศาลไต่สวน” และล่าสุดศาลได้มีคำสั่ง ห้ามบุคคลภายนอกที่เข้าฟังการไต่สวนจดบันทึกคำเบิกความของพยานบุคคล และพยานเอกสารที่ศาลไต่สวน เนื่องจากอาจกระทบต่อข้อมูลส่วนบุคคล
ผลจากคำร้องและคำสั่งศาลดังกล่าวข้างต้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2568 ภายหลังศาลฏีกาฯ ได้ไต่สวนพยานที่มาเบิกความในคดีหมายเลขดำที่ บค.1/2568 เสร็จเรียบร้อย นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยขอให้ศาลฯมีคำสั่งเปิดเผยคำเบิกความของพยานที่มาให้ปากคำตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 ปรากฏว่า ศาลฎีกาฯ ได้พิจารณาแล้ว เห็นว่านายชาญชัยไม่มีส่วนได้เสียกับคดี และไม่ใช่คู่ความ จึงไม่รับคำร้อง
นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ” เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2568 ผมได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาฯ เพื่อขอให้ศาลเปิดเผยคำเบิกความการไต่สวนคดีชั้น 14 ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 ซึ่งการพิจารณาคดีชั้น 14 ในครั้งนี้ ผมมองว่าเป็นการไต่สวนแบบเปิดเผยเฉพาะที่อยู่ในห้องพิจารณาคดี โดยเปิดให้สื่อมวลชน และบุคคลภายนอกเข้าฟังได้ แต่ศาลมีคำสั่งห้ามนำข้อความ และเอกสารจากการเบิกความไปเผยแพร่ภายนอก ตามที่ทนายความของนายทักษิณร้องขอต่อศาลเพราะทางทีมทนายอาจมองว่าการนำข้อเท็จจริงจากคำให้การในชั้นศาลออกไปเผยแพร่ต่อสาธารณชนนั้น อาจเป็นโทษต่อนายทักษิณ จึงขอให้ศาลพิจารณาไต่สวนคดีเป็นวาระลับ
“ความจริงคดีนี้เป็นคดีที่ประชาชนสนใจมาก หากผมเป็นนายทักษิณที่ต่อสู้คดีว่าตนเองเป็นผู้บริสุทธิ์ เจ็บป่วยจริง รักษาจริง ผมก็จะเปิดเผย โดยไม่ต้องไปบอกให้ศาลฎีกาฯปิดบังอะไรเลย แต่ถ้าเปิดเผยไปแล้ว เป็นโทษกับตนเอง ก็จำเป็นต้องขอศาล ห้ามไม่ให้ไปเปิดเผย ผมเห็นว่าเรื่องนี้อาจขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ขณะที่ศาลมองว่าข้อกำหนดที่ศาลออกมานั้น ยังไม่ขัดต่อกฎหมาย เนื่องจากศาลยังอนุญาตให้เข้าฟังได้ แต่อย่านำความเบิกความไปเผยแพร่ แบบคำต่อคำ หรือ นำคำเบิกไปวิเคราะห์ชี้นำจนทำให้สังคมเกิดความสับสน ซึ่งผมก็น้อมรับ แต่โดยหลักการแล้ว หากมีบุคคลใดละเมิดอำนาจศาล ก็ควรเรียกมาว่ากล่าวตักเตือน หรือ คาดโทษเป็นรายๆไป และถ้าเตือนแล้วไม่ฟัง ยังทำอีก ก็อาจจะพิจารณาลงโทษได้ แต่ไม่ควรลงโทษทั้งหมด และถ้าการกระทำนั้นไปละเมิดบุคคล หรือ หมิ่นประมาท ตรงนี้ผู้เสียหายก็สามารถดำเนินคดีได้ตามกฎหมาย ” นายชาญชัย กล่าว
นายชาญชัย กล่าวต่อว่า คดีนี้ฝ่ายจำเลยต่อสู้ว่าป่วยจริง และไปรักษาอาการป่วยถูกต้องตามกฎหมาย แต่ปรากฎว่าข้อมูลที่ได้จากการไต่สวน กลับไม่เป็นไปตามกฎหมายของกรมราชทัณฑ์ เช่น กฎกระทรวง กำหนดให้ต้องส่งผู้ต้องขังที่ป่วยเข้าทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ก่อน หากนายทักษิณป่วยหนักขนาดไหน ก็ต้องเข้าห้อง ICU ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ก่อน และถ้าไม่ไหว ก็ประสานโรงพยาบาลตำรวจ เพื่อส่งตัวไปรักษาต่อ แต่จากการไต่สวนพยานทุกปากต่างก็ยอมรับว่า ไม่ได้ส่งตัวเข้าโรงพยาบาลราชทัณฑ์ตามที่กฎหมายระบุไว้ แต่กรณีนี้กลับปล่อยให้ผู้ป่วยวิกฤตินอนอยู่ในห้องพยาบาลนานกว่า 2 ชั่วโมง ตรงนี้ก็เป็นประเด็นข้อสังเกตประการแรก และเมื่อส่งตัวไปรักษาอาการป่วยวิกฤติที่โรงพยาบาลตำรวจแล้ว ก็มีหลักฐานสำคัญ คือ ใบเสร็จรับเงินที่โรงพยาบาลตำรวจออกให้นายทักษิณ พบว่าช่วง 7 วันแรกที่เข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจขณะที่ป่วยวิกฤตินั้น ปรากฎว่าในใบเสร็จแทบไม่มีค่ายาเลย
“หากวันนี้ให้สื่อมวลชนเผยแพร่คำเบิกความแบบคำต่อคำได้ สาธารณชนก็จะเห็นภาพชัดเลยว่าใครพูดจริงไม่ จริง แต่ทั้งนี้ก็มีพยานหลายคนพูดเรื่องจริง ตรงไปตรงมา และหลายคนซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในเหตุการณ์ด้วยกัน แต่กลับให้ปากคำขัดแย้งกันก็มี หากผมเป็นนายทักษิณ ผมไม่ผิด ผมไม่รอมาขึ้นศาล ผมจะตั้งโต๊ะแถลง 3 วัน 7 วัน และไม่ฟ้องผู้ที่มากล่าวหาด้วย ผมพร้อมชี้แจงทุกวัน” นายชาญชัย กล่าว
ทั้งนี้ ตามคำร้องที่นายชาญชัยยื่นให้ศาลพิจารณานั้น นายชาญชัยไม่เห็นด้วยกับกรณีที่ทนายความของนายทักษิณ ชินวัตร ขอให้ศาลสั่งงดเผยแพร่คำเบิกความดังกล่าว ซึ่งอาจไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 34 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะ เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ หรือ เสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ เพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน” และมาตรา 34 วรรคสอง บัญญัติว่า “เสรีภาพทางวิชาการย้อมได้รับความคุ้มครอง แต่การใช้เสรีภาพนั้นต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทย หรือ ศีลธรรมอันดีของประชาชน และต้องเคารพ และไม่ปิดกั้นความเห็นต่างของบุคคลอื่น”
มาตรา 35 วรรคที่หนึ่งบัญญัติว่า “บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร หรือ การแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ” , วรรคที่สอง บัญญัติว่า “การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเพื่อลิดรอนเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง จะกระทำมิได้” และวรรคที่สาม บัญญัติว่า “การให้นําข่าวสารหรือข้อความใดๆ ที่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนจัดทำขึ้นไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อนนําไปโฆษณาในหนังสือพิมพ์ หรือ สื่อใด ๆ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะกระทำในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม” อีกทั้ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 31 ที่บัญญัติไว้ว่า “การพิจารณา และไต่สวนพยานหลักฐานให้กระทำโดยเปิดเผย เว้นแต่มีความจำเป็น เพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะสำคัญ กรณีนี้ให้ศาลมีคำสั่งให้พิจารณาเป็นการลับได้..” และข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2562 ข้อ 20 บัญญัติว่า “เมื่อมีการพิจารณาเป็นการลับตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 31 วรรคที่หนึ่ง บุคคลที่มีสิทธิอยู่ในห้องพิจารณาได้ คือ 1. โจทก์ 2. จำเลย ผู้ถูกกล่าวหา และผู้ควบคุมตัว 3. ทนายความ 4. พยาน ล่าม และบุคคลที่ได้รับอนุญาตจากศาล”
ดังนั้น ในกรณีที่ทนายความของจำเลยร้องขอต่อศาลตามที่กล่าวข้างต้น โดยเฉพาะขอให้ศาลสั่งพิจารณาคดีเป็นวาระลับนั้น อาจไม่ใช่เพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ และคุ้มครองประโยชน์ต่อกระบวนการยุติธรรม และประโยชน์ต่อประเทศชาติ แต่เป็นการคุ้มครองประโยชน์ของจำเลย แต่เพียงผู้เดียว ซึ่งอาจะขัดต่อประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์อื่น ๆ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 31 ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ นายชาญชัยจึงขอให้ศาลมีคำสั่งเปิดเผยคำเบิกความ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการยุติธรรม
เรื่องเล่านาทีชีวิต “ผู้ป่วยวิกฤติ” จากเรือนจำกรุงเทพฯ ถึงห้องพัก ชั้น 14 รพ. ตำรวจ
คดีชั้น 14 “ป่วยวิกฤติ” ให้ออกซิเจน-ใช้เวลา 2.20 ชม. จากเรือนจำกรุงเทพฯ ถึง รพ. ตำรวจ
ศาลฎีกาเลื่อนฟังคำสั่งคดี “กรมราชทัณฑ์” นำ “ทักษิณ” รักษาตัว รพ. ตำรวจ – ขัด ป.วิอาญา?
“ชาญชัย” เตรียมฟ้อง “ราชทัณฑ์” ปมให้ “ทักษิณ” รักษาตัว รพ.ต่อ – ขัด ป.วิอาญาฯ?