มนต์เสน่ห์เสียงเพลงของ Teresa Teng “กลางวันฟัง เติ้งผู้เฒ่า กลางคืนฟังเติ้งผู้เยาว์”
รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ
ภาพยนตร์ “Comrades, Almost a Love Story” ของผู้กำกับชาวฮ่องกง Peter Chan ออกฉายเป็นครั้งแรกในปี 1996 มีชื่อในภาษาจีนว่า Tian Mi Mi ที่เป็นหนึ่งในเพลงยอดนิยมของ Teresa Teng หรือที่คนไทยเรียก เติ้ง ลี่จวิน และเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ตลอดทั้งเรื่องของ Comrades
หนัง Comrades เป็นเรื่องราวของหนุ่มสาวผู้อพยพจากจีน 2 คน ข้ามมาทำงานในฮ่องกง แต่สุดท้ายทั้งสองคนกลายเป็นคู่รักกัน ตอนจบ ทั้งสองคนยืนอยู่หน้าร้านขายโทรทัศน์ ในเกาะแมนฮัตตัน นิวยอร์ก ที่กำลังรายงานข่าวการเพิ่งเสียชีวิตของ Teresa Teng ฉากในตอนนี้ อาจเป็นตอนเศร้าที่สุดของหนังเรื่องนี้
ที่ไหนมีคนจีน จะได้ยินเพลงเทเรซา เติ้ง
บทความของ The New Yorker เรื่อง The Melancholy Pop Idol Who Haunts China เขียนไว้ว่า นอกจากความเศร้าของตัวเอกใน Comrades แล้ว คนจีนหลายร้อยล้านคนก็เคยมีประสบการณ์กับความเศร้าโศกจากเหตุการณ์นี้มาแล้ว เมื่อเดือนพฤษภาคม 1995 Teresa Teng เสียชีวิตจากโรคหอบหืด ขณะมาพักผ่อนที่เชียงใหม่ ในเวลานั้น กล่าวได้ว่า Teresa Teng อาจเป็นนักร้องชาวจีนที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลก
หลังจากชนะการประกวดการร้องเพลงทั่วไต้หวัน เธอออกจากโรงเรียนเพื่อมาเป็นนักร้องอาชีพ โดยเซ็นสัญญาบักทึกเสียงครั้งแรกปี 1968 เวลานั้น เธอมีอายุ 15 ปี แต่มีความสามารถ ในการร้องเพลงในสไตล์ที่ไพเราะ สลับไปมาระหว่างเพลงพื้นบ้านกับเพลงสากล เมื่อไต้หวันประสบความสำเร็จจากการเป็นผู้ส่งออกความบันเทิงภาษาจีน Teresa Teng ใช้เวลา 20 ปี ทำให้เธอกลายเป็นนักร้องซุเปอร์สตาร์ในโลกของคนพูดภาษาจีน ความสามารถในการร้องเพลงหลายภาษา ทำให้เธอกลายเป็นนักร้องยอดนิยมทั่วเอเชีย
เผยแพร่อิทธิพลไปประเทศจีน
หลังจากที่ภาพยนตร์ Comrades ออกฉายมาแล้ว 19 ปีแล้ว ในที่สุด เมื่อปี 2015 ทางการจีนก็อนุญาตให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ฉายได้ในจีน เดิมนั้น ทางการจีนมองว่าเนื้อหาทำให้ศีลธรรมเสื่อม เพราะเนื้อเพลงเป็นเรื่องความปรารถนาส่วนตัวและความรัก จริงๆแล้วภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่ได้มีเนื้อหาทางการเมืองเลย ถ้า Comrades เป็นหนังการเมือง Gone With the Wind ก็คงเป็นหนังการเมืองเหมือนกัน
บทความ The New Yorker บอกว่า อิทธิพลของ Teresa Teng ในจีน ค่อนข้างมีพลังมาก จีนเป็นประเทศที่พ่อแม่ของเธอ อพยพหลบหนีการปฏิวัติ นามสกุลครอบครัวของเธอจึงใช้ร่วมกับผู้นำจีน เติ้ง เสี่ยวผิง (Deng Xiaoping) หลังจากเพลงได้รับความนิยมมากในหมู่คนจีน จึงมีคำพูดแพร่หลายทั่วไปว่า กลางวัน ทุกคนฟัง “เติ้งผู้เฒ่า” เพราะจำเป็นต้องฟัง กลางคืน ทุกคนฟัง “เติ้งผู้เยาว์” เพราะอยากจะฟัง
นักแต่งเพลงคนหนึ่งกล่าวกับ The New Yorker ว่า Teresa Teng เป็นคนรุ่นเก่า “แต่มีอะไรบางอย่าง ที่เธอแตกต่างออกไป” เธอมีความหวานน่ารัก 7 ส่วน และน้ำตาความเศร้า 3 ส่วน เป็นการเปรียบเทียบคล้ายการประเมินที่โด่งดังของทางการจีนต่อประธานเหมา เจ๋อตุง คือเหมามีสิ่งที่ถูกต้อง 7 ส่วน สิ่งที่ผิดพลาด 3 ส่วน
สิ่งสำคัญคือคุณภาพเสียงของเธอ คือ มีเนื้อร้องเท่าที่จำเป็น ร้องด้วยความเชื่อมั่น และมีน้ำเสียงที่เศร้า แฟนเพลงของเธอบอกว่า สไตล์ของเธอคือเสียงร้องนุ่มนวล ที่มีท่วงทำนองสง่างาม เธอมีความสามารถในการจับสิ่งที่เป็นแก่นแท้ของความเศร้า ที่มีอยู่ในเรื่องราวของความรัก หนึ่งในเพลงยอดนิยมของเธอ The Moon Represents My Heart สามารถสะกดจิตคนฟัง เสียงเธอจะสั่นเครืออย่างนุ่มนวล ก่อนที่จะละลายกลมกลืนไปกับทำนองเพลง จุดนี้ที่ทำให้ Teresa Teng เป็นนักร้องที่พิเศษแตกต่างออกไป ท่วงทำนองการร้องเพลงที่ทำให้คนเข้าใจในความทุกข์ของตัวเอง ที่แตกต่างจากความเศร้าโศรกทั่วไปที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน
บทความ The New Yorker กล่าวอีกว่า มีคำพูดอีกอย่างหนึ่งว่า ที่ไหนมีคนจีน ที่นั้นจะมีเสียงเพลงของ Teresa Teng สิ่งนี้ก็ไม่ยากที่จะเข้าใจว่า ทำไมเสียงเพลง Teresa Teng ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักและการพลัดพรากอยู่ห่างไกล จะเหมือนกับเป็นการพูดแทนสภาพการมีชีวิตอยู่ของผู้อพยพชาวจีน และการมีฐานะการเป็นคนต่างด้าวของคนจีนโพ้นทะเล เสียงเพลงของเธอช่วยสะกิดใจ ถึงการเดินทางจากบ้านเกิดเมืองนอน การที่คนฟังปล่อยตัวให้คิดถึงความหลังในอดีต แม้ว่าช่วงรำลึกอดีตจะแสนสั้นแค่ 3-4 นาทีก็ตาม
ความหลงไหลแฟนเพลงชาวจีน
ส่วนบทความ The New York Times เรื่องแฟนเพลงชาวจีนแผ่นดินใหญ่ของ Teresa Teng กล่าวว่า ในช่วงวันทำงาน Meng Xiaoli ทำงานวิเคราะห์งบประมาณของรัฐวิสาหกิจจีนแห่งหนึ่ง ในช่วงวันหยุด เขาจะทิ้งงานประจำมาอยู่ที่ “บ้านทางจิตใจ” คือภัตตาคารและพิพิธภัณฑ์ 2 ชั้น ทางตะวันตกของนครปักกิ่ง ที่อุทิศแก่ Teresa Teng เขาถือว่าเธอเป็นเทพธิดา และกล่าวว่า “เธอรู้ว่าความเป็นคนนั้นเป็นอย่างไร คือค้นหาความรัก และเคยทำความผิดพลาด”
Teresa Teng เสียชีวิตปี 1995 เมื่ออายุ 42 ปี เธอมีชื่อเสียงจากการเปลี่ยนเพลงพื้นเมืองของไต้หวันและจีน ให้มาเป็นเพลงสไตล์สากล เธอไม่เคยสูญเสียความนิยมในเมืองจีนเลย แม้ความขัดแย้งจีนกับไต้หวันจะปะทุขึ้นมา คนที่นิยมในตัวเธอ จะมารวมตัวกันที่ภัตตาคารดนตรี Teresa Teng ที่ประตูทางเข้าภัตตาคาร จะมีรูปขนาดใหญ่ของเธอถือดอกกุหลาบขาว ลูกค้าภัตตาคารคนหนึ่งกล่าวว่า “สไตล์การร้องเพลงของ Teresa Teng ไม่เคยล้าสมัยเลย เพลงของเธอนุ่มนวลมาก และทำให้ฉันรู้สึกอบอุ่นอย่างแท้จริง”
คนจีนจำนวนมากคิดว่า Teresa Teng เป็นคนจากแผ่นดินใหญ่ แม้เธอจะเกิดในไต้หวัน บิดาของเธอเติบโตในมณฑลเหอเป่ย ร่วมกับกองทัพก็กมินตั๋ง ที่ต่อสู้กับพวกคอมมิวนิสต์ ในช่วงสงครามกลางเมือง ต่อมาอพยพไปไต้หวันในปี 1949 ส่วน Teresa Teng เกิดในเวลา 4 ปีต่อมา
เพลงเผยแพร่เข้าจีนหลังเปิดประเทศ
หลังจากจีนเปิดประเทศปลายทศวรรษ 1970 Teresa Teng เป็นหนึ่งในนักร้องต่างประเทศคนแรกๆ ที่เพลงของเธอเผยแพร่เข้าไปในจีน แต่ทางการจีนสั่งห้ามเพลงเธออย่างรวดเร็ว เพราะต้องการรณรงค์ต่อต้าน “พิษทางจิตใจ” จากตะวันตก ทำให้เพลงของเธอต้องไปเผยแพร่ใต้ดินแทน เนื่องจากนามสกุลเขียนตรงกับผู้นำจีนในเวลานั้นคือ เติ้ง เสี่ยงผิง ทำให้คนจีนเรียกเธอว่า “เติ้งน้อย” (Little Teng) สิ่งนี้ช่วยสะท้อนว่า เธอนั้นอยู่ในจิตใจชาวจีนจำนวนมาก
บางครั้ง Teresa Teng ก็เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง เคยจัดแสดงดนตรีสนับสนุนกลุ่มผู้ประท้วง ในเหตุการณ์เทียนอันเหมินเมื่อปี 1989 เธอไม่เคยแสดงดนตรีในจีนเลย แต่ในระยะหลัง รัฐบาลจีนมีท่าทีเป็นมิตรต่อเพลงของเธอ สื่อมวลชนจีนเริ่มชื่นชมรากเหง้าที่มาจากจีนแผ่นดินใหญ่ของเธอ ปี 2011 เจ้าหน้าที่เปิดอนุสรณ์สถานรำลึก Teresa Teng ในเมืองต้าหมิน เหอเป่อ บ้านเกิดบิดาของเธอ
Zheng เจ้าของภัตตาคาร Teresa Teng Theme กล่าวกับ The New York Times ว่า เพลงของ Teresa Teng ได้รับความนิยมมากในหมู่ชาวจีน เพราะทำให้คนจีนรำลึกถึงการได้ฟังเพลงของเธอเป็นครั้งแรก หลังจากความปั่นป่วนมาหลายปีจากการปฏิวัติธรรม “สำหรับหลายคนแล้ว มันเป็นประสบการณ์ใหม่ และแตกต่างมากจากที่เคยได้ยินช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม ทุกวันนี้ เมื่อประชาชนได้ยินเพลงของเธอ ทำให้รำลึกได้ว่า ชีวิตในวัยหนุ่มสาวตัวเองเป็นอย่างไร”
5 เพลงยอดนิยมของ Teresa Teng
เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2018 ในวาระครบรอบวันเกิด 65 ปีของ Teresa Teng หนังสือพิมพ์ South China Morning Post (SCMP) ของฮ่องกง ได้คัดเลือก 5 เพลงยอดนิยมของเธอ เพื่อฉลองวาระดังกล่าว ที่ประกอบด้วย
- The Moon Represents My Heart เพลงที่คนจีนแทบทุกคนร้องได้ นักร้องไต้หวันร้องคนแรกปี 1973 ไม่โด่งดัง เมื่อเธอนำมาร้องในปี 1977 กลายเป็นเพลงฮิตทันที
- Tian Mi Mi เพลงประกอบภาพยนตร์ Comrades, Almost a Love Story (1996) ทำนองเพลงเป็นเพลงพื้นเมืองของอินโดนีเซียมาก่อน
- I Only Care About You เธอร้องเป็นครั้งแรกภาษาญี่ปุ่น ต่อมาร้องเป็นภาษาจีน
- May We Be Together Forever เนื้อเพลงมาจากบทกวีสมัยราชวงศ์ซุง “แม้เราจะอยู่ไกลกันหลายพันลี้ แต่ก็ชื่นชมพระจันทร์ดวงเดียวกัน”
- Goodbye My Love ร้องครั้งแรกภาษาญี่ปุ่น SCMP บอกว่า ทุกครั้งในการแสดงคอนเสิร์ตและร้องเพลงนี้ เธอจะร้องไห้ออกมา
บทความ The New York Times สรุปว่า Teresa Teng เป็นสัญลักษณ์ “ความเหมือนกัน”ระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับไต้หวัน ซึ่งความหมายคงจะรวมไปถึงการเป็นสัญลักษณ์ความเหมือนกันของคนจีนโพ้นทะเลทั่วโลกด้วย
เอกสารประกอบ
The Melancholy Pop Idol Who Hunts China, August 3, 2015 The New Yorker.
In the Heart of Beijing, a Taiwanese Pop Idol Makes Fans Swoon, Jan 21, 2019.