พาณิชย์ ยันสหรัฐฯไม่มีดีลตั้งฐานทัพ แลกเจรจาลดภาษีทรัมป์ พร้อมซัพพอร์ต 3 ข้อมูลทีมไทยแลนด์
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า วันที่ 15 .ค.68 นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้เชิญกระทรวงพาณิชย์ หารือเกี่ยวกับการเจรจาภาษีตอบโต้กับสหรัฐฯ โดยเฉพาะประเด็นการเปิดตลาดนำเข้าสินค้าให้สหรัฐฯ และการป้องกันสวมสิทธิ์สินค้า ซึ่งเป็นเรื่องที่สหรัฐฯให้ความสำคัญ โดยการส่งออกไทยในปีนี้ อาจได้รับผลกระทบจากภาษีของสหรัฐฯบ้าง และหากไม่ได้ตามเป้าหมาย ก็ยอมรับได้ เพราะปัญหาไม่ได้เกิดจากไทย แต่เกิดจากประเทศคู่ค้า แต่รัฐบาลก็กำลังพยายามเร่งเจรจากับสหรัฐฯ อยู่ เพื่อให้ลดภาษีให้มากที่สุด
นายฉันทวิชญ์ ตัณฑสิทธิ์ รมช.พาณิชย์ กล่าวถึงกระแสข่าวสหรัฐฯ ยื่นเงื่อนไขขอใช้พื้นที่ฐานทัพเรือพังงา เพื่อแลกดีลเจรจาลดภาษีตอบโต้ให้ต่ำกว่า 36% ว่า จากการหารือกับเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 ก.ค.68 ยืนยันว่า การเจรจาภาษีทรัมป์จะเป็นการเจรจาเฉพาะประเด็นการค้าอย่างเดียว ไม่นำเรื่องความมั่นคงมาเกี่ยวข้อง ดังนั้น เงื่อนไขที่สหรัฐฯจะมาตั้งฐานทัพที่ไทยไม่เป็นความจริง นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังได้เตรียมพร้อมของข้อมูลให้กับทีมไทย 3 ส่วน ประกอบด้วย 1.ข้อมูลสินค้า และการเปิดตลาดต่างๆ 2.การกำหนดกลยุทธ์ในการเจรจา และ3.มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ กำลังเร่งดำเนินการแก้ไขการสวมสิทธิ์ โดยเฉพาะปัญหาการใช้สัดส่วนวัตถุดิบ และส่วนประกอบในประเทศ หรือโลคอล คอนเทนท์ ซึ่งสหรัฐฯให้ความสำคัญมาก โดยขณะนี้กระทรวง กำลังประสานเอกชนเพื่อขอข้อมูล เพื่อนำมาตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้า สำหรับใช้เป็นข้อมูลประกอบการเจรจากับสหรัฐ โดยขณะนี้ได้ขอข้อมูลสัดส่วนโลคอล คอนเทนท์จากภาคอุตสาหกรรมมาครบแล้ว โดยมี 10-15 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยง เพราะใช้วัตถุดิบในประเทศน้อยกว่าจากต่างประเทศ
“สหรัฐฯได้กำหนดการใช้โลคอล คอนเทนท์ สำหรับสินค้าส่งออกไปสหรัฐฯ เป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มวัตถุดิบของไทย สหรัฐฯ และวัตถุดิบจากประเทศพันธมิตร ที่ถูกเก็บภาษีตอบโต้ต่ำกว่าไทย ภายใต้หลักเกณฑ์การคำนวณสัดส่วนมูลค่าการผลิตในประเทศ ภูมิภาค (อาร์วีซี) 2.วัตถุดิบจากจีน และ3.วัตถุดิบจากประเทศอื่น ที่ไม่อยู่ใน 2 กลุ่มแรก ซึ่งไทยต้องพิจารณาการใช้สัดส่วนวัตถุดิบอย่างละเอียด รอบคอบ เพราะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก
“ขอให้คนไทยอย่ากังวลกับการเจรจาภาษีกับสหรัฐฯ เพราะยังมีทิศทางที่จะเจรจาได้ และเป็นประโยชน์กับประเทศ แม้ว่าหลายอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบ แต่รัฐบาลจะยึดหลักประโยชน์ของประเทศและหลักควาสมดุลของการค้ากับทุกกลุ่มประเทศที่ไทยทำการค้าด้วย โดยไม่เอียงไปประเทศใดประเทศหนึ่ง โดยเฉพาะการค้ากับจีน ไทยจะไม่ผลักจีนออกจากการเป็นห่วงโซ่อุปทาน เพราะไทยกับจีนมีความสัมพันธ์การค้ามายาวนานเช่นเดียวกับสหรัฐฯ”
ส่วนกรณีที่ไทยยื่นข้อเสนอลดภาษีนำเข้าสินค้าให้สหรัฐฯเป็น 0% มาถึง 90 % ของรายการสินค้า หรือกว่า 10,000 พิกัดรายการ ถือเป็นสินค้าที่ขายกันทั่วโลก และเป็นสินค้าสินค้าที่ไทยเปิดเสรีกับประเทศอื่นอยู่แล้ว ส่วนอีก 10% เป็นสินค้าอ่อนไหว ซึ่งรัฐบาลพิจารณาอย่างรอบคอบ ให้เกิดผลกระทบต่อภาคเกษตร และอุตสาหกรรมน้อยที่สุด