ทองแดงหนุนพลังงานสะอาด UN หวั่นซัพพลายกระทบเศรษฐกิจสีเขียว
ยูเอ็นประกาศให้ทองแดงเป็น “วัตถุดิบเชิงกลยุทธ์ใหม่” สำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลสีเขียว เพื่อช่วยตอบสนองความต้องการในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ความต้องการทองแดงทั่วโลก ซึ่งเป็นแร่ธาตุสำคัญในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า กังหันลม และแผงโซลาร์เซลล์ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 40% ภายในปี 2040 ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงจากการสกัดทองแดงที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน
รายงาน Global Trade Update ขององค์การการค้าและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNCTAD) คาดการณ์ว่า จำเป็นต้องมีเหมืองทองแดงใหม่ 80 แห่ง และการลงทุน 250,000 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2030 เพื่อรองรับความต้องการ และหลีกเลี่ยงการขาดแคลนที่อาจขัดขวางการเปลี่ยนผ่านของโลกสู่พลังงานสะอาดและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล
รายงานเรียกทองแดงว่าเป็น “วัตถุดิบเชิงกลยุทธ์ใหม่” สำหรับเศรษฐกิจสีเขียวและดิจิทัล และเป็นกรณีตัวอย่างสำหรับระบบการค้าระหว่างประเทศภายใต้แรงกดดันด้านทรัพยากร ลูซ มาเรีย เด ลา โมรา ผู้อำนวยการฝ่ายการค้าและสินค้าโภคภัณฑ์ระหว่างประเทศของ UNCTAD กล่าวว่า ทองแดงไม่ใช่สินค้าโภคภัณฑ์ธรรมดาอีกต่อไป แต่คือสินทรัพย์เชิงกลยุทธ์ ซึ่งตลาดทองแดงเผยให้เห็นถึงความไม่สมดุลของอำนาจที่ยังคงครอบงำการค้าระหว่างประเทศ นั่นคือเหตุผลที่จำเป็นต้องลงทุนในการเพิ่มมูลค่าในท้องถิ่น ขยายการรีไซเคิล และขจัดอุปสรรคทางการค้าที่จำกัดโอกาส
การเพิ่มการผลิตทองแดงอาจต้องแลกด้วยต้นทุนด้านมนุษย์และสิ่งแวดล้อม
รายงาน Transition Minerals Tracker กลุ่มวิจัยและรณรงค์ระดับโลก Business and Human Rights Resource Centre (BHRRC) ระบุว่า ทองแดงมีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน 513 ครั้งในช่วงปี 2010–2024 คิดเป็นประมาณ 60% ของกรณีทั้งหมด 835 กรณีที่เกี่ยวข้องกับการทำเหมืองแร่สำหรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน
รายงานนี้ติดตามการละเมิดที่เกี่ยวข้องกับการสกัดแร่สำคัญ 8 ชนิด ได้แก่ ทองแดง บอกไซต์ โคบอลต์ ลิเทียม แมงกานีส นิกเกิล สังกะสี และแร่เหล็ก ซึ่งใช้ผลิตเทคโนโลยีอย่างแผงโซลาร์เซลล์ กังหันลม และรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นที่ต้องการมากขึ้นจากแรงผลักดันระดับโลกสู่พลังงานสะอาดและการใช้ไฟฟ้า
ต้นทุนที่ซ่อนอยู่ของการสกัดทองแดง
ด้วยแหล่งแร่ทองแดงกระจุกตัวอยู่ใน 5 ประเทศ ได้แก่ ชิลี เปรู สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DRC) ออสเตรเลีย และรัสเซีย นักวิจัยพบว่าในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ประเทศที่มีข้อกล่าวหามากที่สุด 3 ประเทศคือ เปรู (14%) ชิลี (11%) และ DRC (10%)
เฉพาะในปี 2024 เพียงปีเดียว กว่าครึ่งของข้อกล่าวหา 156 กรณีที่เกี่ยวข้องกับโครงการเหมืองแร่ มีความเชื่อมโยงกับการสกัดทองแดง ซึ่งตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้เผชิญกับภัยคุกคามต่อการดำเนินงานอย่างมีนัยสำคัญ อันเป็นผลจากความขัดแย้งกับชุมชนและความท้าทายทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ภูมิภาคอเมริกากลางและใต้ปรากฏว่าเป็นจุดร้อนของคดีทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทองแดง นักวิจัยยังพบว่า 52% ของเหมืองทองแดงที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ประสบปัญหาความเครียดทางน้ำสูง มีผลกระทบต่อการเข้าถึงน้ำและ/หรือก่อให้เกิดมลพิษ
ปีนี้ มีบริษัทเหมืองทองแดง 4 แห่งที่ดำเนินงานในแซมเบีย รวมถึงบริษัทอังกฤษ 1 แห่ง และจีน 3 แห่ง ถูกกล่าวหาว่าปล่อยของเสียพิษจากการทำเหมืองลงในลุ่มน้ำแม่น้ำคาฟู ซึ่งถือเป็นหนึ่งในภัยพิบัติสิ่งแวดล้อมครั้งร้ายแรงที่สุดของประเทศ
ข้อมูลอ้างอิง
- climatechangenews