ดับฝัน 3 รายใหม่นำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ หลังบริษัทฉีกสัญญารับจ้างเลี้ยง
นายชัยพร สีถัน กรรมการผู้จัดการ บริษัทเดลี่เอ้กส์ (ไทยแลนด์) จำกัด เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ทางบริษัทได้มีหนังสือถึงกรมปศุสัตว์ แจ้งขอนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ (PS) จำนวน 7,200 ตัว โดยว่าจ้างให้บริษัทอาร์.พี.เอ็ม.ฟาร์ม แอนด์ฟีด จำกัด เป็นผู้ดำเนินการเลี้ยงลูกไก่ไข่พ่อแม่พันธุ์อย่างต่อเนื่อง ตลอดกระบวนการผลิตเป็นลูกไก่ไข่ จนกระทั่งส่งมอบลูกไกไข่ตามกำลังการผลิต ซึ่งมีความต้องการลูกไก่ประมาณ 50,000 - 70,000 ตัว/เดือน เพื่อนำมาผลิตลูกไก่ใช้เองปีละ 720,000 ตัว ให้กับ บริษัทชัยพรฟาร์มแอนด์ฟืด (2007) จำกัด
“ล่าสุดบริษัทดังกล่าวได้ทำหนังสือแจ้งไปที่กรมปศุสัตว์ถึงการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเกี่ยวกับการจัดจ้าง รับจ้างเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ (PS) ได้แจ้งยกเลิกบันทึกข้อตกลงเรียบร้อยแล้วและมีผลตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2568 ส่วนอีก 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท รากแก้ว ฟาร์มอโกร จำกัด และ บริษัท สุวคนธ์ฟาร์ม จำกัด ยังไม่ได้มีการลงนาม MOU ซึ่งก็ไม่เป็นไรเรื่องดังกล่าวทางอธิบดีกรมปศุสัตว์ก็แนะนำให้ทำด้วยตัวเอง หากมีความพร้อม ให้ขอนำเข้าเอง เลี้ยงเอง ใช้เอง ดีกว่า อย่างไรก็ดีปัญหาพันธุ์สัตว์ที่มีปัญหาเพราะบริษัทขายพันธุ์สัตว์พ่วงอาหารสัตว์ ซึ่งมองว่าเอาเปรียบ แต่ถ้าขายพันธุ์สัตว์อย่างเดียวเกษตรกรรับได้”
แหล่งข่าวกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า เบื้องต้นกรมปศุสัตว์จะประสานงานผู้ประกอบการทั้ง 3 รายว่าจะซื้อพันธุ์สัตว์จากไหน เพื่อแก้ปัญหาเรื่องพันธุ์สัตว์ให้ก่อน โดยให้ทุกองค์กรยึดหลักการเดียวกัน กรมปศุสัตว์จะจัดสรรกับโควตา 440,000 ตัวให้ผู้ประกอบการรายใหม่อย่างไรหรือจะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม
แหล่งข่าวเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ กล่าวถึง ประเด็นเรื่องการทำ MOU ร่วมกัน ระหว่างรายใหม่ที่อยากเลี้ยงเข้ามาแต่ไม่ได้เลี้ยงเองกับอีกรายที่อยากมี PS จากที่ศึกษาปัญหาและความเห็นที่แสดงเข้ามา เรื่องของการทำ MOU น่าจะตัดออก เพราะแสดงถึงความไม่มีศักยภาพ ไม่มีความพร้อมทางด้านการผลิต และในอนาคตอาจจะมีปัญหาในด้านการตลาด เนื่องจากผู้ที่ไปว่าจ้างอาจจะไม่พร้อมแต่ผู้ที่รับจ้างผลิตไก่ออกมาแล้วไม่มีที่ไปจะต้องเอาออกมาขายข้างนอก เพราะคงจะไม่ได้ทำลายทิ้ง ปัญหาที่เกิดขึ้นในอนาคตจะกระทบต่อส่วนรวม
"ที่ผ่านมาเคยมีผู้ประกอบการ 23 รายซึ่งทุกรายมีความพร้อมและดำเนินการเลี้ยงเองยังมีปัญหาจนกระทั่งลดลงมาเหลือผู้ที่ทำได้จริงเพียง 16 ราย ดังนั้น การทำ MOU ควรจะระบุว่าจะต้องมีความพร้อมที่จะนำเข้าและเลี้ยงเองทุกขั้นตอนในระบบ เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งจะต้องมีความพร้อมในทุก ๆ ด้าน ทั้งด้านการผลิตและด้านการตลาด"
เปิดรายงานผลการดำเนินการสัมมนาระดมความคิดเห็นเรื่อง แนวทางการบริหารจัดการพันธุ์ไก่ไข่ พ.ศ. 2568
แหล่งข่าวจากบริษัทผู้นำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ กล่าวว่า เรื่องความพร้อมของผู้ประกอบการรายใหม่ เห็นว่ายังไม่มีความพร้อม เสนอให้กรมปศุสัตว์มีกฎระเบียบที่ชัดเจนเพื่อจะไม่ให้เกิดปัญหาข้างหน้า เพราะถ้ามีกรณีการขอ MOU ในอนาคตอาจจะมีปัญหาและต้องมาแก้ไขอีก ส่วนประเด็นเรื่องการจัดสรรโควตาไม่เพียงพอ ที่ผ่านมามีปัญหามาโดยตลอดผู้ประกอบการมีการลดปริมาณการผลิตทั้งหมดการย้อนกลับโควตาควรคืนให้ 16 ราย
ส่วนใหญ่ผู้มีปัญหาคือไม่มีการจองลูกไก่แต่อยากได้ทันทีและอีกกรณีหนึ่งคือได้รับลูกไก่แล้วไม่ดูแล ปัญหาเรื่องการเงินเป็นสิ่งที่สำคัญในการค้าขายเจรจาการค้า ถ้ารายใดมีปัญหาการเงินจะกระทบกับคู่ค้าทันที ในส่วนของเสนอเรื่องการนำเข้า GP เข้ามาเลี้ยงเพื่อจะได้ไม่ต้องนำเข้าพันธุ์สัตว์ทุกเดือน เนื่องจากปัจจุบันมีอุปสรรคเรื่องการระบาดของไข้หวัดนก ก็มองว่าเป็นแนวทางที่น่าสนใจ แต่อาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษาผลกระทบต่างๆ