กต.แจงทูตต่างชาติ ประท้วงกัมพูชาละเมิดอธิปไตย จี้เยียวยาทหารไทยเหยื่อทุ่นระเบิด
เมื่อวันที่ 23 ก.ค. เวลา 16.00 น. ที่ห้องนราธิป กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศได้จัดการบรรยายสรุปสถานการณ์พื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา แก่คณะทูตต่างประเทศและผู้ช่วยทูตทหารต่างประเทศประจำประเทศไทย โดยมีนางเอกสิริ ปิณฑะรุจิ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ, พล.ร.ต.สุรสันต์ คงสิริ โฆษกศูนย์เฉพาะกิจบริหารสถานการณ์บริเวณชายแดน ไทย-กัมพูชา (ศบ.ทก.), พล.อ.ศักดิ์สิทธิ์ แสงชนินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (TMAC) และ น.ส.พินทุ์สุดา ชัยนาม อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้บรรยายสรุป โดยมีประเด็นหลักเกี่ยวกับเหตุการณ์ทหารไทยสังกัดกรมทหารราบที่ 6 จำนวน 3 นาย เหยียบกับระเบิดบริเวณช่องบก จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งกองทัพบกได้ดำเนินการตรวจสอบแล้ว และพบหลักฐานที่ยืนยันว่าเป็นทุ่นระเบิดวางใหม่ ทั้งนี้ มีผู้ร่วมรับฟังการบรรยายสรุปดังกล่าวประกอบด้วยเอกอัครราชทูตและ/หรือผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศ และผู้ช่วยทูตทหารต่างประเทศประจำประเทศไทย รวม 93 คน จาก 68 ประเทศ รวมถึงผู้แทนจากสหภาพยุโรป แต่ไม่มีผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทยเข้าร่วมด้วย
ต่อมา เวลา 17.30 น. นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงว่า ภาพรวมของการบรรยายในวันนี้ เกี่ยวข้องกับกรณีกำลังพลของกองทัพบก 3 นาย ประสบเหตุเหยียบกับระเบิดจนได้รับบาดเจ็บ ขณะลาดตระเวนที่ช่องบก จ.อุบลราชธานี โดยมี 5 ประเด็นหลัก ดังนี้ 1.ฝ่ายไทยยืนยันการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวัตถุระเบิดที่พบนั้น ไม่ได้มีการใช้หรือมีอยู่ในคลังอาวุธของฝ่ายไทย แต่เป็นทุ่นระเบิดของฝ่ายกัมพูชา ที่วางใหม่ จึงถือเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง 2.รัฐบาลไทยได้ออกแถลงการณ์ประณามอย่างรุนแรงที่สุดต่อการใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ซึ่งถือเป็นการละเมิดอธิปไตย และเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักพื้นฐานที่สำคัญของกฎหมายระหว่างประเทศ ตามที่ระบุไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติ และยังเป็นการกระทำที่ละเมิดพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิต และโอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล หรืออนุสัญญาออตตาวา อย่างชัดเจน
นายนิกรเดช กล่าวอีกว่า 3.ด้วยหลักฐานทั้งหมดที่ฝ่ายความมั่นคงของไทยได้รวบรวมและตรวจสอบอย่างรอบคอบและรัดกุมแล้วนั้น กระทรวงการต่างประเทศได้มอบหนังสือประท้วงอย่างเป็นทางการแก่ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย เพื่อประท้วงกัมพูชาว่าได้ทำการละเมิดอธิปไตยของไทย ไม่ปฏิบัติตามอนุสัญญาออตตาวา รวมถึงขอให้ฝ่ายกัมพูชาตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมกับแสดงความรับผิดชอบและเยียวยาผู้เสียหาย อีกทั้งขอให้กัมพูชาเก็บกู้ทุ่นระเบิดตามที่เคยได้ตกลงกันไว้
4.กระทรวงการต่างประเทศ โดยเอกอัครราชทูตผู้แทนประจำสหประชาชาติ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ได้มีหนังสือถึงเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำการประชุมรัฐภาคีว่าด้วยการลดอาวุธ โดยการประชุมพันธอนุสัญญาว่าด้วยรัฐภาคีตามอนุสัญญาออตตาวา ซึ่งในหนังสือดังกล่าวมีเนื้อหาสอดคล้องกับการประท้วงกัมพูชา ว่าเนื่องด้วยการที่ไทยเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาที่มีความรับผิดชอบต่อประชาคมระหว่างประเทศ จึงต้องปฏิบัติตามพันธกรณี ในการรายงานเหตุการณ์การละเมิดพันธกรณีของกัมพูชาตามมาตรา 1 ของอนุสัญญา และย้ำว่าไทยต้องการใช้กลไกรัฐภาคีกับกัมพูชาดำรงไว้เพื่ออนุสัญญาออตตาวา ในฐานะรัฐภาคี โดยไทยต้องการใช้การหารือทวิภาคีกับกัมพูชา 5.ปลัดกระทรวงการต่างประเทศเน้นย้ำจุดยืนของไทยที่ยึดถือหลักปฏิบัติสากลกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎบัตรสหประชาชาติ พันธกรณีของประเทศไทย และไทยยังพร้อมพูดคุยกับฝ่ายกัมพูชาผ่านกลไกทวิภาคีที่มีอยู่เพื่อหาทางออกร่วมกัน
นายนิกรเดช กล่าวว่า สำหรับนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.การต่างประเทศ ที่อยู่ระหว่างการไปร่วมประชุมหารือแห่งการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ได้พบผู้แทนระดับสูงต่างประเทศ และจะใช้โอกาสนี้ยืนยันจุดยืนของประเทศไทยต่อประชาคมโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักการของไทยที่มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธีและเจรจาผ่านกรอบทวิภาคี และในวันนี้ นายมาริษได้พบกับรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของปากีสถาน ในฐานะประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) ประจำเดือน ก.ค.2568 และได้พบกับรัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสังคมของปานามา ซึ่งจะเป็นประธานยูเอ็นเอสซีคนต่อไปประจำเดือน ส.ค.2568 ซึ่งทั้ง 2 คนเห็นพ้องกับแนวทางการแก้ไขปัญหาของไทยว่าเราจะใช้กลไกทวิภาคี และหากมีการละเมิดอนุสัญญาออตตาวาก็จะต้องแก้ไข
ผู้สื่อข่าวถามว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อการทำงานของศูนย์ TMAC หรือไม่ นายนิกรเดช กล่าวว่า ไม่กระทบ เพราะศูนย์ TMAC ของไทยยังทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีการปฏิบัติต่อเนื่องบริเวณชายแดนฝั่งไทยมาโดยตลอด เนื่องจากเราไม่เคยมีกลไกที่มีความร่วมมือกับกัมพูชาอย่างเป็นทางการ อย่างเช่น เรื่องทุ่นระเบิดเป็นโปรเจกต์โมเดลที่ได้ทดลอง ดังนั้นตนเชื่อว่าเหตุการณ์นี้ทำให้ฝ่ายไทยเกิดความตื่นตัวมากขึ้น
เมื่อถามว่าอนุสัญญาออตตาวามีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด หากพบว่ากัมพูชาละเมิดจริง นายนิกรเดช กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศที่เป็นรัฐภาคีทำหน้าที่อย่างถี่ถ้วนสมบูรณ์มาโดยตลอดเช่นกัน และสิ่งที่เราทำวันนี้ คือ การยื่นจดหมายของฝ่ายไทยเป็นไปตามมาตรา 1 ของอนุสัญญาฯ ที่รัฐภาคีจำเป็นต้องรายงานหากพบเจอทุ่นระเบิดก็ต้องรายงานสถานการณ์ตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ประเทศไทยได้ยื่นสถิติของการมีทุ่นระเบิดในครอบครองทั้งหมด ยืนยันให้เห็นการเป็นประเทศที่มีความรับผิดชอบ ในฐานะรัฐภาคีแล้ว ยังมีความรับผิดชอบต่อประชาคมระหว่างประเทศอย่างสูงสุด
เมื่อถามว่าสถานการณ์ทางแนวชายแดนไทย-กัมพูชามีความรุนแรง และเกิดการยั่วยุบ่อยครั้ง จะทำให้กระทรวงการต่างประเทศต้องพิจารณามาตรการตอบโต้เข้มข้นกว่าการประท้วงเป็นเอกสารหรือไม่ อาทิ เรียกทูตไทยกลับมา หรือส่งทูตกัมพูชากลับประเทศ นายนิกรเดช กล่าวว่า ยังไม่ถึงขั้นนั้น ในขั้นตอนนี้ได้มีการถาม-ตอบในที่บรรยายเช่นกัน เนื่องจากเราย้ำตลอดว่าเราต้องการแก้ไขปัญหาผ่านช่องทางทวิภาคี และเอกอัครราชทูตเป็นกลไกสำคัญที่จะเปิดช่องให้มีการหารือทวิภาคี ดังนั้นฝ่ายไทยยังไม่ได้มีการพิจารณาไปถึงจุดนั้น.