ตามติดคดี ‘น้องเมย’ ผบ.ตร.อยากพูดคุยกับพ่อแม่เป็นการส่วนตัว สั่งพิจารณาวินัยคู่กรณีที่วันนี้เป็นตำรวจ
ข่าวดีสำหรับหลายๆ คน ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.การออมแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ. … หรือหวยเกษียณ ตามที่ กมธ.วิสามัญฯ ที่มี “รมช.ออฟ” เผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง เป็นประธาน กมธ. พิจารณาเสร็จแล้ว สาระสำคัญคือ ส่งเสริมการออมแก่ประชาชนในรูปแบบการซื้อหวย ผู้ซื้อสลากต้องมีอายุ 15 ปีขึ้นไป สัญชาติไทย ราคาสลากใบละ 50 บาท ออกทุกวันศุกร์ เวลา 17.00 น. แบ่งประเภทรางวัล คือรางวัลที่ 1 มี 5 รางวัล รางวัลละ 1 ล้านบาท รางวัลที่ 2 มี 10,000 รางวัล รางวัลละ 1,000 บาท ถ้าถูกเงินรางวัลจะถูกโอนเข้าบัญชีพร้อมเพย์ของผู้ซื้อ
ขณะที่เงินที่ซื้อสลากไม่ว่าจะถูกหรือไม่ถูกรางวัล จะถูกเก็บเข้าบัญชีเงินออมโดยอัตโนมัติให้พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ และจะได้คืนทุกบาท ทุกสตางค์ที่ซื้อไป เมื่ออายุครบ 60 ปี เพื่อนำไปใช้ในยามเกษียณ ส่วนคนที่อายุเกิน 60 ปี ก็ซื้อได้ โดยเก็บสะสมให้ครบ 5 ปี ถึงจะได้เงินคืน และหากเป็นกรณีเสียชีวิตเงินจะตกถึงทายาท
โครงการหวยเกษียณถือว่าประชาชนได้ 3 เด้ง คือ 1. ได้ลุ้นทุกวันศุกร์ตอน 17.00 น. ถูกล้านได้ล้านโอนทันที 2.ได้เก็บออม มีเงินล้าน ตอนอายุ 60 ปี ถ้าสะสมต่อเนื่อง 3.ได้ผลตอบแทนการลงทุน ที่กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) นำไปลงทุน เป็นผลประโยชน์เพิ่มเติมแก่ประชาชน ตั้งเป้าเปิดขายงวดแรกให้ได้ ภายในไตรมาส 4 ปีนี้
นายเผ่าภูมิ ชี้แจงว่า หวยเกษียณไม่ใช่การพนัน เพราะทุกบาท ทุกสตางค์ที่ซื้อคือ เงินออม จึงควรเปิดกว้างเรื่องฐานอายุให้มากที่สุด คนมีอายุ 15 ปี มีวุฒิภาวะตัดสินใจเข้าสู่การออมได้แล้ว และกมธ.ได้เพิ่มหลักเกณฑ์ใหม่ ออกเป็นกฎกระทรวงเปิดช่องให้ถอนเงินบางส่วนได้ก่อนอายุ 60 ปี เช่น เมื่อสะสมเงินครบถึงจำนวนหนึ่งที่เพียงพอต่อการยังชีพแล้ว เงินส่วนเกินสามารถถอนออกมาได้ สร้างความสมดุลระหว่างการออมกับความจำเป็นในการใช้เงิน ส่วนเหตุผลที่จำกัดการซื้อหวยเกษียณใบละ 50 บาท อยู่ที่ 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน เพราะไม่ต้องการให้คนรวยมากว้านซื้อ
ภายหลังจาก สส.อภิปรายครบถ้วน ที่ประชุมลงมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ ด้วยคะแนน 427 ต่อ 1 งดออกเสียง 3 ไม่ลงคะแนน 4 ถือว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่างพ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ หรือ “หวยเกษียณ”
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า วันที่ 10 ก.ย.นี้ ว่า หากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าต้องทำประชามติ 2 ครั้ง ก็หมายความว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย โดยมีสาระสำคัญที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 200 คน กระจายตามจำนวนประชากร และของพรรคประชาชน (ปชน.) ที่ค้างอยู่ในรัฐสภาก็สามารถเดินต่อไปได้เลย แค่เสียงของ สว.ต้องเห็นชอบ เป็นจำนวน 1 ใน 3 จึงจะสำเร็จได้ หากศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าต้องทำประชามติจำนวน 3 ครั้ง ก็หมายความว่าเราต้องเริ่มใหม่ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวทั้ง 2 ร่างใช้ไม่ได้ ต้องทำประชามติถามประชาชนก่อนว่าจะมีการให้แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับใหม่หรือไม่
สำหรับปัญหาเวนคืนที่เขากระโดง “บิ๊กอ้วน” นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย รักษาราชการแทนนายกฯ กล่าวว่า ไม่ได้มีความต้องการมากลั่นแกล้งบังคับขู่เข็ญเจ้าหน้าที่หรือพนักงาน เรื่องเขากระโดง เป็นเรื่องที่สนใจ ได้เรียกอธิบดีกรมที่ดินมาคุยแล้วว่าถูกผิดตนไม่ตัดสิน แต่เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายคลางแคลงใจ จึงมีหน้าที่ทำตรงนี้ให้ชัดจะได้จบไป ไม่ใช่เป็นประเด็นมาถามได้ทุกวัน และก่อนหน้านี้ทำอะไรมาก็ให้ชี้แจง
“บังซุป” ศุภชัย ใจสมุทร ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า การออกคำสั่งตรวจสอบลักษณะนี้ไม่น่าจะชอบด้วยกฎหมาย และละเมิดหลักนิติธรรมอย่างร้ายแรง เพราะอธิบดีกรมที่ดินเคยได้ใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 พิจารณาจากพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริง และความเห็นของคณะกรรมการที่กระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งอย่างรอบคอบแล้ว การตรวจสอบซ้ำโดยอ้างกระแสข่าว คิดว่าเป็นการออกคําสั่งที่ไม่ชอบ เป็นความสงสัย หรือเป็นเหตุผลทางการเมือง วันนี้ในกระทรวงมหาดไทย หลังจากที่ รมว.เข้าไปแล้ว ข้าราชการอยู่ในบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว สิ่งที่ทำอาจมีผลกระทบไปถึงการกดดันอธิบดี ตั้งรักษาการมาเปลี่ยนแปลงคำสั่ง ขอให้ มท.1 ดำเนินการเอง เพื่อให้อธิบดีที่เป็นผู้เสียหายฟ้องร้องได้ถูกตัว
กรมที่ดินออกแถลงการณ์ผ่านเอกสารประชาสัมพันธ์ ว่า การเพิกถอนที่ดินตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน สามารถทำได้กรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุด ให้เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินแปลงใดเป็นการเฉพาะโดยชัดแจ้งว่า ให้เพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินแปลงใด เลขที่เท่าใดเท่านั้น
ซึ่งกรณีเขากระโดง มีที่หลายแปลง หลายโฉนด จะเวนคืนต้องเจรจากับผู้ใช้ที่ดินแต่ละเจ้า สั่งเป็นเลขที่แปลง
เรื่องที่บาดใจหรือคาใจหลายๆ คน คือ การที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 12 จ.ปราจีนบุรี มีคำตัดสินในคดีที่นายภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือ น้องเมย อดีตนักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 เสียชีวิตอย่างปริศนา หลังจากถูกธำรงวินัย โดยรุ่นพี่เตรียมทหาร 2 นาย และศาลให้รอลงอาญา ด้วยอายุจำเลยไม่เคยได้รับโทษ การจะลงโทษจำเลยไป ก็ไม่เป็นประโยชน์ ให้จำเลยปรับปรุงตัว รับราชการ รับใช้ชาติต่อไป จะเป็นประโยชน์มากกว่า
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ประธานกรรมาธิการการทหาร กล่าวว่า เข้าใจว่าทางครอบครัวผู้เสียหายมีความพยายามจะรื้อฟื้นคดีทางอาญา กมธ.จะรวบรวมข้อมูลเอาไว้และสอบถามไปยังกระทรวงยุติธรรมว่าในกรณีนี้จะมีขั้นตอนและหลักเกณฑ์อย่างไรในการรื้อฟื้นคดี กมธ.จะรับทำเรื่องนี้ ผู้ที่กระทำยังสามารถรับราชการต่อไปได้ 1 นายเป็นทหาร 1 นายเป็นตำรวจ ก็กลัวว่าจะเป็นเยี่ยงอย่างให้เกิดพฤติกรรมและวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดในกองทัพ กรณีนี้การแก้ไขปัญหาสูงสุดคงต้องแก้ในด้านกฎหมายให้ทหารที่กระทำการทุจริตในทุกคดีและทุกกรณีขึ้นศาลอาญาทุจริต
“พรรคเพื่อไทยเคยทำแคมเปญลากทหารขึ้นศาลพลเรือน แต่ก็ถูกพรรคเพื่อไทยถูกปัดตกในวาระที่ 2 และ 3 ก็ไม่เป็นไร “สส.จอจาน” เอกราช อุดมอํานวย สส.กทม.พรรค ปชน. และ กมธ.การทหารจะรับจบในเรื่องนี้เอง ซึ่งกำลังล่ารายชื่อ ถ้าเป็นศาลอาญาทุจริตจะมีอำนาจในการสั่งให้พยานมาให้ปากคำ และส่งมอบหลักฐานที่เป็นประโยชน์มาให้ศาลพิจารณา แต่กรณีของนายภคพงศ์ ยังอยู่ในระบบกล่าวหาในศาลทหาร หากหลักฐานต่าง ๆ ถูกขัดขวาง ศาลจะพิจารณาตามหลักฐานที่มี จึงเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมเป็นปัญหาตั้งแต่แรก ยืนยันอีกครั้งว่าได้เวลาเอาทหารที่ทุจริตขึ้นศาลพลเรือน ขอรับจบแทนพรรคเพื่อไทย ได้เวลาลากทหารขึ้นศาลพลเรือน”
นายน้ำแท้ มีบุญสล้าง อดีตที่ปรึกษา กมธ.วิสามัญพิจารณา พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 หรือ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ กล่าวว่า สาระสำคัญการมี พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ก็เพื่อผลักดันให้การกระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายได้กระทำต่อพลเรือน หรือแม้กระทั่งนักเรียนเตรียมทหารกระทำต่อกันเอง หรือผู้บังคับบัญชากระทำต่อทหารเกณฑ์ พลทหารกระทำต่อพลทหารด้วยกันเอง เป็นต้น คดีเหล่านี้จะต้องขึ้นสู่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งหมด
ระหว่างนั้นบุคคลที่กระทำผิดอาจถูกพิจารณาให้ออกจากราชการไว้ก่อนไปแล้วด้วยซ้ำ และครอบครัวผู้เสียชีวิตเองก็จะได้รับการคุ้มครองจากฎหมาย ไม่ใช่ว่าทหารกระทำต่อกัน แล้วต้องเอาสำนวนคดีขึ้นศาลทหาร กรณีที่เกิดขึ้นนี้ก็ถือเป็นโอกาสให้สังคมได้ตั้งคำถามถึงความอิสระของศาลทหาร ที่ไม่ได้มีความอิสระเหมือนศาลยุติธรรม พ.ร.บ.อุ้มหาย ยังมีมาตรา 42 เอาผิดผู้บังคับบัญชา หากไม่ป้องกันหรือระงับการกระทำความผิด หรือไม่ดำเนินการหรือส่งเรื่องให้ดำเนินการสอบสวนและดำเนินคดีตามกฎหมาย ต้องระวางโทษกึ่งหนึ่งของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
“บิ๊กต่าย” พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร. กล่าวถึงกรณีที่หนึ่งในรุ่นพี่ที่ธำรงวินัยนายภคพงศ์ ตัญกาญจน์ และปัจจุบันรุ่นพี่จำเลยรับราชการตำรวจในภาคอีสาน ว่า ได้สั่งให้จเรตำรวจแห่งชาตินำข้อมูลไปประกอบการพิจารณา เนื่องจากวินัยและอาญาจะสามารถเชื่อมกันได้ในข้อเท็จจริงบางส่วน ตนขอเวลาให้จเรตำรวจแห่งชาติ (จตช.) ได้ไปพิจารณาก่อน เพราะขณะนี้คู่กรณีเป็นตำรวจตาม พ.ร.บ.ตำรวจแล้ว และคิดว่า คดีนี้พ่อแม่น้องเมยนำเรื่องสู่ศาลแพ่งได้.
"ทีมข่าวการเมือง"