ตลาดแรงงานสหรัฐยังแข็งแกร่ง จับตาการเจรจาการค้าไทย-สหรัฐ
ตลาดแรงงานสหรัฐยังแข็งแกร่ง จับตาดูการเจรจาการค้าไทย-สหรัฐ เพื่อลดอัตราภาษีตอบโต้ของสหรัฐที่เก็บกับไทยจาก 36% ให้เหลือต่ำที่สุด ขณะที่ทรัมป์เผย สหรัฐบรรลุข้อตกลงทางการค้ากับเวียดนามแล้ว โดยเรียกเก็บภาษีศุลกากรต่อสินค้านำเข้าจากเวียดนามในอัตรา 20% จากเดิมที่เรียกเก็บ 46%
ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 30 มิถุนายน-4 กรกฎาคม 2568 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (30/6) ที่ระดับ 32.53/55 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
โดยดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (27/6) ที่ระดับ 32.60/62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบสกุลเงินหลัก โดยถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐ ภายหลังมีการเปิดเผยตัวเลขการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐไตรมาส 1 ส่งสัญญาณไม่สู้ดีนัก
ส่งผลให้นักลงทุนคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยคาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนกันยายน ตุลาคม และธันวาคม จากเดิมที่คาดว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้ง
โดยในวันศุกร์ (27/6) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผย ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป (Geadline PCE) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.3% ในเดือน พ.ค. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 2.2% ในเดือน เม.ย. และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.1% สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์เช่นกัน จากระดับ 0.1% ในเดือน เม.ย.
ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.7% ในเดือน พ.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 2.6% จากระดับ 2.6% ในเดือน เม.ย. และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐาน ปรับตัวขึ้น 0.2% สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 0.1% จากระดับ 0.1% ในเดือน เม.ย.
อีกทั้งผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 60.7 ในเดือน มิ.ย. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 60.5 จากระดับ 52.2 ในเดือน พ.ค. ได้รับแรงหนุนจากการที่ผู้บริโภคคลายความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อและภาวะสงครามการค้า ขณะที่กำหนดการเส้นตายระยะเวลาผ่อนปรนนโยบายภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ใกล้เข้ามา
เฟดย้ำลดดอกเบี้ยขึ้นกับข้อมูล
สำหรับตัวเลขการสำคัญของสหรัฐที่เปิดเผยช่วงกลางสัปดาห์ ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) เปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐลดลง 33,000 ตำแหน่งในเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นการปรับตัวลงครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปีหรือนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2566 ขณะที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 100,000 ตำแหน่ง หลังจากเพิ่มขึ้น 29,000 ตำแหน่งในเดือน พ.ค.
ขณะที่กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 147,000 ตำแหน่งในเดือน มิ.ย. สูงกว่าระดับคาดการณ์ที่ 111,000 ตำแหน่ง หลังจากเพิ่มขึ้น 144,000 ตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม ทำให้ตลาดเริ่มคลี่คลายความกังวลเรื่องการชะลอตัวของตลาดแรงงาน
ขณะที่นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดได้เน้นย้ำในงานเสวนาซึ่งธนาคารกลางยุโรป (ECB) จัดขึ้น เมื่อวันอังคาร (1/7) ที่ผ่านมาว่า เฟดจะใช้แนวทางอดทนรอคอยก่อนที่จะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม โดยกล่าวว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับข้อมูลที่เฟดจะได้รับ
อีกทั้งนักลงทุนจับตาร่างกฎหมายปรับลดภาษีและเพิ่มการใช้จ่ายขนานใหญ่ของรัฐบาลสหรัฐ โดยร่างกฎหมายดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียงที่ฉิวเฉียด และขณะนี้ได้ถูกส่งไปยังสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอการอนุมัติในขั้นตอนสุดท้าย ด้านนักวิเคราะห์เตือนว่าร่างกฎหมายฉบับนี้อาจทำให้หนี้สาธารณะของสหรัฐเพิ่มขึ้นอีก 3.4 ล้านล้านดอลลาร์ในอีก 10 ปีข้างหน้า
ด้านประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โพสต์ข้อความบน Truth Social ระบุว่า สหรัฐได้บรรลุข้อตกลงทางการค้ากับเวียดนาม โดยจะเรียกเก็บภาษีศุลกากรต่อสินค้านำเข้าจากเวียดนามในอัตรา 20% หลังจากที่ก่อนหน้านี้สหรัฐขู่เรียกเก็บภาษีดังกล่าวสูงถึง 46% นอกจากนี้สหรัฐจะเรียกเก็บภาษีศุลกากรต่อสินค้านำเข้าจากเวียดนามในอัตรา 40% หากพบว่าสินค้าดังกล่าวมีการสวมสิทธิ์จากต่างประเทศ โดยเป็นสินค้าที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศอื่น
โดยข้อตกลงระบุว่า เวียดนามจะเปิดตลาดอย่างเสรีให้แก่สินค้าจากสหรัฐ โดยเวียดนามจะเรียกเก็บภาษีศุลกากร 0% ต่อสินค้าที่นำเข้าจากสหรัฐ ทั้งนี้เส้นตายของระยะเวลาผ่อนผันการเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ 90 วันจะสิ้นสุดลงในวันที่ 9 ก.ค. ขณะที่สถาบันการเงินในตลาดสหรัฐปิดทำการในวันศุกร์ (4/7) เนื่องด้วยวันชาติ
ปัจจัยในประเทศ กิจกรรมศก.ชะลอลง
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ น.ส.ปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยเศรษฐกิจไทยในเดือน พ.ค. 2568 ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน จากการผลิตภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการด้านการค้า การขนส่ง และการท่องเที่ยว โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง เนื่องจากบางส่วนเร่งผลิตเพื่อเติมสินค้าคงคลังไปแล้วในเดือนก่อน
ประกอบกับมีปัจจัยชั่วคราวจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมัน ขณะที่รายรับการท่องเที่ยว ลดลงตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง ด้านการลงทุนภาคเอกชนลดลงหลังเร่งไปในเดือนก่อน ส่วนการบริโภคภาคเอกชนทรงตัวโดยหมวดสินค้าคงทนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่หมวดบริการปรับลดลง
อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะหมวดอิเล็กทรอนิกส์ตามอุปสงค์โลกที่ดีต่อเนื่อง และจากการเร่งส่งออกในช่วงระยะที่ผ่อนผันการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐ สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากทั้งรายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลาง จากผลของฐานสูงในปีก่อนที่มีการเร่งเบิกจ่าย
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบมากขึ้นจากเดือนก่อน จากหมวดอาหารสด อัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานติดลบใกล้เคียงกับเดือนก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังปรับเพิ่มขึ้นตามราคาอาหารสำเร็จรูป สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลลดลง ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุล จากการส่งกลับกำไรของธุรกิจต่างชาติตามฤดูกาล ด้านตลาดแรงงานโดยรวมปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนตามการจ้างงานในภาคการผลิตเป็นสำคัญ
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะถัดไป ธปท.มองว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวมชะลอลง ตามแรงส่งจากภาคท่องเที่ยว และการส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอลง อย่างไรก็ดี การผลิตในภาคยานยนต์มีสัญญาณปรับดีขึ้นบ้าง โดยเฉพาะรถยนต์นั่ง
ลุ้นเจรจาการค้าไทย-สหรัฐ
สำหรับประเด็นเรื่องการเจรจาการค้าระหว่างไทยและสหรัฐ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายพิชัย ชุณหวชิระ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เป็นผู้นำคณะ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางไปยังกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา เพื่อเจรจามาตรการภาษีระหว่างไทยกับสหรัฐอย่างเป็นทางการ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดอัตราภาษีตอบโต้ของสหรัฐที่เก็บกับไทยจาก 36% ให้เหลือต่ำที่สุด โดยที่ผ่านมา ไทยได้ยื่นข้อเสนอหลายครั้ง และได้รับสัญญาณที่ดีจากฝั่งสหรัฐ
นอกจากนี้ตัวแทนจากไทยยังมีกำหนดเข้าพบหารือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของสหรัฐอีก 2-3 หน่วยงาน
นอกจากนี้ ในวันอังคาร (1/7) ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายกฯแพทองธาร ชินวัตร หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว หลังมีมติเอกชนรับคำร้องของ สว.ที่กล่าวหาผู้นำรัฐบาลฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง กรณีปรากฎคลิปเสียงสนทนากับผู้นำกัมพูชา
ส่วนที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังมีแนวโน้มอ่อนแรงลง โดยคาดว่าทั้งปี 68 ขยายตัวในระดับต่ำที่ราว 1.5-2.0% โดยจะเติบโตใกล้เคียง 2.0% หากอัตราภาษีที่ไทยโดนเรียกเก็บยังอยู่ที่ 10% ในครึ่งปีหลัง แต่จะลดลงมาใกล้ 1.5% หากโดนเรียกเก็บที่ 18% หรือครึ่งหนึ่งของอัตรา Reciprocal Tariff
ทั้งนี้ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.26-32.64 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (4/7) ที่ระดับ 32.30/32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดวันจันทร์ (30/6) 1.1720/22 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (27/6) ที่ระดับ 1.1709/11 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร จากการอ่อนค่าของดอลลาร์ ขณะที่มีการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอ คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ได้เปิดเผยข้อมูลวันศุกร์ (27/6) ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจโดยรวมของกลุ่มประเทศยูโรโซนในเดือน มิ.ย.ได้ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 94 จุด จากเดิม 94.8 จุดในเดือน พ.ค. โดยต่ำกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 95.1 จุด
ส่วนสำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีเปิดเผยในวันจันทร์ (30/6) ว่ายอดค้าปลีกเมื่อปรับตัว ลดลง 1.6% ในเดือน พ.ค. เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการลดลงต่อเนื่องจากเดือน เม.ย. สวนทางกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่มองว่าจะขยายตัว 0.5% และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 1.6% ในเดือน พ.ค. แต่ยังต่ำกว่าตัวเลขปรับปรุงใหม่ของเดือน เม.ย.ที่เติบโต 2.9% และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 3.3%
ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1702-1.1829 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (4/7) ที่ระดับ 1.1781/83 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
เจรจาการค้าญี่ปุ่น-สหรัฐ ยังไม่ลงตัว
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดวันจันทร์ (30/6) ที่ระดับ 144.33/35 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (27/6) ที่ระดับ 144.48/50 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ภายหลังผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในเดือน พ.ค. เพิ่มขึ้น 0.5% จากเดือนก่อนหน้า โดยสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการเพิ่มขึ้นของเครื่องจักรการผลิต
ขณะที่การเจรจาระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐยังไม่สามารถหาจุดร่วมได้ แม้ว่าจะมีการตกลงกันที่จะดำเนินการเจรจาต่อไปเพื่อบรรลุข้อตกลงด้านภาษีที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยืนยันอย่างชัดเจนในการให้สัมภาษณ์กับสื่อที่ออกอากาศเมื่อวันอาทิตย์ (29/6) ว่า ตัวเขาไม่มีแผนที่จะพับแผนเรียกเก็บภาษีศุลกากรรถยนต์ในอัตราที่สูงกับญี่ปุ่น แม้ญี่ปุ่นจะคัดค้านอย่างหนักในการเจรจาที่หยุดชะงักไปแล้วก็ตาม
ทรัมป์กล่าวว่า รัฐบาลของเขาพร้อมร่อนจดหมายข้างเดียวไปยังญี่ปุ่นและคู่ค้ารายอื่นเร็ว ๆ นี้ เพื่อแจ้งให้ทราบเกี่ยวกับอัตราภาษีสำหรับการส่งออกมายังสหรัฐ
ด้านนายฮาจิมะ ทาคาตะ สมาชิกคณะกรรมการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กล่าวในการประชุมผู้นำธุรกิจซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดมิเอะว่า BOJ หยุดพักการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียงชั่่วคราวเท่านั้น และจะกลับมาเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อไปในอนาคต แม้เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะเผชิญแรงกดดันจากมาตรการภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐก็ตาม สะท้อนให้เห็นว่า BOJ ยังคงมองหาโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม
ทั้งนี้การเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนอยู่ในกรอบระหว่าง 142.66-145.23 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (4/7) ที่ระดับ 144.25/27 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ตลาดแรงงานสหรัฐยังแข็งแกร่ง จับตาการเจรจาการค้าไทย-สหรัฐ
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net