'3องค์กรสื่อ' ขอให้ระมัดระวังเสนอข่าวขัดแย้ง-ยุเกลียดชัง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ร่วมออกแถลงการณ์ เรื่อง ขอความร่วมมือการรายงานข่าวความตึงเครียดชายแดนไทย-กัมพูชา พร้อมข้อเสนอแนะต่อการสื่อสารของภาครัฐหลังจากที่หารือกันเป็นวาระพิเศษต่อประเด็นแนวทางการรายงานข่าวท่ามกลางสถานการณ์ความตึงเครียดชายแดน ไทย-กัมพูชา ดำเนินต่อเนื่อง
โดยแถลงการณ์ระบุว่า เพื่อขอแสวงหาความร่วมมือกับสื่อมวลชนในการรายงานข่าวและเพื่อแก้ไขปัญหาการสื่อสารในภาวะวิกฤตตามที่ได้มีการหารือร่วมกับหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบดังนี้
1. ห้ามเปิดเผยที่ตั้งทางทหาร ชื่อ ผบ.หน่วย อาวุธหรือยุทโธปกรณ์ที่ใช้
2. งดการรายงานสดในพื้นที่ขณะที่ยังมีปฏิบัติการทางทหารอยู่
3. ระมัดระวังการให้ข่าวที่ทำลายขวัญและกำลังใจของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่ปฏิบัติหน้าที่
4. หลีกเลี่ยงการนำเสนอข่าว-ภาพข่าว ที่บ่งบอกหรือสร้างความเข้าใจผิดถึงความรุนแรงของฝ่ายไทย ที่เกินสัดส่วนของการตอบโต้
5. ตรวจสอบข่าวที่ถูกแชร์ต่อๆ มา ทางโซเชียลมีเดียกับหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงก่อนนำมาเผยแพร่
6. ไม่ควรนำเสนอข่าวที่มีลักษณะเป็นการสร้างความเกลียดชังระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศ
7. หลีกเลี่ยงการวิเคราะห์ข่าวโดยไม่มีข้อมูลสนับสนุน เพราะอาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิด หรือเกิดความตื่นตระหนก
8. ระมัดระวังการพาดหัวข่าวที่ใช้ถ้อยคำเกินจริงเพื่อดึงความสนใจ
9. ไม่สัมภาษณ์ ถ่ายภาพ หรือเปิดเผยภาพเจ้าหน้าที่ในขณะปฏิบัติภารกิจที่เสี่ยงภัย โดยไม่ได้รับอนุญาต
10. เคารพสิทธิส่วนบุคคลของเจ้าหน้าที่และครอบครัวผู้ที่สูญเสีย
11. คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนและประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ
ที่ประชุมยังมีการหารือและมีข้อเสนอแนะต่อการสื่อสารของหน่วยงานรัฐ ดังนี้
1. ขอให้หลีกเลี่ยงการนำเสนอข้อมูลที่สร้างด้วย AI
2. ต้องกำชับการนำเสนอข้อมูลข่าวสารในทุกช่องทาง ต้องไม่สร้างความสับสนและข้อมูลขัดแย้งกันเอง เพื่อลดความสับสนของประชาชน
3. ตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่เผยแพร่ข่าวสาร เพื่อลดการใช้ภาษายั่วยุ รุนแรงและใช้ความคิดเห็นส่วนตัวในการนำเสนอข้อมูลในภาวะที่ประชาชนต้องการข้อเท็จจริง
4. เสนอให้จัดทำแนวปฏิบัติให้ชัดเจนและสามารถปฏิบัติที่ตรงกันทุกหน่วยงานในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารในสถานการณ์ปัจจุบัน
นอกจากนี้ในที่ประชุมยังหารือถึงปัญหาการโจมตีทางไซเบอร์ ที่สื่อมวลชนไทยตกเป็นเป้าโจมตี โดยเฉพาะสื่อที่มีคำว่า ไทย Thai และ Thailand ด้วยเทคนิค DDoS (Distributed Denial of Service) จากกัมพูชา จึงแนะนำให้สื่อมวลชนเฝ้าระวังและตรวจสอบระบบความปลอดภัยของตัวเองอย่างใกล้ชิด โดยสามารถประสานขอความช่วยเหลือสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ได้ รวมทั้งเสนอให้กระทรวงดิจิทัลฯ และ กสทช. มีมาตรการป้องกัน และเป็นตัวกลางในการประสานกับแพลตฟอร์มเพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที