ไทยปักธงเฟสติวัลเนชัน เอกชนถาม วิชันคือควักงบดึงอีเวนต์โลกหรือ?
ย้อนไป 25 มิถุนายน 2568 ที่ผ่านมา “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรีโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงการพบปะหารือกับ ฎBruno Vanwelsenaers” ผู้บริหารของ Tomorrowland และกรุงเทพธุรกิจ ได้คอนเฟิร์มกับ “ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)ในการดึงเทศกาลดนตรีระดับโลกมาจัดที่ไทย ซึ่งจะเกิดขึ้นในปี 2569
ประเทศไทยมุ่งยกระดับสู่การเป็นหมุดหมายอีเวนต์โลกหรือ World Event Destination จึงเห็นภาครัฐเดินหน้าดึงงานใหญ่ๆมาจัดในไทย นอกจากเทศกาลดนตรีอีดีเอ็มอย่างทูมอร์โรว์แลนด์ ยังมีอีเวนต์กีฬาที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันรถยนต์สูตรหนึ่งหรือ F1 เป็นต้น
อีกด้านรัฐบาลมีนโยบายขับเคลื่อนอำนาจละมุนหรือ Soft Power ไทยให้ผงาด แต่ดูเหมือนการสนับสนุน เดินหน้าของภาครัฐจะ “สวนทาง” กับมุมมอง ความต้องการภาคเอกชน
พงศ์สิริ เหตระกูล ผู้อำนวยการเทศกาล Awakening Festivals หรือเทศกาลไฟและศิลปะดิจิทัล ให้มุมมองที่น่าสนใจในงาน SPLASH-Soft Power Forum 2025 ที่ผ่านมา ภายใต้หัวข้อ ”SPARK Influencer Marketing Playbook : How Influencers Elevate Thai Festivals Worldwide สูตรลับพาเทศกาลไทยไประดับโลกด้วยพลังอินฟลูเอนเซอร์“
ประเทศไทยมีอีเวนต์จำนวนมากในแต่ละปี กับการจะก้าวไปสู่ “เฟสติวัลแห่งชาติ” หรือ Festival Nation จึงตั้งคำถาม “ไทยจะทำให้เฟสติวัล เนชันทำไมก่อน” เพราะคำนี้เป็นคำใหญ่ “ระดับชาติ” ที่ฟังแล้วตื่นเต้น
การเป็นประเทศจัดงานเฟสติวัลมากมาย ไม่ใช่ไม่ดี แต่เป็นเรื่อง “ดี” เพราะต้องการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ต้องการให้คนทั่วโลก นักเดินทางมาเที่ยวไทย ร่วมงานเพื่อจับจ่ายใช้สอย เข้าพักโรงแรม รับประทานอาหาร ชอปปิง “บูมเศรษฐกิจที่เกิดจากเฟสติวัล” ให้อยู่ในประเทศอย่างนั้นหรือ
“ถ้าเฟสติวัล เนชันคือสิ่งนั้น(เศรษฐกิจโต) วิชันต้องถูกต้องก่อนว่าเราทำเฟสติวัลเนชันไปด้วยวิชันแบบไหน หากต้องการเคลื่อนเศรษฐกิจแบบนั้นจริงๆ การสนับสนุนเฟสติวัล งานเทศกาลในประเทศเป็นสิ่งสำคัญมากๆ”
ทว่า หากย้อนดูสิ่งที่รัฐบาลกำลังเดินหน้า กลับ “พยายาามดึงงานต่างประเทศ” มาปักหมุดในประเทศไทย ทั้งที่จริงๆแล้วควรกล่าวถึงงานของต่างประเทศให้น้อยๆ
“เอ่ยชื่อเลย..อย่างทูมอร์โรว์แลนด์ โฟกัสทำไม..ถามจริงๆ ไทยจะเป็นเฟสติวัล เนชันด้วยการนำทูมอร์โรว์แลนด์ที่เป็นงานต่างประเทศมาลงที่ประเทศไทยจริงๆเหรอ”
การตั้งคำถามดังกล่าว เพราะหากไทยดึงงานอีเวนต์โลกมาจัดในประเทศ “เม็ดเงิน” หรือผลตอบแทนจะกลับไปอยู่ที่ “เจ้าของแบรนด์มากที่สุด” หรือที่ผ่านมาประเทศโหยหาคอนเสิร์ต “เทย์เลอร์ สวิฟต์” จนเกิดวลี “Swiftonomics” เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนจากคอนเสิร์ตศิลปินดัง แต่มองลึกไปประเทศไทยจะได้เงินบางส่วนเท่านั้น เช่น ได้เงินค่าจัดงานเล็กน้อย รายได้จากนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาจับจ่ายใช้สอย ที่พักแรม อาหารการกิน ชอปปิง ฯ ดังนั้น จะดีกว่าหรือไม่ หากไทยสามารถสร้างสรรค์ทูมอร์โรว์แลนด์เป็นแบรนด์ของตัวเอง
“คนที่ได้เงินจริงๆ ได้เงินมากสุด คือเจ้าของแบรนด์ แต่ถ้าคุณ(รัฐบาล)มีทูมอร์โรว์แลนด์สร้างเองที่นี่ หรือเทย์เลอร์ สวิฟต์เหมือนกัน การเอาคนดังๆมาให้ได้ คุณมีซอฟต์พาวเวอร์จากเฟสติวัลจริงๆเหรอ”
ถอดบทเรียนมหาอำนาจซอฟต์พาวเวอร์อย่าง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ที่มีอุตสาหหกรรม เทศกาลดนตรีที่ยิ่งใหญ่ เป็นเฟสติวัล เนชัน ไม่ได้เกิดจากการดึงเทย์เลอร์ สวิฟต์ไปจัดคอนเสิร์ต แต่เกิดจากการปลุกปั้น แบล็กพิงค์ บีทีเอส จากการมีวงดนตรี ศิลปิน ไอดอลต่างๆเป็นของตัวเอง ไม่ใช่พยายามดึงงานจากต่างประเทศไปปักหมุด
“ถ้าเกิดจากวิชันที่ถูก โครงสร้างงบประมาณจะถูกต้อง”
พงศ์สิริ เทียบเคียงการใช้งบประมาณสนับสนุนเทศกาลดนตรีอีดีเอ็มทูมอร์โรว์แลนด์กับงานเทศกาลดนตรีสัญชาติไทยโดยผู้จัดคนไทย เชื่อว่า “แตกต่างกันหลายสิบเท่า” ประเมินคร่าวๆ 30 เท่าต้องมี
“ลองดูงบประมาณประจำปีทีเส็บ(สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน))ให้กับเฟสติวัลที่เกิดขึ้นในประเทศหรือ homegrown เทียบกับนำทูมอร์โรว์แลนด์ อาจต่างกันแตะหลักร้อยล้าน”
ขณะที่ไทยได้เปรียบด้านยุทธศาสตร์หลากหลาย ทั้งแหล่งท่องเที่ยว วัฒนธรรม อาหารการกิน ที่พักล้วนมีความพร้อม
“เหลือแค่โครงสร้าง จะถูกต้องไหม และผมอยากขยับวิชันนะ..ผมคิดแบบนั้น ยั่งยืนที่สุดคือการที่เรามีทูมอร์โรว์แลนด์ หรือเทย์เลอร์ สวิฟต์เป็นของตัวเอง ไม่ไปใช่เอางานต่างประเทศมาแล้ว..ว้าว! เรามีสวิฟต์แล้ว ประเทศอื่นไม่มี คุณ(รัฐ-ประเทศ)ได้เงินจริงเหรอ..ผมถามจริง”
เป็นคำถามที่เอกชน อยากให้รัฐบาลฉุกคิด รวมถึงการบ่มเพาะ สนับสนุนงานในประเทศของตัวเองด้วย ไม่ใช่ทุ่มแต่เงินก้อนโตดึงงานต่างประเทศเข้ามา
บทสรุปการจัดงานเทศกาลถือว่า “มีความเสี่ยงสูง” เวลาเจ๊ง!แต่ละครั้งมีมูลค่าหลัก “หลายสิบถึงร้อยล้าน” รัฐจึงควรสนับสนุนภาคเอกชนหลายมิติ ได้แก่ 1.มีกองทุส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอยู่ต่อได้ 2.ภาครัฐควรสนับสนุนพื้นที่เพื่อจัดงานสร้างสรรค์ ผ่านพื้นที่ราชการ เช่น สวนสาธารณะสามารถจัดงานขายบัตรได้ สนามกีฬาในการดูแลของกรมพละ สามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้
“สนามกีฬาในประเทศไทยขายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้ เพราะมีศีลธรรมสูง”
3.พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเอื้อต่อการเข้าถึงสถานที่จัดงานใหญ่ 4.ปรับปรุงกฎหมายรองรับงานเทศกาล โดยเฉพาะกฎหมายโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการมีกฎหมายเฉพาะสำหรับการจัดงาน การมี One Stop Service เพื่อการขออนุญาต 5.รัฐช่วยโปรโมทและอำนวยความสะดวก(facilitate) เปลี่ยนจากการเป็นผู้จัดงานเองมาเป็นผู้สนับสนุนให้ผู้จัดเอกชนแข็งแรง เพราะเชื่อว่าเอกชนสามารถจัดงานดี เจ๋งๆได้ ขาดเพียงงบประมาณการตลาด รัฐจึงควรทำหน้าที่ช่วยโปรโมทหรือประชาสัมพันธ์งานให้ และ6.โฟกัสงานในประเทศไม่ใช่การประมูลงานต่างประเทศ และจัดสรรงบประมาณให้ถูกต้อง ถ้าจะโฟกัสกับการทำเทศกาลไทยให้ใหญ่ homegrown งานในประเทศ และงบประมาณต้องโฟกัสตรงจุด
ด้านภาพรวมงานเฟสติวัล เมื่อไม่ใช่ปัจจันสี่ ท่ามกล่างเศรษฐกิจหนืดๆ ชะลอตัว ผู้คนจะตัดความบันเทิงในชีวิตบ้าง ทำให้การขายบัตรร่วมงานต่างๆยากขึ้น ส่วนจะจับตลาดต่างประเทศ ก็เผชิญงานและคู่แข่งระดับโลก