โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

การเมือง

เหลี่ยมสภาสูง ‘น้ำเงิน’แผลงฤทธิ์ ‘1 ตุลาการ-1 กกต.’ บ่วงร้อน 2 สี

กรุงเทพธุรกิจ

อัพเดต 13 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 22 นาทีที่แล้ว

“เกมสภาสูง” สะท้อนดุลอำนาจองค์กรอิสระที่กำลังเปลี่ยนผ่าน เห็นชัดจากมติที่ประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 22 ก.ค.2568 วาระให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ถูกเสนอชื่อเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 คน

คนแรก“ร.ต.อ.สุธรรม เชื้อประกอบกิจ” นักวิชาการรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะที่ปรึกษาของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรมเข้ารับการสรรหาแทน แทน “นครินทร์ เมฆไตรรัตน์” ที่ครบวาระ

ที่ประชุมมีมติ 39 ต่อ 118 คะแนน “ไม่เห็นชอบ” ให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ขณะเดียวกันมีมติ 143 ต่อ17 เสียง เห็นชอบ “สราวุธ ทรงศิวิไล” อดีตอธิบดีกรมขนส่งทางราง และอดีตอธิบดีกรมทางหลวง ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ แทน"ปัญญา อุดชาชน" ที่ครบวาระ

ขั้นตอนหลังจากนี้ ประธานวุฒิสภาจะนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯต่อไป หลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ก็จะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มรูปแบบ

เหนือไปกว่านั้น ที่ประชุมยังมีมติ 165 ต่อ 1 เสียง ยังให้ความเห็นชอบ “ณรงค์ กลั่นวารินทร์” ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา เป็น กกต.คนใหม่ แทน“ปกรณ์ มหรรณพ” ซึ่งครบวาระเนื่องจากอายุครบ 70 ปี

พลิกปูม “สราวุธ” เคยเป็นอธิบดีกรมทางหลวง สมัย “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” อดีตเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย เป็นรมว.คมนาคมจึงถูกจับตาว่า ได้รับแรงหนุนจาก “ขั้วสีน้ำเงิน” มาตั้งแต่ต้น

เห็นชัดจากที่ก่อนหน้านี้เขาเคยสมัครเข้ารับการสรรหามาแล้วรอบหนึ่ง แต่การลงคะแนนของกรรมการสรรหา 3 รอบ มีมติเลือก“ชาตรี อรรจนานันท์” อดีตอธิบดีกรมการกงสุล เป็นผู้ถูกเสนอชื่อ

ทว่า ต่อมาที่ประชุมวุฒิสภาเมื่อ 18 มี.ค.2568 กลับมีมติคว่ำ “ชาตรี”ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้“สราวุธ”เข้ารับการสรรหาอีกรอบ และได้รับเลือกในท้ายที่สุด

เป็นเช่นนี้ ต้องจับตา“ดุลอำนาจ” ที่กำลังเปลี่ยนผ่านในองค์กรอิสระ ยังเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่สารพัดวาระร้อนกำลังจ่อคิวชี้ชะตา

ไม่ว่าจะเป็นคดีที่อยู่ในการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งคดีคลิปเสียงสนทนาระหว่าง “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี กับสมเด็นฮุน เซ็น ประธานวุฒิสภากัมพูชา ที่ขณะนี้ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้ “นายกฯ” หยุดปฏิบัติหน้าที่ หลังรับคำร้อง “36 สว.สายสีน้ำเงิน”

ขณะที่การวางเกมของ “ทีมกุนซือนายกฯ” ล่าสุด ได้ขอเลื่อนชี้แจงข้อกล่าวหาออกไปอีก 15 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 31 ก.ค.นี้

อ่านเกม“กุนซือนายกฯ” น่าสนใจว่า หากเลือกที่จะเดินเกม“ยื้อสุดกรอบ” คดีดังกล่าวที่คาดว่าน่าจะชี้ชะตาไม่เกินเดือน ก.ย. อาจเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน

นอกเหนือจาก “สราวุธ” ซึ่งถูกมองว่าได้รับสัญญาณไฟเขียวจากฝั่งสีน้ำเงินแล้ว ยังต้องจับตาอีกหนึ่งคน ที่จะมาแทน “สุธรรม” ที่ถูกสว.โหวตคว่ำ จนถึงวินาทีนี้ต่างฝ่ายต่างหวังส่งคนของตัวเองเข้าไปทำหน้าที่ เพื่อเป็นมือในองค์กรอิสระ

ถัดมา คดีที่ศาลรับคำร้องประธานวุฒิสภา ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ“ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม(ในขณะยื่นคำร้อง) และพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ หลังมีมติให้รับ “คดีฟอกเงิน” เชื่อมโยงกับกระบวนการเลือกสว.ไว้เป็นคดีพิเศษ ซึ่งอาจเป็นการแทรกแซงหรือครอบงำหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)

โดยคดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง หยุดปฏิบัติหน้าที่ เฉพาะการกำกับดูแลกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)ล่าสุดยังมีคำสั่งให้ยื่นบัญชีพยานเพิ่มเติมภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัย

เป็นเช่นนี้ต้องจับตา อ่านเกมสภาสูงที่โหวตคว่ำ “ร.ต.อ.สุธรรม” แทบไม่ต้องเดาให้ยุ่งยาก ถึงต้นสายปลายเหตุ โดยเฉพาะประเด็นที่เจ้าตัวกรอกประวัติ “เคยดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษา” ให้กับ“บิ๊กวี” มาก่อน

จุดนี้เอง ที่ทำให้ สว.สีน้ำเงินเปิดเกม“เตะตัดขา”นักวิชาการผู้นี้ ในการทำหน้าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีอำนาจชี้ขาดคำร้องดังกล่าว

นอกจากนี้ ยังมีคำร้องที่ประธานรัฐสภา ขอให้ศาลวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่ และอำนาจของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ในประเด็นการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งล่าสุดศาลนัดลงมติ ในวันที่ 10 ก.ย.

ที่มาที่ไปประเด็นนี้ มีต้นเรื่องมาจากการที่ “พรรคภูมิใจไทย” เมื่อครั้งร่วมรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เปิดเกม “ภูมิใจขวาง” ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย พร้อมขู่โหวตคว่ำ หากพรรคแกนนำดึงดันที่จะโหวตร่างดังกล่าวในสภาฯ ทำเพื่อไทยต้องแก้เกมสกัด “เส้นทางลงเหว” ด้วยการยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อประวิงเวลา

แน่นอนว่า ในสภาวะที่ “เพื่อไทย” และ “ภูมิใจไทย” อยู่ในสถานะขั้วตรงข้ามทางการเมือง อีกทั้งเปิดเกมไล่ล่ากันเป็นรายวัน ขณะที่องค์กรอิสระอย่างศาลรัฐธรรมนูญอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ย่อมเป็นการาตอกย้ำถึงฉากรบภายใต้องคาพยพที่ต่างฝ่ายต่างมีในมือ

ส่วนคดีอื่นๆ ที่ค้างคา อาทิ คดีที่“พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน” รองประธานสภาฯ ถูกกล่าวหามีส่วนได้ส่วนเสียในการใช้งบประมาณปี 2569 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเสนอ 3 โครงการของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 ซึ่งศาลนัดวินิจฉัยในวันที่ 1 ส.ค.นี้ คดีนี้อาจยังเป็นการพิจารณาในส่วนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดเก่า

ขณะที่ในส่วนของกกต.เวลานี้มีคดีสำคัญ คือ กรณีที่คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนกลาง คณะที่ 26 รับผิดชอบคดี “ฮั้วสว.” สรุปสำนวนการสอบสวน พร้อมมีมติเสนอกกต.ดำเนินคดีสว.138 คน กรรมการบริหารพรรคภูมิใจไทย และเครือข่ายอีก 91 คน รวมเป็น 229 คน

ขั้นตอนต่อไป คณะกรรมการไต่สวน จะเสนอเรื่องสู่การพิจารณาของที่ประชุม กกต.และหากที่ประชุมมีมติเห็นพ้องด้วย ก็อาจนำไปสู่การร้องต่อ กกต.ขอให้เสนอศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคต่อไป

ขณะเดียวกัน ยังมีกรณีมีผู้ยื่น 6 คำร้อง กล่าวหา“ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคใด แต่ได้เข้าไป ชี้นำ หรือครอบงำพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาลเดิม รวม 6 พรรค โดยเฉพาะในการประชุมที่บ้านจันทร์ส่องหล้า ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลง เมื่อวันที่ 14 ส.ค.2567

แม้จะมีคำชี้แจงจากฝั่ง กกต.กาง “6ไทม์ไลน์” ซึ่งตามกระบวนการยังอีกยาวไกล แต่หากถึงที่สุด ผลของคดีเป็นลบ อาจนำไปสู่การยุบ“6 พรรคการเมือง” ไม่ต่างอะไรกับการ “ล้างกระดานการเมือง”ครั้งใหญ่เลยทีเดียว

แน่นอนว่า ท่ามกลางฉาก “นิติสงคราม” ที่ต่างฝ่ายต่างเปิดเกมแค้นเอาคืนกันอยู่ในเวลานี้ ในขณะที่ดุลอำนาจองค์กรอิสระกำลังเปลี่ยนผ่าน ต้องจับตาท่ามกลางองคาพยพที่ต่างฝ่ายต่างถือไพ่ในมือ โดยเฉพาะฝั่งสีน้ำเงิน ที่กำลังเผชิญวิบากกรรมฮั้วสว.แต่กลับยังมีอำนาจเลือกบุคคลในองค์กรอิสระ

ถึงที่สุด ฝ่ายไหนจะรุกฆาตได้ก่อนกัน หรือถึงเวลาจริงจะเจอเกมนอกสมการ “ล้างกระดาน” เพื่อรีเซ็ตสูตรการเมืองใหม่ ก็เป็นได้

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก กรุงเทพธุรกิจ

ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น รับข่าวดีลการค้าสหรัฐ-ญี่ปุ่น

25 นาทีที่แล้ว

โจทย์หิน ‘วิทัย’ พยุงเศรษฐกิจ ดูแล ‘ค่าเงิน-ดอกเบี้ย’ ระยะยาวปรับโครงสร้าง

37 นาทีที่แล้ว

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความการเมืองอื่น ๆ

ข่าวและบทความยอดนิยม