‘พปชร.’ แนะรัฐบาลเร่งวางแผนเชิงรุก จัดระบบบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นรูปธรรม
เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 68 นายจักรัตน์ พั้วช่วย สส.เพชรบูรณ์ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) บริหารจัดการน้ำ สภาผู้แทนราษฎร แสดงความกังวลถึงสถานการณ์ปริมาณน้ำที่เกิดขึ้นจากพายุโซนร้อน “วิภา” ที่มีแนวโน้มส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักทั่วประเทศ เสี่ยงต่อการเกิดน้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมซ้ำซากในหลายพื้นที่ เนื่องจากรัฐบาลชุดปัจจุบันยังไม่มีการจัดการน้ำอย่างจริงจังและเป็นระบบ ทั้งยังมีปัญหาเรื่องการบริหารงานภายหลังการเปลี่ยนแปลงผู้กำกับดูแลระดับรองนายกรัฐมนตรี แต่กลับไม่มีบทบาทที่ชัดเจนหรือการแสดงภาวะผู้นำในช่วงวิกฤติ
นายจักรัตน์ กล่าวว่า แม้จะมีมติ ครม. ตั้งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) และศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า แต่การจัดตั้งกลับอยู่ในระดับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน กลับไม่มีผู้มีอำนาจจริงเข้าไปขับเคลื่อนที่แท้จริง ทำให้การทำงานจึงเป็นลักษณะต่างคนต่างทำ ไม่มีการบูรณาการระหว่างกระทรวง และปัจจุบัน มีคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำระดับจังหวัด แต่ตั้งได้เพียง 9 จังหวัด ทำให้หลายพื้นที่ยังขาดกลไกสำคัญในการแก้ปัญหาในระดับท้องถิ่น ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานคณะกรรมการไม่สามารถตัดสินใจเรื่องสำคัญได้อย่างทันท่วงที ขาดระบบการบริหารตามวงรอบปฏิทินน้ำ ที่ควรวางแผนล่วงหน้าเหมือนในยุคที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งสามารถขับเคลื่อนยุทธศาสตร์น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
“การประชุมของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ก็เกิดขึ้นน้อย สั่งการไปแล้วก็ไม่มีการติดตามผล ทำให้ภาพรวมของการบริหารจัดการน้ำไม่มีประสิทธิภาพเหมือนเดิม” นายจักรัตน์ กล่าว
นายจักรัตน์ กล่าวว่า ตนขอย้ำว่า รัฐบาลควรกลับมาให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลในระดับรองนายกรัฐมนตรีอย่างใกล้ชิด พร้อมเสนอให้นำโครงสร้างการทำงานของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติในยุคที่ผู้บริหารระดับสูงสั่งการโดยตรง ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเลขาธิการฯ ที่ไม่มีอำนาจสั่งการกระทรวงต่างๆ อย่างแท้จริง เนื่องจากขณะนี้งบประมาณที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำและกระตุ้นเศรษฐกิจยังติดค้างอยู่ในระบบราชการ หากเกิดพายุอีกระลอกหรือสองระลอกในช่วงนี้ อาจทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้าย
นายจักรัตน์ ยังแนะนำให้รัฐบาลลงมาดูแลการเตือนภัยอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการจัดตั้งงบประมาณสำหรับสำรวจความเสียหายล่วงหน้า ทั้งในพื้นที่รับน้ำและพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อให้สามารถเตรียมการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบได้ทันที
“การบริหารจัดการน้ำ ต้องวางแผนล่วงหน้า ไม่ใช่รอให้ภัยพิบัติเกิดก่อนแล้วค่อยมาแก้ นี่คือบทเรียนที่ชัดเจนจากยุค พล.อ.ประวิตร ที่ขับเคลื่อนงานตามวงรอบของปฏิทินน้ำ เห็นผลเป็นรูปธรรม และควรเป็นต้นแบบให้รัฐบาลชุดนี้นำมาปรับใช้โดยเร็ว” นายจักรัตน์ กล่าว.