เปิดงานวิจัย-ผลตรวจนิติวิทยาศาสตร์ พบปนเปื้อนสารหนู-โลหะหนักในแม่น้ำกก มาจากแร่หายาก
รัฐบาล-สกสว.ใช้ข้อมูล AI แจ้งเตือนสารพิษ-น้ำท่วมแม่น้ำกก
วันนี้ (7 ก.ค.2568) ที่จังหวัดเชียงราย มีประชุมร่วมการแก้ปัญหาสารพิษในแม่น้ำกก โดยมี น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย เป็นประธานที่ประชุม และมีนักวิชาการจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เปิดเผยงานวิจัยผลการผลการเก็บตัวอย่างในแม่น้ำกก
รศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ หน่วยภารกิจระบบฐานข้อมูลและดิจิทัล สกสว. เปิดเผยถึงที่มาโครงการว่า เป็นงานวิจัยภัยพิบัติเร่งด่วน การปนเปื้อนสารพิษภัยพิบัติฉุกเฉิน กรณีศึกษา “นิติวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม
และการประเมินความเสี่ยงเบื้องต้น จากการปนเปื้อนโลหะและกึ่งโลหะในแม่น้ำกก จ.เชียงราย” โดยมีมหาวิทยาลัย 4 แห่งร่วมวิจัย เป้าหมายหมายคือการใช้ข้อมูลนำระบบ AI สื่อสารกับประชาชน ซึ่งประชาชนถามตอบได้ ด้วยระบบ AI มีผู้เชี่ยวชาญช่วยตรวจสอบ เรียกว่า Citizen Science
วัตถุประสงค์โครงการ เบื้องต้นเสนอให้สังคมได้รับรู้ก่อนคือ เรื่องนิติวิทยาศาสตร์ สารพิษปนเปื้อนแม่น้ำกกจากเมียนมาคืออะไร และประเมินความรุนแรงปัญหาปัจจุบัน จากการเก็บตัวอย่างน้ำ พืช ปลา ในพื้นที่ต้นน้ำกก อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ กลางน้ำกก อ.เมือง จ.เชียงราย และปลายน้ำกก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย รวม 15 จุด และนำตัวอย่างวิเคราะห์
การวิจัยด้วยเทคนิคนิติวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมชี้ชัดว่า การปนเปื้อนสารหนูและโลหะหนักในแม่น้ำกกมาจากแร่หายาก (Rare Earth) ในประเทศเมียนมา 69.7 เปอร์เซ็นต์ และเหมืองทองคำ 30.3 เปอร์เซ็นต์ โดยมีการเจือจางตามธรรมชาติระยะทาง
ผลการวิจัยพบ : สารหนูน่าจะมาจากการทำเหมืองแร่หายาก มากกว่าเหมืองทองคำ
รศ.ดร.ธนพล กล่าวว่า เมื่อนำตัวอย่างวิเคราะห์ลายนิ้วมือมาจากเหมืองแร่พบว่า มาจากเหมืองแร่หายาก เช่น แร่ทอเรียม (Thorium) ดิสโพรเซียม Dysprosium ยูเรเนียม (Uranium) ส่วนมากจากเหมืองทอง เช่น ตะกั่ว (Lead) ทองแดง (copper)
การปนเปื้อนสารหนูสัมพันธ์กับตัวชี้วัดการทำเหมืองแร่ หายากมีประมาณ 69.7 % ในขณะที่สัมพันธ์การทำเหมืองทองมีส่วนร่วม 30.3 %
เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลน้ำทิ้งจากเหมืองแร่หายาก ในเมียนมา 2 พื้นที่ พบว่า ลักษณะองค์ประกอบทางเคมี (โลหะและกึ่งโลหะ) ของน้ำปนเปื้อนในแม่น้ำกก มีความคล้ายกับองค์ประกอบทางเคมีของน้ำทิ้งจากเหมืองแร่หายากประมาณ 68.5 % โดยแม้การปนเปื้อนในแม่น้ำกกเจือจางกว่า แต่ยังมีสัดส่วนสารปนเปื้อนคล้ายกัน บ่งชี้ถึงการเจือจางตามธรรมชาติ จากการเคลื่อนที่ในระยะไกลในแหล่งน้ำผิวดิน
ดร.ธนพล กล่าวอีกว่า สถานการณ์ปัจจุบันยังปลอดภัย แต่ต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการใช้น้ำใต้ดินระดับตื้น การบริโภคพืชผัก และปลา แต่ความเสี่ยงอาจจะเกินระดับที่ยอมรับได้ในอนาคต หากไม่ดำเนินการหยุดการปลอดปล่อยจากแหล่งกำเนิด ซึ่งพบสัญญาณเตือนจากปลาป่วยผิดปกติจากการปนเปื้อนโลหะและกึ่งโลหะในแม่น้ำ ทำให้ปลาอ่อนแอและติดเชื้อง่าย เป็นตัวบ่งชี้ความเสี่ยงต่อระบบนิเวศ
ปลาและพืช ยังบริโภคได้หรือไม่ ?
รศ.ดร.ธนพล กล่าวถึงผลการที่พืชผักยังไม่ปนเปื้อนสูง จนทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพเกินระดับที่ยอมรับได้ใน ขณะนี้เป็นเพราะการปนเปื้อนในแม่น้ำกกเพิ่งเริ่มต้น โลหะหนักต้องใช้เวลาการสะสมในดิน จากการรดน้ำปนเปื้อนเพื่อการเกษตร หรือจากน้ำไหลท่วมล้นตลิ่งจนดินปนเปื้อนสูง ถึงจะถ่ายเทสู่พืช โดยเฉพาะส่วนที่กินได้
ทั้งนี้หากการปนเปื้อนในน้ำยังคงดำเนินต่อไป การสะสมของโลหะและกึ่งโลหะพิษในดินและเนื้อเยื่อพืช อาจเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัยของพืชอาหารได้ในอนาคต
ส่วนผลตรวจปลา รศ.ดร.ธนพล ระบุว่า เนื้อปลาจะยังถือว่าปลอดภัยตามมาตรฐานทั่วไป แต่ควรมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และพิจารณาข้อแนะนำพิเศษสำหรับกลุ่มเสี่ยง เพราะความเข้มข้นของโลหะและกึ่งโลหะในเนื้อปลานั้น ยังไม่เกินค่ามาตรฐาน แต่ในบางกรณีเกินในลำไส้
ซึ่งผลจากงานวิจัยด้านพัฒนาการของเด็กที่แสดงให้เห็นว่า ค่าปรอทที่จะไม่ส่ง ผลกระทบต่อความฉลาดทางปัญญา (IQ) ของเด็กทารกและเด็กเล็ก คือ 0.3 มก./กก. ซึ่งค่าปรอทสูงสุดที่พบในเนื้อปลาจากการศึกษานี้ (0.25 มก./กก.) อยู่ใกล้เคียงกับเกณฑ์นี้อย่างมาก
การที่ค่าปรอทในเนื้อปลาบางตัวอย่างเข้าใกล้ระดับที่อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กเป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญ โดยเฉพาะสำหรับหญิงตั้งครรภ์ และเด็กเล็กที่มีความไวต่อผลกระทบของปรอทมากกว่าผู้ใหญ่
ดร.ณัฐวุฒิ เจริญผล สาขาพยาธิวิทยากายวิภาค ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ระบุถึง “ปลาแค้ป่วย” มีสัมพันธ์กับสารพิษที่พบจากการเจาะเลือดพบปริมาณเม็ดเลือดขาวสูงมาก โดยเฉพาะแบบเรื้อรังและเกิดขึ้นมาสักระยะ นอกจากนี้ยังพบเม็ดเลือดแดงผิดปกติหลายอย่าง ส่วนรายละเอียดในเซลล์ปลา ไมโครนิวเคลียส อาจเกิดสารพิษโลหะหนักมากระตุ้นให้เกิดพิษจากพันธุกรรม
ตัวชี้วัดทางชีวภาพ (ปลาแค้) เตือนว่า เกิดความเสี่ยงต่อระบบนิเวศ แหล่งน้ำผิวดิน ควรต้องเร่งป้องกันแก้ไขปัญหา
ปลาทั้งหมด 43 ตัวอย่าง (จากปลา 22 ตัว) พบปลาที่มีรอยโรคผิดปกติ 3 ตัวอย่าง (จาก 2 ตัวปลา) ซึ่งคิดเป็นอัตราการป่วย 9.1 % จากตัวอย่างที่คณะวิจัยได้มา
รศ.ดร.ธนพล เสนอแนวทางแก้ปัญหานอกจากการเจรหยุดแหล่งกำเนิด ในประเทศอาจต้องพัฒนาแบบจำลองคอมพิวเตอร์และประเมินสถานการณ์ “ระบบวิทยาศาสตร์พลเมืองเสริมปัญญาประดิษฐ์” มีแพลตฟอร์มดิจิทัลแบบเปิดให้ประชาชนรายงานการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม ระบบ AI แปลผลทางวิทยาศาสตร์ให้ความรู้ เข้าใจง่ายแก่ประชาชน เพื่อระบบเตือนภัยล่วงหน้าจากทั้งสารพิษและน้ำท่วม โดยใช้กลไกการสังเกตของประชาชน การมีส่วนร่วมของชุมชน เน้นกลไกการทำงานร่วมกันภาครัฐ ภาคประชาคมวิจัย และประชาสังคม
ด้าน น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย เปิดเผยกับไทยพีบีเอสว่า หลังวันนี้ได้รับฟังผลการวิเคราะห์โดยวิธีทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องการปนเปื้อนเป็นที่น่าพอใจ ได้สั่งการให้จังหวัดเชียงรายและคณะ ร่วมทำงานร่วมกับ สกสว. ซึ่งผลการตรวจแม่น้ำกกที่ได้รับมีความสอดคล้องกับหน่วยงานภาครัฐที่ทำก่อนหน้านี้ เช่น กรมควบคุมมลพิษ กรมการเกษตร โดยข้อมูลค่อนข้างไปในทิศทางเดียวกัน
ข้อมูลที่ได้วันนี้โดยเฉพาะระบบการใช้ AI เซ็นเซอร์ จะทำให้ระบบการทำงานของหน่วยงานภาครัฐมีความสมบูรณ์มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสารการวัดสารปนเปื้อนในน้ำ มีระดับที่จะสามารถเตือนได้แบบทันทีซึ่งเป็นการนำวิทยาศาสตร์เข้ามาเป็นตัวช่วย
การเก็บตัวอย่างของภาครัฐค่อนข้างที่จะมีความครบถ้วน แต่ยอมรับมีปัญหาเรื่องการสื่อสารให้กับประชาชนสิ่งที่ สกสว. เพิ่มเข้ามาคือความรวดเร็ว เดิมอาจใช้วิธีถามและมาตอบ แต่ถ้าระบบ AI สำเร็จ ประชาชนจะสามารถรับทราบข้อมูลอย่างทันที และครอบคลุม ไปถึงการแจ้งเตือนเรื่องดินถล่มด้วย
ส่วนความคืบหน้าการเจรจากับทางการเมียนมาแก้ปัญหาที่ผ่านมา รัฐบาลนำเรื่องปัญหาสารพิษข้ามพรมแดนมาพูดคุยในทุกเวที และนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปที่กรุงเนปิดอว์ ประเทศเมียนมา ตอนนี้ยังอยู่ระหว่างที่กระทรวงการต่างประเทศติดตามสอบถามอยู่
รายงาน : โกวิทย์ บุญธรรม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคเหนือ
อ่านข่าว : "พิชัย" เผยไทยยื่นข้อเสนอเพิ่มให้สหรัฐฯ พิจารณาแล้ว
ผ่อนผัน "แรงงานต่างด้าว" ใบอนุญาตหมดอายุ อยู่ไทยได้จนกว่าเปิดด่านปกติ
"หมอตุลย์" ยื่นหนังสือ ผบ.ตร. ค้านเลื่อนขั้น 2 นายตำรวจโยงชั้น 14