ฉุดกระแส ‘ส้ม’ ล่ม ‘นิรโทษ 112’ ปิดทางรอด ‘ธนาธร-44 สส.’?
เป็นอันว่าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับของพรรคประชาชน (ปชน.) และภาคประชาชน 2 ฉบับ ที่ถูกยื่นเข้าสภาฯ และที่ประชุมสภาฯในวันนี้มีมติเสียงข้างมาก ไม่รับหลักการในวาระ 1 ทำให้ทั้ง 2 ร่างกฎหมายดังกล่าวต้องพ้นจากสภาฯ ไปนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง ทำเอา “พรรคส้ม” เข้าตาจนเต็ม ๆ
เนื้อหาสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของทั้ง “พรรคส้ม-ภาคประชาชน” ดังกล่าว ถูก สส.ส่วนใหญ่ในสภาฯ มองว่า เปิดช่องให้มีการ “ล้างผิด” ผู้ถูกกล่าวหา-จำเลยใน “คดีหมิ่นสถาบันฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้ ซึ่งเรื่องนี้เกือบทุกพรรคการเมืองมีจุดยืน“ไม่แตะต้อง”มาตั้งแต่แรก ยกเว้น “พรรคส้ม” ที่ประกาศชนเพดาน “ปฏิรูป” มาตั้งแต่ก่อร่างสร้าง “พรรคอนาคตใหม่”
ขณะเดียวกัน อีก 3 ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จาก พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) พรรคกล้าธรรม และพรรคภูมิใจไทย กลับผ่านสภาฯฉลุย เสียงมติเสียงข้างมากค่อนข้างท่วมท้น ซึ่งทั้ง 3 ร่างดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ล้วนเปิดช่อง “ล้างผิด” ให้กับ “พรรคพวก” ตัวเองที่เสียผลประโยชน์ จากการร่วมชุมนุมทางการเมืองในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เช่น การชุมนุมของ กปปส. หรือแม้แต่บางฉบับเปิดช่องเอื้อให้มีการล้างผิดจากกฎหมายเลือก สว. ซึ่งถูกมองว่า อาจล้มกระดานการตรวจสอบคดีฮั้ว สว.ในขณะนี้อยู่ก็เป็นไปได้
ประเด็นที่น่าสนใจ ความพยายามผลักดันของพรรค ปชน.ในการ “ขอร้อง” ให้สภาฯรับหลักการร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทุกฉบับ 5 ร่างเอาไว้ก่อน แล้วค่อยไปถกเถียงเรื่องเปิดช่องล้างผิด มาตรา 112 ไม่เป็นผล ไม่ว่าจะใช้วิธีการ “ประนีประนอม” จาก “เท้ง ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ” สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรค ปชน. พูดโน้มน้าวทุกพรรคว่า ถึงแม้จะไม่เห็นด้วย แต่ขอให้โหวต “งดออกเสียง” เพื่อคงสภาพร่างกฎหมายดังกล่าวให้อยู่ในสภาฯไว้ก่อน
เช่นเดียวกับ “ไอติม” พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ ปชน.หนึ่งในโต้โผที่ร่วมผลักดันร่างกฎหมายหลายฉบับของ “พรรคส้ม” ให้สัมภาษณ์ รวมถึงแสดงจุดยืนหลายครั้งว่า การนิรโทษกรรมจะต้องดำเนินการกับ “ทุกฝ่าย” และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งหมายรวมถึงบุคคลที่ต้องคดีตามมาตรา 112 ด้วย ต้องเปิดทางสู่การรับฟังและหาทางออกร่วมกัน ไม่ใช่การตัดสินแบ่งแยก
ขณะที่ “ทนายแจม” ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กทม. พรรค ปชน. โต้โผหลักที่จัดทำเรื่องนี้ เปิดเผยเบื้องหลังถูกวางตัวเป็น “มือดีล” คุยกับ สส.ต่างพรรค เพื่อขอให้สนับสนุนร่างนิรโทษกรรม ที่เปิดช่องรวมคดีตามมาตรา 112 เล่าไว้น่าสนใจว่า ยอมรับว่าเป็นความพยายามตั้งแต่ตอนนั่งใน กมธ.วิสามัญศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ทั้งในตอนประชุม หลังประชุม นอกเวลาประชุม วันชี้แจงรายงานฯในสภาผู้แทนราษฎร ตลอดจนวันที่ต้องไปพูดคุยเพื่อขอให้โหวตรับข้อสังเกต
“ทนายแจม” อ้างว่า ได้รับข้อความคล้าย ๆ กันจาก สส.หลายคนว่า “เห็นใจนะ แต่ทำไม่ได้หรอก เรื่องคดีมาตรา 112 เนี่ย กลัวจะโดนยุบพรรค ขนาดแค่แก้ไขกฎหมายยังถูกยุบเลย” บางคนก็บอกว่า “น้องแจมไปคุยกับข้างบนสิ” หรือ “เสนอแนวทางให้ไปขออภัยโทษแทน”
“สิ่งที่แทบทุกคนพูดตรงกัน นั่นคือ “เอาคนกลุ่มใหญ่ออกมาก่อน เอาบางส่วนก่อน ที่เหลือค่อยว่ากันทีหลัง” บางคนเห็นแก่ตัวยิ่งกว่า ด้วยการสื่อสารว่า “ของพวกพี่ออกมาจากคุกกันหมดแล้ว ไม่เดือดร้อนอะไร” ก็มี” ทนายแจม ระบุ
ด้วย “สัญญาณ” ต่าง ๆ เหล่านี้ค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่า ยังไม่มีการเปิดทาง “ไฟเขียว” เพื่อหารือคดีเกี่ยวกับมาตรา 112 ทั้งในสภาฯ-นอกสภาฯในเวลานี้ เนื่องจาก
1.คดีตามมาตรา 112 ถูกมองว่าเกี่ยวข้องพัวพันกับกรณีหมิ่นเบื้องสูง ถ้านักเลือกตั้งเข้าไปเกี่ยวข้อง อาจถูก “นิติสงคราม” เล่นงาน จนต้องถูก “ยุบพรรค” ซ้ำรอย “พรรคอนาคตใหม่-ก้าวไกล” ก็เป็นไปได้
โดยประเด็นนี้ถูก “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการคณะก้าวหน้า ศาสดาพรรคส้ม ให้ความเห็นไว้คล้าย ๆ กันว่า บรรดาพรรคการเมืองยุคนี้ขี้ขลาด ไม่กล้าโหวตหนุนร่างนิรโทษกรรม ที่รวมคดีตามมาตรา 112 เพราะกลัวถูกริบ “ใบอนุญาต” ให้ร่วมรัฐบาล
2.นอกจากโดน “นิติสงคราม” เล่นงานแล้ว บางคนยังกังวลว่า การหนุนร่างนิรโทษกรรม มาตรา 112 อาจเอื้อประโยชน์ให้ “พรรคส้ม” ที่มีชนักปักหลังเป็น 44 อดีต สส.ก้าวไกล ซึ่งถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวน กรณีกล่าวหาว่าฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง ปมร่วมลงชื่อเสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ตั้งแต่ 3 ปีก่อน แถม “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ศาสดาสีส้มอีกคนหนึ่ง ก็ยังถูกคดีมาตรา 112 จากการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องจัดซื้อวัคซีนช่วงโควิด-19 ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล
นอกจากนี้ “พรรคแดง” ก็ยังมีชื่อของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ถูกศาลอาญา ไต่สวนคดีถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 จากการให้สัมภาษณ์สื่อเกาหลีใต้ ส่อเข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูง เมื่อปี 2558 ดังนั้นหาก “พรรคแดง” โหวตหนุนร่างนิรโทษกรรม มาตรา 112 ด้วย อาจถูกมองว่าเปิดช่องเอื้อประโยชน์ให้ “นายใหญ่” เช่นเดียวกัน
แม้แกนนำพรรคส้มหลายคน จะออกมาการันตีว่า การนิรโทษกรรมมาตรา 112 นั้น บุคคลที่เกี่ยวข้องเช่น ธนาธร หรือ 44 อดีต สส.ก้าวไกล จะปฏิเสธไม่รับเงื่อนไขการนิรโทษกรรม แต่สาเหตุที่ทำไปเพื่อช่วยเหลือกลุ่มมวลชนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองอย่างเดียวก็ตาม ก็ยังไม่อาจสร้างความเชื่อใจแก่ “ชนชั้นนำ-นักเลือกตั้ง” ได้
แต่สถานการณ์ของ ปชน.ที่ยังเผชิญ “นิติสงคราม” ในเรื่องของ 44 อดีต สส.ก้าวไกล อยู่นั้น ก็อยู่ในสภาวะ “กลืนไม่เข้า คายไม่ออก” เพราะไม่สามารถ “ออกหน้า” เรื่องมาตรา 112 แบบสุดโต่งเหมือนเมื่อครั้งเป็น “พรรคอนาคตใหม่-ก้าวไกล” ได้แล้ว เนื่องจากติดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณียุบพรรคก้าวไกล มีนโยบายหาเสียงแก้ไขมาตรา 112 เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ซึ่งระบุไว้ค่อนข้าง “คลุมเครือ” ในประเด็นนี้ว่า ปัจจุบันสามารถพูดเรื่องนี้แบบสาธารณะได้มาก-น้อยแค่ไหน
ต้องไม่ลืมว่า “พรรคส้ม” ถูกนิติสงครามเล่นงานมาแล้วไม่นับไม่ถ้วน แม้ว่าพรรคจะเพิ่งตั้งได้แค่ 7 ปี ถูกยุบไปแล้วถึง 2 ครั้ง และ “แกนนำ-สส.” มีคดีติดตัวจำนวนมาก โดยเฉพาะคดีชุมนุมทางการเมือง และบางคนมีคดีตามมาตรา 112 เช่น “ไอซ์” รักชนก ศรีนอก สส.กทม. “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ สส.กทม. “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว สส.ปทุมธานี เป็นต้น
แม้ปัจจุบัน “พรรคส้ม” ในยานพาหนะคันที่ 3 อย่าง ปชน.จะพยายามกู้ภาพลักษณ์ โฟกัสไปที่เรื่องปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และมีแซมประเด็นเศรษฐกิจ-ปากท้องมาบ้างก็ตาม จนเริ่มติดตลาด “ด้อมส้มป้ายแดง” แต่อาจไม่ถูกใจ “ด้อมส้มยุคเก่า” ที่ถูกฝังหัวเรื่องแก้มาตรา 112 มากนัก
ตอนนี้พรรคส้ม จะ “เดินหน้า” หาเสียงนโยบายเกี่ยวข้องกับมาตรา 112 ก็รู้ว่าติดเงื่อนไขในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา และนำไปสู่การยื่น “ยุบพรรค” เป็นรอบที่ 3 หรือไม่ หรือจะ “ยอมถอย” เหมือนตอนลบนโยบายแก้ไขมาตรา 112 ออกจากเว็บไซต์ ก็ถูก “ด้อมส้ม-มหามิตร” กระหน่ำโจมตี วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเรื่องจุดยืนอีก
เส้นทางของ“พรรคส้ม” หลังจากนี้จะเป็นเช่นไร จะยอม “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง” เล่นตามเกมการเมืองแบบเก่า หรือจะบุกป่าฝ่าดง รบในสมรภูมิ “นิติสงคราม” อีกรอบ ต้องรอติดตาม