กู่ไม่กลับ! ‘ธนาธร’ ชี้ทหารไม่ควรให้ความเห็นเรื่องชายแดน ต้องฟังรัฐบาลพลเรือน
"ธนาธร" เชื่อยังไม่สายเกินไป แก้ปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา ขอทั้งสองฝ่ายร่วมกันส่งเสียงดังๆ ต้องการความร่วมมือ-สันติภาพ แนะรัฐบาลต้องอดทน แม้ถูกยั่วยุ ย้ำโต๊ะเจรจา JBC ยังจำเป็น เพื่อทำให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ รับประชาชนเรียกร้องนายกฯที่เป็นทหาร เหตุรัฐบาลพลเรือนคุมสถานการณ์ไม่ได้
18 กรกฎาคม 2568 - ที่โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวผ่านรายการ Exclusive Talk : ผ่าทางตัน ซึ่งจัดโดยเครือเนชั่น ถึงปัญหาชายแดนไทย กัมพูชาในขณะนี้ คิดว่าจะบานปลายหรือไม่ หรือควรแก้ไขสถานการณ์อย่างไร ว่า ตนไม่กลัวเบื้องหลัง กลัวเบื้องหน้ามากกว่า ขอเกมของกัมพูชา คือต้องการสร้างความได้เปรียบในเวทีโลก ผ่านศาลโลก หรือกระบวนการของ UNGA UNHC ซึ่งเขาต้องการดันไปสู่จุดนั้น โดยใช้การสร้างความชอบธรรม
ดังนั้น สิ่งที่เขาต้องการคือการยั่วยุให้เกิดความรุนแรงอยู่แล้ว ท่าทีของรัฐบาลไทย หรือกองทัพไทย จึงต้องอดทนอดกลั้น เป็นผู้ใหญ่ และไม่ไปตกหลุมเขา เราต้องไม่เริ่มก่อน ไม่เช่นนั้นจะทำให้ความขัดแย้งก่อตัวขึ้น มีการปะทะ จนนำมาสู่การบาดเจ็บล้นตาย เกิดการใช้ความรุนแรง ซึ่งก็จะเข้าทางเขา
นายธนาธร มองว่า ความสำคัญของเรื่องนี้ ในวันนี้คือเบื้องหน้า ไม่ใช่เบื้องหลัง คือเราจะทำอย่างไร ให้สถานการณ์อ่อนลง ทำให้สถานการณ์กลับไปเป็นปกติได้เร็วที่สุด จึงจำเป็นต้องใช้รัฐบาลพลเรือน ผ่านกลไก JBC ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาพูดคุยกัน เพื่อทำให้สถานการณ์กลับมาเป็นปกติ
นายธนาธร ระบุว่า การที่สถานการณ์ตึงเครียด เป็นเพราะรัฐบาลพลาดในกรณีคลิปเสียง ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาทางการเมือง ซึ่งเป็นโจทย์ของตัวเอง จึงต้องทำท่าทีขึงขัง และนี่ก็เป็นสิ่งที่ตนกลัว เพราะถ้าทีขึงขังนี้ เกิดจากการที่ต้องการแก้ปัญหาทางการเมืองของตัวเอง แต่สิ่งที่เราต้องการคือต้องการลดความตึงเครียด ลดความรุนแรง ผ่านโต๊ะเจรจา เพราะหากเกิดอะไรขึ้น จะกลายเป็นข้ออ้าง ที่เขาสามารถใช้ในเวทีโลก และทำให้เราเสียเปรียบ
ส่วนแปลกใจหรือไม่ ที่ผลโพลล่าสุด ออกมาว่านายกรัฐมนตรีที่ประชาชนต้องการ คือพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา องคมนตรี และอดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นทหาร นายธนาธร ระบุว่า ตนติดใจเรื่องอื่นที่เกี่ยวข้องกัน มากกว่าเรื่องนี้ คือเรื่องการกลับเข้ามาไว้วางใจทหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่ตนกังวล เนื่องจากประเทศไทยมีความหลากหลายเยอะมาก หลายชาติพันธุ์ วัฒนธรรมเต็มไปหมด สิ่งที่เราต้องการคือสันติภาพ การอยู่ร่วมกัน การเคารพในตัวตน และศรัทธาของกันและกัน เราไม่ได้ต้องการสงคราม
ดังนั้น สิ่งที่ตนเป็นกังวลก็คือ การใช้ความรู้สึก หรือสถานการณ์มาสร้างอารมณ์ความรู้สึก ชาตินิยมที่ล้นเกิน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความเกลียดชังในสังคม เมื่อเมล็ดพันธุ์ของความเกลียดชังเบ่งบาน ก็จะเอาไม่ลง เพราะหากเมล็ดพันธุ์การแบ่งแยกผู้คน ที่ทำให้ผู้คนเกลียดกลัวกัน ระแวงกัน ด้วยการใช้ศาสนา ชาติพันธุ์ หรืออะไรก็ตาม มันนำมาสู่ ความเกลียดชังกันเอง ซึ่งไม่เป็นผลดีกับใคร และสิ่งที่สำคัญที่สุดคนที่เดือดร้อน คือคนตัวเล็กตัวน้อยหน้างานของทั้งสองฝั่ง แต่คนที่ปลูกฝังเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ และเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ จากการเบ่งบานของเมล็ดพันธุ์แห่งความเกลียดชัง ที่นั่งอยู่ที่กรุงพนมเปญ ที่กรุงเทพฯ ไม่ได้เสียอะไร
เมื่อถามว่า ไม่ได้คิดบ้างหรือว่าเนื่องด้วยสถานการณ์ทางการเมืองที่ประชาชนพึ่งพาไม่ได้เช่นนี้ จึงทำให้คนโหยหาทหาร นายธนาธร กล่าวว่า แน่นอนที่สุดเราไม่ปฏิเสธว่า การที่รัฐบาลตอบโต้กัมพูชาในช่วงหลายเดือนก่อน น้อยเกินไป ช้าเกินไป แน่นอน แต่ก็ไม่ใช่ข้ออ้าง
หากจะให้พูดกันตรงๆ คือทหารไม่สามารถออกมาให้ความเห็นเรื่องนี้ได้ และไม่ควรจะให้ความเห็น ต้องฟังรัฐบาลพลเรือน ซึ่งตนคิดว่าเรื่องนี้ สะท้อนปัญหาการเมืองไทย ว่ารัฐบาลพลเรือนไม่สามารถแก้ปัญหาสถานการณ์กองทัพได้ แม้ว่าขณะนี้ รัฐบาลพลเรือนจะแก้ข้อผิดพลาดด้วยการมอบอำนาจให้กับทหาร
"เรื่องนี้ยังไม่สายเกินไป ว่าเราต้องการสันติภาพ นี่คือพี่น้องกัน เดินข้ามถนน เดินข้ามพรมแดน ก็พี่น้องกันแล้ว ความร่วมมือจะนำมาซึ่งการสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงทางวัฒนธรรมที่ดีกว่า เราอยากเห็นความสัมพันธ์ของเรากับเพื่อนบ้านเป็นแบบนี้ ไม่ใช่เป็นความสัมพันธ์ที่เผชิญหน้ากัน ดังนั้น เราต้องส่งเสียงทั้งสองฝ่าย ว่าสิ่งที่เราแสวงหารร่วมกัน คือ ความร่วมมือ และสันติภาพ ไม่ใช่ความเกลียดชัง และสงคราม ส่งเสียงให้ดังๆ" นายธนาธร กล่าว