“ภาษีทรัมป์”ใกล้จบ ไทยเปิดฟรีสินค้ามะกัน!?
เมืองไทย 360 องศา
หากนับถึงเส้นตายใหม่ของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา ที่กำหนดเอาไว้ในวันที่ 1 สิงหาคม สำหรับประเทศไทยที่ถูกกำหนดจัดเก็บภาษีนำเข้าสหรัฐเอาไว้ที่ 36 เปอร์เซ็นต์ ทำให้หลายฝ่ายกำลังจับตามองว่าในที่สุดแล้ว ผลการเจรจาจะออกมาอย่างไร ไทยจะได้ส่วนลดเหลือกี่เปอร์เซ็นต์ หากเทียบกับประเทศเวียดนามและ อินโดนีเซีย ที่เพิ่งบรรลุข้อตกลงกับสหรัฐที่ 20 และ 19 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ จากเดิมที่ถูกเรียกเก็บ 46 และ 32 เปอร์เซ็นต์
โดยทั้งสองประเทศดังกล่าวข้างต้น คือ เวียดนาม และอินโดนีเซีย ที่ระบุว่าพวกเขาจะไม่เก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา หรือ ภาษีเป็นศูนย์ แม้ว่ายังไม่มีรายละเอียดออกมา แต่มีการเปิดเผยว่าทั้งสองประเทศยังรับปากที่จะสั่งซื้อสินค้าสหรัฐเป็นจำนวนมากอีกด้วย
สำหรับประเทศไทยล่าสุด นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หัวหน้า “ทีมไทยแลนด์” เปิดเผยว่า ในช่วงค่ำของวันที่ 17 กรกฎาคม เขาจะนำทีมเจรจากับ “ผู้แทนการค้าสหรัฐ” หรือ ยูเอสทีอาร์ อย่างเป็นทางการอีกอีกครั้ง ผ่านระบบวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ โดยเป็นการยื่นข้อเสนอที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ หลังจากได้รับฟังข้อเสนอมาจากทุกฝ่ายแล้ว เช่น การลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐหลายหมื่นรายการ เช่น และการซื้อสินค้าพลังงาน สินค้าเกษตร รวมไปถึงการเข้าไปลงทุนในสหรัฐ เป็นต้น โดย นายพิชัย หวังว่า ในที่สุดแล้วสหรัฐจะลดภาษีนำเข้าจากไทยต่ำกว่าที่ประกาศเอาไว้ที่ 36 เปอร์เซ็นต์
นายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า Trump สรุป tariff กับ Indonesia! อัตราภาษี 19% (จากเดิม 32%) โดยมีเงื่อนไขอินโดนีเซียเปิดตลาด 100% ให้ทุกประเภทสินค้าจากอเมริกา ปลอดภาษี 0% มีอัตราภาษี transshipment ต่างหาก
ส่วน EU ประกาศเตรียมมาตรการตอบโต้ USA ในกรณีที่เจรจาไม่สำเร็จ (อัตราภาษีที่ USA ประกาศว่าจะใช้คือ 30%) การตอบโต้จะมีในส่วนของอุตสาหกรรมบริการด้วย
อ่านเกมนี้ในกรณีของไทย 1. ยังมีเวลาเจรจาได้จริง 2. ข้อตกลงกับเวียดนามเป็นฐานในการเจรจา 3. หากไทยไม่เสนอเปิดตลาด 0% ไม่น่าจะมีดีลได้ หรือถ้าได้คือต้องโดนอัตราภาษีที่สูงกว่าทั้งอินโดและเวียดนาม 4. ทรัมป์ประกาศว่าได้คุยตรงกับประธานาธิบดี Probowo Subianto (ส่วนประธานาธิบดี Marcos jnr. ของฟิลิปปินส์มีแผนเดินทางไปพบทรัมป์อาทิตย์หน้า) ส่วนของเรายังไม่มีนายกรัฐมนตรีให้เขาคุยด้วย
5. พอ ASEAN ไม่ผนึกกำลังกัน อำนาจต่อรองของแต่ละประเทศแทบไม่มี เป็นบทพิสูจน์อีกครั้งในการขาดเอกภาพ (และแม้แต่มิตรภาพ) ในกลุ่ม ASEAN กันเอง 6. รัฐบาลไทยต้องตัดสินใจในสิ่งที่เป็นประโยชน์สูงสุดของคนไทยโดยรวม อย่ายอม lobbyist กลุ่มทุนใดๆเป็นกรณีพิเศษ เป็นการตัดสินใจที่ยาก ขอเป็นกำลังใจ 7. จากนี้ไปยุทธศาสตร์การพัฒนาตัวเองสำคัญที่สุด อินโดนีเซียและเวียดนามพร้อมรับการแข่งขัน 0% แต่เรายังทำไม่ได้ ตรงนี้ต้องพัฒนาร่วมกัน
อย่างไรรก็ดี นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.การคลัง ยอมรับว่ามีความเป็นไปได้ ที่ไทยอาจจะไม่ได้มีการลดอัตราภาษีนำเข้าที่ 0% ให้กับสหรัฐฯ แบบ 100% เหมือนหลายประเทศที่ได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากรัฐบาลต้องมองภาพใน 2 มิติ คือ ไม่ได้มองแค่ภาพของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคส่งออกอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังต้องพิจารณาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนทั้งประเทศด้วย
“ไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ สิ่งที่เราจะไปลดภาษีลงนั้น ต้องแลกมาด้วยสิ่งที่เราจะต้องเปิดมากขึ้น นั่นหมายถึงจะมีผู้เดือดร้อนมากขึ้น เพราะฉะนั้นโจทย์สำคัญคือการสร้างความสมดุล หาจุดสมดุล ต้องชั่งน้ำหนักทั้ง 2 ฝั่ง ทั้งฝั่งผู้ส่งออก และฝั่งประชาชนในประเทศ ซึ่งประกอบด้วยผู้ส่งออก พี่น้องเกษตรกร ผู้เลี้ยงปศุสัตว์ เอสเอ็มอีรายย่อย ต้องพิจารณาผลกระทบทุกภาคส่วนให้ครบ โดยเรื่องการลดภาษีให้ 0% นี้อยู่ในกระบวนการ แต่มองว่าเราจะต้องมีส่วนที่กันไว้สำหรับประชาชนในประเทศ ผู้ที่ผลิตสินค้าในประเทศ ถ้าหากเราเปิดอะไรที่มากเกินสมควร ก็จะทำให้มีสินค้าเข้ามาแข่งขัน ทำให้ผู้ประกอบการในประเทศได้รับผลกระทบเช่นกัน ดังนั้นก็อาจจะต้องมีบางส่วนที่เราสามารถกันไว้สำหรับสินค้ายุทธศาสตร์ของประเทศ” นายเผ่าภูมิ กล่าว
นายวิวรรธน์ ไกรพิสิทธิ์กุล สว.ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่อินโดนีเซียยอมหั่นภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ เหลือ 0% ซึ่งส่งผลให้สหรัฐฯ ลดภาษีให้เหลือ 19% จาก 32% ว่า ตนมีความเห็นว่าการเลียนแบบกลยุทธ์ของอินโดนีเซียและเวียดนามที่ยอมทุกอย่างนั้น จะส่งผลกระทบต่อ SME ของไทยอย่างมหาศาล โดยเฉพาะในภาคเกษตรและปศุสัตว์ ซึ่งเป็นห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญของประเทศ หากเปิดเสรีมากเกินไป จะทำให้ SME ไทยที่อยู่ในภาวะลำบากอยู่แล้วจากการที่เศรษฐกิจตกต่ำมาหลายปี ยิ่งประสบปัญหาหนักขึ้นไปอีก จนอาจถึงขั้นล้มหายตายจาก และกระทบถึงความมั่นคงทางทหารของประเทศได้
“ผมคิดว่าการเจรจาที่เปิดให้ซะหมดเลย แล้วไม่ได้มองถึง SME ของชาติ ของประชาชนที่กำลังลำบาก เพราะเศรษฐกิจของเราตกต่ำมาหลายปี เราต้องแก้ไขเรื่อง SME ให้สามารถอยู่รอดได้ เพราะหนี้สาธารณะเราเยอะ แม้มูลค่าการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ จะอยู่ที่ 1.9 ล้านล้านบาท คิดเป็น 18% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด แต่เมื่อเทียบกับเวียดนามที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ถึง 30% ผมคิดว่าไทยไม่ควรเลียนแบบเวียดนาม เนื่องจากต้องต่อรองในหลายสิ่งที่ไทยเสียเปรียบ ซึ่งจะกระทบกลุ่ม SME หรือความมั่นคงของภูมิภาค นายวิวรรธน์กล่าว
ดังนั้น นาทีนี้ สิ่งที่ต้องจับตากันก็คือ “ทีมไทยแลนด์” จะสามารถลดภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐ 0 เปอร์เซ็นต์ ได้กี่รายการ และประเภทไหนบ้าง ณะเดียวกันยังต้องจับตาอีกว่า สหรัฐมีเงื่อนไขในเรื่อง “ความมั่นคง” พ่วงเข้ามาด้วย แล้วไทยจะหาทางออกอย่างไร
อีกทั้งยังต้องติดตามอีกว่า ในการเจรจากับสหรัฐอเมริกา นี่อาจเป็นครั้งแรกเมื่อเปรียบเทียบกับอีกหลายประเทศ ไม่ว่าจะเริ่มจากแม็กซิโก แคนาดา อังกฤษ เรื่อยมาจนกระทั่งในเอเซีย ญี่ปุ่น จีน เวียดนาม และอินโดนีเซีย เป็นต้นที่เพิ่งปิดดีลกันไป นั้น ในที่สุดแล้วขั้นตอนสุดท้าย ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จะเป็นคนชี้ขาด รวมไปถึงการต่อสายหรือการเจรจาโดยตรงกันกับ “ผู้นำสูงสุด” ทั้งสิ้น หรือแม้แต่กับฟิลิปปินส์ ก็มีคิวของประธานาธิบดี เฟอร์ดินัน มาร์กอส จูเนียร์ จะเดินไปทางเจรจาด้วยตัวเองที่กรุงวอชิงตันในสัปดาห์หน้า
เมื่อหันกลับมาไทยในช่วงที่ นายกรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ถูกสั่งพักการปฏิบัติหน้าที่นายรัฐมนตรี แล้ว ประธานาธิบดีทรัมป์จะยกหูคุยกับใคร กับ รักษาการนายกรัฐมนตรี นายภูมิธรรม เวชยชัย หรือ กับ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่เป็นหัวหน้าทีมไทยแลนด์ แต่ที่ผ่านมาก็ยังได้เจรจากันในระดับผู้แทนการค้าสหรัฐเท่านั้น แม้ว่าจะรับรู้ว่านี่คือการเจรจาในรายละเอียดก็ตาม
แต่คำถามก็คือ ในที่สุดแล้ว หากมีการยกหูคุยกันแล้ว “ทรัมป์” จะคุยกับใคร จะคุยกับ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หรือไม่ คำถามก็คือ ในฐานะอะไร ในฐานะ “เพื่อนเก่า” ตามที่อ้างหรือไม่ ทำให้น่ากังวลว่า ไทยอยู่ในภาะที่ยากลำบากมากทีเดียว
อย่างไรก็ดีเวลานี้เชื่อว่าหลายคนกำลังลุ้นกันอยู่ว่า ในที่สุดแล้วการเจรจาขั้นสุดท้ายก่อนถึงเส้นตายวันที่ 1 สิงหาคม ไทยจะได้รับการลดหย่อนภาษีนำเข้าสหรัฐลงมากี่เปอร์เซ็นต์ จากที่ขู่เอาไว้ว่าจะจัดเก็บที่ 36 เปอร์เซ็นต์ เพราะหากยังคงเดิม หรือเก็บมากกว่า เวียดนาม และอินโดนีเซีย โดยเฉพาะจัดเก็บไทยมากกว่าเวียดนามที่ได้ร้อยละ 20 แล้วละก็ถือว่า มีความเสี่ยงหายนะแน่นอน เพราะทำให้ “การแข่งขัน” ของเราสู้เขาลำบาก การลงทุนก็จะหนีไปอีก
ขณะเดียวกันหากเราเปิดนำเข้าสินค้าบางรายการ เช่น สินค้าเกษตรให้เข้ามาในอัตราภาษี 0 เปอร์เซ็นต์ ไม่ว่าจะเป็น เนื้อหมู เนื้อวัว รวมไปถึงอีกบางรายการ ก็จะส่งผลกระทบต่อเกษัตรกรภายในประเทศ และที่น่าเป็นห่วงก็คือบรรดาธุรกิจเอสเอ็มอีทั้งหลายที่ต้องได้รับผลกระทบหนักถึงขั้นต้องล้มหายตายจากกันเลยทีเดียว
อย่างไรก็ดีที่น่าเป็นห่วงไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากันก็คือเงื่อนไข “ด้านความมั่นคง” ที่ตามรายงานที่ยืนยันว่าทางฝ่ายสหรัฐ “ขอตั้งฐานทัพ” ในประเทศไทย “ฝั่งอันดามัน” คือ เล็งพื้นที่จังหวัดพังงา นอกจากนี้ยังมีเรื่อง “มาตรา 112” ที่อ้างในเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น มากดดันต่อรองไทย
ดังนั้น เมื่อพิจารณากันในภาพรวมและสภาพเท่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้ สำหรับ “ทีมไทยแลนด์” ที่นำโดย นายพิชัย ชุณหวชิร ถือว่ารับภาระหนักหน่วง และภายใต้แรงกดดันมหาศาล ที่สำคัญยังเป็นช่วงที่ “ไร้หัว” คือ ไร้ตัวนายกฯที่ปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ หรือหากยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในเวลานี้ ด้วยคำถามเรื่องความสามารถ ยิ่งอาจจะน่าเป็นห่วงกว่าเดิม แต่ถึงอย่างไรได้แต่หวังว่า ผลที่ออกมาอย่างน้อยน่าจะใกล้เคียงกับเวียดนาม ส่วนหากยอมเปิดทางสินค้าอเมริกาแบบศูนย์เปอร์เซ็นต์ แบบนั้นก็หายนะ รวมไปถึงเรื่องความมั่นคง ฐานทัพ ที่ “ชักศึกเข้าบ้าน” ป่วนแน่ !!
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO