สอดแล้วหนึ่ง! รมต.อินเดียประกาศหนุนสิทธิ ‘ทะไลลามะ’ ตั้งผู้สืบทอดไม่ต้องแคร์ ‘จีน’
รัฐมนตรีอาวุโสคนหนึ่งของอินเดียระบุวานนี้ (3 ก.ค.) ว่า มีเพียงทะไลลามะ (Dalai Lama) และองค์กรที่พระองค์ก่อตั้งขึ้นเท่านั้นที่มีอำนาจในการระบุตัวผู้สืบทอดตำแหน่งผู้นำจิตวิญญาณชาวพุทธทิเบต ซึ่งถือเป็นการออกมาแสดงความเห็นคัดง้างจุดยืนของรัฐบาลจีนที่มีมายาวนาน
ทะไลลามะซึ่งหลบหนีไปยังอินเดียในปี 1959 หลังความพยายามลุกฮือต่อต้านจีนล้มเหลว ตรัสในวันพุธที่ผ่านมา (2) ว่า หลังจากที่พระองค์สิ้นพระชนม์ไปแล้ว จะทรงกลับชาติมาเกิดใหม่เป็นผู้นำจิตวิญญาณคนต่อไป และมีเพียงองค์กร Gaden Phodrang Trust เท่านั้นที่จะสามารถระบุตัวตนของผู้สืบทอดได้
ก่อนหน้านี้ ทะไลลามะเคยประกาศว่า ผู้นำจิตวิญญาณชาวทิเบตคนใหม่จะถือกำเนิด “นอกดินแดนจีน”
ด้านปักกิ่งอ้างว่า สิทธิในการคัดเลือกผู้สืบทอดตำแหน่งทะไลลามะเป็นของรัฐบาลจีน โดยเป็นธรรมเนียมที่ทำมาตั้งแต่ยุคสมัยจักรพรรดิ
คิเรน ริจีจู (Kiren Rijiju) รัฐมนตรีฝ่ายรัฐสภาและกิจการชนกลุ่มน้อยของอินเดีย ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี (3) ก่อนจะออกเดินทางไปเฝ้าทะไลลามะที่เมืองธรรมศาลา เนื่องในโอกาสที่จะทรงมีพระชนมายุครบ 90 ปีในวันอาทิตย์นี้ (6)
“ไม่มีบุคคลใดมีสิทธิแทรกแซงหรือตัดสินใจว่าผู้สืบทอดของทะไลลามะจะเป็นใคร” ริจีจู ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน
“มีเพียงพระองค์และสถาบันของพระองค์เท่านั้นที่มีอำนาจตัดสินใจ สาวกของพระองค์เชื่อมั่นในเรื่องนี้ และเป็นสิ่งสำคัญต่อสาวกทั่วโลกที่จะต้องให้ทะไลลามะทรงเป็นผู้เลือกเอง”
ด้านกระทรวงการต่างประเทศอินเดียยังไม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นใดๆ เกี่ยวกับแผนการแต่งตั้งผู้สืบทอดของทะไลลามะ
อินเดียมีชาวพุทธทิเบตอาศัยอยู่หลายหมื่นคน ซึ่งต่างก็มีเสรีภาพในการศึกษาและประกอบอาชีพ ชาวอินเดียส่วนใหญ่ยังให้ความเคารพต่อองค์ทะไลลามะ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเชื่อว่า การที่พระองค์ประทับอยู่ในอินเดียถือเป็นหมากตัวสำคัญที่นิวเดลีจะใช้ต่อรองกับปักกิ่งได้
ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและอินเดียเคยตึงเครียดหนักหลังเกิดเหตุการณ์ปะทะบริเวณแนวพรมแดนเมื่อปี 2020 ก่อนที่รัฐบาลทั้ง 2 ฝ่ายจะเริ่มกลับมาฟื้นฟูความสัมพันธ์กันอีกครั้ง
ที่มา: รอยเตอร์
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO