เสียงที่ไม่มีใครได้ยินจากเด็กน้อยเมาคลี และบ้านที่สอนว่าควรเป็นใครอื่น หาใช่เป็นตัวเอง
ไดอารีของคามาลา
ณ ริมป่าลึกในประเทศอินเดีย มุดเข้าไปยังถ้ำหนึ่งที่โพรงอุ่นกว่าถ้ำไหนๆ หนูกำลังคลานอยู่ข้างเด็กคนหนึ่งที่มีหน้าตาคล้ายหนู เราต่างกันเพียงส่วนสูงและความยาวเส้นผม คราวนั้นหนูเองก็ไม่แน่ใจว่าเธอชื่ออะไร แต่ข้างในส่งเสียงร้องว่า “อามาลา’ เธอน่าจะชื่ออามาลา
เราไม่เคยพูดกันออกมาเป็นคำๆ เลย เราแค่ใช้วิธีกอดกันในคืนฝนตก ครางเบาอย่างหวาดกลัว เมื่อความมืดมิดปกคลุม ลมหายใจแผ่วที่มีไออุ่นๆ ระเหยปะปน คอยบอกหนูได้ว่าอามาลายังอยู่ตรงนี้ และอีกคนหนึ่งที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้ เขาไม่ได้เหมือนหนูกับอามาลาหรอกนะ เพราะเขาตัวใหญ่กว่ามาก หางยาวฟูเป็นพุ่ม ลิ้นยาวมากเลยด้วย ทุกครั้งที่เขาส่งเสียงร้องอยู่นอกถ้ำ มันถึงได้ดังสนั่นจนน่าหวาดกลัว แต่หลังจากอุ้งเท้าเหยียบเข้ามาในถ้ำเปียกชื้น เขาจะมาพร้อมกับของฝากเล็กๆ เสมอที่ทำให้หนูกับอามาลาอิ่มท้อง
คราวที่ฟ้าแลบสว่างวาบผ่าลงมา พุงของเขาจะแผ่ออก ค่อยๆ ม้วนตัวหนูกับอามาลาให้เข้าไปซุกในขนนุ่มๆ นั้น นัยน์ตาสัตว์ล่าเนื้อที่เขามี กลายเป็นความใจดีล้อมรอบหนูไว้ เราทั้งสามออกวิ่งเล่นไปทั่วทั้งป่า พันใบไม้เป็นมงกุฎ เก็บดอกไม้มาเสียบข้างหูจนส่งกลิ่นหอมฟุ้ง หลับตาพริ้มแทะผลไม้สุก แลบลิ้นแหยะเมื่อเผลอแทะถูกผลดิบ
หนูรักป่า รักเสียงนกร้อง รักพวกเขาทั้งสอง
แต่แล้ววันหนึ่ง เสียงนอกถ้ำนั้นเปลี่ยนไป หนูได้ยินเสียงโหวกเหวกแหลมสูง เสียงโลหะ และเสียงชิ้ง! แบบนี้เลย
พี่ขนนุ่มคำรามลากยาว ทิ้งเสียงหอนลั่นจนกระรอกสะดุ้งโหยง หนูกับอามาลามีน้ำตาใสๆ ไหลออกจากตา ไม่กล้าย่างเท้าเล็กๆ จากปากถ้ำ และไม่รู้เลยว่าพี่ขนนุ่มกำลังเผชิญอะไรอยู่
เสียงหอนลั่นนั้นเป็นเสียงสุดท้ายที่หนูได้ยิน ก่อนทั้งป่าจะเงียบสงัด พี่ขนนุ่มไม่เคยกลับมาอีกเลย หนูเห็นมนุษย์ตัวใหญ่กล้ามโตถือหอกเปื้อนของเหลวสีแดงข้นคลั่กไว้ในมือ พวกเขาคว้าแขนหนูและอามาลาออกจากถ้ำ มุ่งหน้าเข้าสู่โลกที่มีปฏิทินในปีคริสต์ศตวรรษ 1920
เมื่อแม่ไม่อยู่
ณ หมู่บ้านมิดนาปอร์ทางทิศตะวันออกของประเทศอินเดีย แถบทางใกล้เคียงเป็นสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ผู้ดูแลอย่าง “บาทหลวงโจเซฟ ซิงห์” ได้ยินข่าวลือจากชาวบ้าน พวกเขาว่าพบเห็นเด็กสองคนวิ่งเล่นกับหมาป่า ดูเหมือนจะเดินเป็นแต่มักชอบคลาน ดูเหมือนจะพูดเป็นแต่มักชอบคำราม ใครต่างก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าต้องพาเด็กทั้งสองออกมา ก่อนที่จะถูกหมาป่ากัดกิน มันอาจเลี้ยงเด็กๆ ไว้เพื่อเป็นการรอให้เหยื่อมีรสหวานหอมได้ที่ แต่เมื่อเริ่มเข้าใกล้เด็ก หมาป่าก็กัดเขี้ยวกรอดราวจะดึงทึ้งเนื้อ
ฆ่าหมาป่า ต้องฆ่าหมาป่า
หนูจำได้แค่ว่าแสงที่พวกเขาใช้ส่องยามเช้าและค่ำคืน มันทำให้หนูแสบตา หนูกับอามาลาเบะปากอย่างเศร้าโศก แต่ดูเหมือนจะไม่มีใครฟังเลย หนูไม่แน่ใจว่าหนูหน้าตาเป็นอย่างไร ถึงทำให้พวกเขาระเบิดเสียงหัวเราะออกมา เมื่อได้เห็นหนูครั้งแรก ค่อยๆ เผยยิ้มเหมือนได้เห็นสิ่งมหัศจรรย์
แต่ไม่เลย ไม่มีใครนั่งยองลงตรงหน้าแล้วถามว่ากลัวหรือเปล่า
บ้านหลังใหม่ของหนูมีแต่กำแพงสูงลิ่วแทนต้นไม้ระฟ้า กลิ่นสบู่ กลิ่นน้ำหอมอบอวลจนฉุน ไม่หอมเหมือนกลิ่นดินในป่าที่หนูเคยอยู่ ที่หลับนอนที่เขาเรียกกันว่าเตียงก็นุ่มสบายดี แต่ไม่เหมือนพุงของพี่ขนนุ่ม และไม่มีลมหายใจอุ่นๆ ของอามาลาอยู่ข้างหนูอีกแล้ว หนูไม่รู้ว่าอามาลาหายไปไหน เธอคงกำลังแอบอยู่เพราะไม่อยากอยู่สู้กับมนุษย์
หนูทำได้แค่พยักหน้ากับทุกเสียงที่เขาพูดกรอกหู พยายามจะเป็นอย่างที่เขาอยากให้เป็น
“เดินสองขาสิ” แล้วหนูก็เดินสองขา
“ดีมาก เป็นเด็กดี” แล้วเขาก็ลูบหัว
“ไม่เอาไหน ทำไมทำไม่ได้” แล้วเขาก็ตีจนหนูเจ็บ หนูไม่ชอบที่นี่เลย
เขาสอนให้เรียก“แม่” แต่หนูไม่ได้เรียก เพราะเขาไม่ใช่พี่ขนสีเทานุ่มๆ ไม่ได้เลียหน้าหนูเบาๆ ก่อนนอน หนูถูกรายล้อมไปด้วยตุ๊กตา ผ้านวมผืนหนา ดูน่าอบอุ่น แต่มันไม่มีเสียงอุ้งเท้าของพี่ขนนุ่ม ไม่มีเสียงหัวเราะของอามาลา ไม่ใช่ป่าก็ไม่ใช่บ้าน ไม่ใช่ที่ของหนูเลย หนูคิดถึงบ้าน
แต่ถ้ามีใครสักคนอ่านไดอารีของหนูมาจนถึงบรรทัดนี้ อาจเป็นใครคนแรกที่ได้ยินเสียงหนู เสียงของเด็กหญิงที่ชื่อ “คามาลา”
เมาคลี
เรื่องราวของอามาลาและคามาลาเป็นหนึ่งในกรณี “เด็กป่า” ที่โด่งดังและลึกลับที่สุดในโลก ทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้นิยายอย่าง “The Jungle Book” ของ“Kipling” ที่ภายหลังถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ โดยมีเด็กชายเมาคลีเป็นตัวละครหลัก
ชื่อของเด็กหญิงทั้งสองถูกตั้งขึ้นในภายหลัง “คามาลา” มีอายุ 8 ขวบเป็นผู้พี่ ส่วน “อามาลา” มีอายุเพียง 2 ปีเป็นผู้น้อง บาทหลวงว่าพวกเธอมีดวงตาดำมืดคล้ายสัตว์ป่า นิ้วเท้าหยิกอาจเพราะเอาแต่คลานสี่ขา ทว่าอามาลาเสียชีวิตลงในปี 1921 ด้วยโรคไต สุขภาพของเธออ่อนแอกว่าคามาลามาก ส่วนคามาลาค่อยๆ เรียนรู้การเดินสองขา และฝึกพูดคำง่ายๆ ได้เล็กน้อย ก่อนจะเสียชีวิตลงในปี 1929
คำกล่าวอ้างถึงสองพี่น้องคามาลาและอามาลา เต็มไปด้วยข้อสงสัยจากนักวิชาการว่าเป็นเรื่องจริงหรือเปล่า เพราะไม่มีบันทึกภาพถ่าย หรือหลักฐานที่แน่ชัด แต่หากเรื่องเล่าของบาทหลวงโจเซฟเป็นจริง เด็กทั้งสองคนคงจะถูกเลี้ยงดูอย่างอ่อนโยนจากหมาป่า และวันที่มนุษย์มาช่วย อาจกลายเป็นวันที่โลกทั้งใบของพวกเธอพังลง เพราะถูกพาเข้าสู่โลกที่เธอทั้งคู่ไม่เข้าใจ
เราไม่อาจรู้ได้ว่าเด็กน้อยทั้งสองชอบป่าใหญ่ หรือเมืองศิวิไลซ์มากกว่ากันหรอก แต่ท้ายที่สุดแล้วพวกเธอต่างก็กลายเป็นใครอื่นที่ไม่ใช่ตัวเองอีกต่อไป