ประวัติ Hi5 : โซเชียลยุคเก่า ที่มาก่อนยุค Instragram - TikTok ฮิตมากยุค 2000s
ทำไม Hi5 ถึงสำคัญในยุค 2000s ?
ย้อนเข็มนาฬิกาดิจิทัลกลับไปช่วงต้นยุค 2000s ถ้าโตมากับเพลงและแฟชั่นยุคมิลเลเนียม แพลตฟอร์มที่ทำให้คุณได้ "โชว์ตัวตน" ต่อเพื่อนๆ ไม่ใช่ Facebook หรือ IG แต่คือ Hi5—โซเชียลมีเดียรุ่นบุกเบิกที่เติมเต็มสีสันให้ชีวิตออนไลน์ของวัยรุ่นไทย ในเวลานั้น
ผู้บุกเบิกแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย Hi5 เปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2004 โดย ลามู ยาละมันชัย (Ramu Yalamanchi) นักศึกษาปริญญาตรีชาวอเมริกา ด้วยจุดประสงค์เพื่อปรับปรุงระบบโฆษณาแบบเก่าที่ไม่มีประสิทธิภาพ และตอบสนองพฤติกรรมการพูดคุย แลกเปลี่ยนข่าวสาร และทำอัลบั้มรูปของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในยุคนั้น Hi5 ถือเป็นยุคเริ่มต้นของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่นๆ ที่ใช้กันในปัจจุบัน และเป็น "ความเรียล" ในยุคแรกที่ยังไม่มีแอปพลิเคชันแต่งรูปภาพให้ดูไม่ตรงปกเหมือนทุกวันนี้ และ ความจริงแล้วมันก็คือปีเดียวกันกับ Facebook เปิดตัวครั้งแรก
ความนิยม Hi5 อย่างกว้างขวาง
ในช่วงพีคของมัน Hi5 ถือเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่เจ๋งมากๆ และเป็นเว็บไซต์เครือข่ายโซเชียลมีเดียที่เป็นรองเพียงแค่ MySpace เท่านั้น ภายในปี 2007 Hi5 มีสมาชิกที่ลงทะเบียนมากกว่า 70 ล้านคนทั่วโลก และเป็นหนึ่งใน 40 เว็บไซต์ที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดในโลก โดยมีฐานผู้ใช้จำนวนมหาศาลในแถบละตินอเมริกา ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดของแพลตฟอร์ม
ช่วงเวลานั้น Hi5 ไม่ได้แค่เป็นแพลตฟอร์มสำหรับเพิ่มเพื่อน แต่เป็นเหมือน “ห้องนั่งเล่นดิจิทัล” ที่ทุกคนแต่งได้ตามใจ มีเพลงเปิดเองได้ มีวิดีโอจาก YouTube (ยุคแรกๆ) แปะได้ และยังมีฟีเจอร์เด็ดๆ อย่าง Top Friends กับ Virtual Gift
ฟีเจอร์ที่ทำให้ Hi5 โดดเด่นกว่าใครในยุคนั้น
1. ปรับแต่งโปรไฟล์ได้เต็มสูบ
ใส่เพลงได้ตามใจชอบ พร้อมเอฟเฟกต์ GIF วิบวับ
เปลี่ยนพื้นหลัง สีเคอร์เซอร์ และหน้าตาทุกอย่างให้ “โดนใจ”
คนที่เก่งโค้ด HTML นิดๆ สามารถเนรมิตหน้าโปรไฟล์ให้เหมือนเว็บส่วนตัว
2. ฟังก์ชันเพื่อสังคม (Social Functions)
“Top Friends” แสดงเพื่อนสนิทสูงสุด 15 คน — ฟีเจอร์ที่ทำให้เพื่อนต้องแคร์ว่าเราอยู่ลำดับที่เท่าไหร่
ส่ง Virtual Gift และคอมเมนต์บนหน้าโปรไฟล์ของกันและกัน
หน้าแรกของ Hi5 จะอัปเดตให้รู้ว่าใครเพิ่งคุยกับใคร เพิ่มใครเป็นเพื่อน — ชวนให้ส่อง ชวนให้คลิกต่อได้ไม่รู้จบ
3. ค้นหาเพื่อนใหม่ได้ง่าย
Hi5 ใช้ระบบค้นหาตามพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งทำให้เจอ “เพื่อนใหม่” ได้ง่าย (ในแบบที่ Tinder ยังไม่เกิด)
ช่วงหลังๆ Hi5 พัฒนาสู่แพลตฟอร์มหาคู่และแชทแบบจริงจัง มีทั้งฟีเจอร์ Know Me และ Explore
4. ผันตัวเป็นแพลตฟอร์มเกม
ปี 2010 เป็นต้นไป Hi5 เปิดให้เล่นเกม พร้อมระบบ Hi5 Coins
มีหน้ารวมเกม “Play” ให้เล่นแบบเดียวกับ Facebook Game ในยุคนั้น
ส่วนการเปลี่ยนแปลง เจ้าของ Hi5 , Meet Group เข้าซื้อ Hi5 ไปในปี 2017 ในราคา 60 ล้านดอลลาร์ โดย Meet Group เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มโซเชียลเน็ตเวิร์คหลายตัวคือ MeetMe, hi5, LOVOO, Growlr, Skout และ Tagged
อย่างไรก็ตาม ปี 2020 The Meet Group ถูกซื้ออีกครั้งโดย ProSiebenSat.1 Media ซึ่งเป็นบริษัทสื่อของเยอรมัน และรวมเข้ากับ ParshipMeet Group การเปลี่ยนแปลงความเป็นเจ้าของหลายครั้งนี้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อ Hi5
บทเรียนจากการขึ้นสูง… และร่วงลงของ Hi5
1. ปรับตัวไม่ทัน = ตกรถ
แม้ Hi5 จะพยายามเปลี่ยนแนวทางจากโซเชียลเป็นแพลตฟอร์มเกมและหาคู่ แต่การปรับตัวช้าเกินไป ทำให้ Facebook ที่มีนวัตกรรมใหม่กว่าอย่าง News Feed และระบบแอปเครือข่าย ชิงพื้นที่ไปได้หมด
2. เงินทุนมีผลต่อการแข่งขัน
Facebook ระดมทุนได้มหาศาล ส่วน Hi5 ประสบปัญหาทางการเงินจนต้องลดพนักงานกว่า 50% ในปี 2010 ซึ่งสะท้อนว่า "นวัตกรรม" อย่างเดียวไม่พอ ต้องมีทุนสนับสนุนการเติบโตด้วย
3. พลังของ Network Effect
เมื่อเพื่อนๆ ย้ายไป Facebook หมด — ผู้ใช้ก็ย้ายตาม นี่คือพลังของ “เอฟเฟกต์เครือข่าย” ที่ทำให้คู่แข่งตามไม่ทัน
4. การเปลี่ยนเจ้าของบ่อย ทำให้ภาพจำเปลี่ยน
Hi5 ถูกขายต่อหลายครั้ง จนสุดท้ายกลายเป็นแค่ “แบรนด์เล็ก” ใต้บริษัทหาคู่รายใหญ่ ซึ่งลบจุดแข็งเดิมของ Hi5 ในฐานะแพลตฟอร์มสังคมออนไลน์ยุคแรก
สรุป: Hi5 ไม่ใช่แค่โซเชียลมีเดีย แต่คือความทรงจำ
Hi5 ไม่ได้ล้มหายตายจากเพราะไม่มีคนใช้งานอีกต่อไป แต่เพราะไม่สามารถรักษาจุดแข็งเดิมไว้ พร้อมๆ กับปรับตัวให้เข้ากับโลกใหม่ได้ทันเวลา
แต่สิ่งหนึ่งที่ Hi5 สร้างไว้คือ “ต้นแบบ” ของการแสดงตัวตนออนไลน์ในแบบที่ไม่ผ่านฟิลเตอร์ ไม่มีแอปแต่งภาพ ไม่มี “ดิจิทัลเฟค” มีแต่ความวิบวับที่เราเลือกใส่เอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง