สหรัฐฯ จ่อคว่ำบาตรผู้นำเข้าปุ๋ยรัสเซีย เขย่าความมั่นคงอาหาร
การพึ่งพาปุ๋ยจากรัสเซียยังเป็นองค์ประกอบสำคัญในระบบเกษตรของหลายประเทศ โดยเฉพาะในละตินอเมริกา ที่ใช้วัตถุดิบเหล่านี้กับพืชเศรษฐกิจหลัก เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพด และอะโวคาโด ท่ามกลางความผันผวนของตลาดโลก การส่งสัญญาณจากสหรัฐฯ ถึงความเป็นไปได้ในการคว่ำบาตรรองต่อผู้ที่ค้าขายกับรัสเซีย สร้างความกังวลต่อเสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทานด้านอาหาร
เกษตรกรในละตินอเมริกากำลังจะเผชิญช่วงเวลาที่ยากลำบาก หากสหรัฐฯ ออกมาตรการคว่ำบาตรรองต่อผู้ซื้อสินค้าส่งออกของรัสเซีย เช่น ปุ๋ย ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อพืชเศรษฐกิจ ตั้งแต่ อะโวคาโดของเม็กซิโก ไปจนถึงถั่วเหลืองและข้าวโพดของบราซิล
สำหรับบราซิลซึ่งเป็นประเทศเกษตรกรรมขนาดใหญ่ และนำเข้าปุ๋ยจากรัสเซียมูลค่า 3.7 พันล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว คิดเป็นประมาณหนึ่งในสามของความต้องการใช้ปุ๋ยทั้งหมด ผู้เชี่ยวชาญและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมระบุว่า แทบไม่มีทางเลือกอื่นใดที่จะสามารถทดแทนปริมาณนี้ได้หากการนำเข้าถูกระงับ
สงครามในยูเครนที่ปะทุขึ้นในปี 2022 เคยทำให้ประเทศในภูมิภาคนี้เร่งตุนปุ๋ยจากรัสเซีย ราคาพุ่งสูงขึ้นในระยะสั้น แต่ในปัจจุบันการค้ากลับเข้าสู่ภาวะปกติ แผนการเพิ่มการผลิตปุ๋ยภายในประเทศของเม็กซิโกและบราซิลคืบหน้าอย่างล่าช้า เนื่องจากต้องแข่งขันกับปุ๋ยรัสเซียที่มีราคาค่อนข้างถูก
สมาคมผู้ผลิตปุ๋ยรัสเซียระบุว่า การจัดส่งปุ๋ยไปยังบราซิล ซึ่งเป็นผู้ผลิตถั่วเหลือง น้ำตาล และกาแฟรายใหญ่ที่สุดของโลก เพิ่มขึ้นเกือบ 30% ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้
มาร์ค รุตเทอ เลขาธิการ NATO กล่าวถึง บราซิลว่าเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่อาจได้รับผลกระทบรุนแรงมาก จากมาตรการคว่ำบาตร หากยังคงทำธุรกิจกับรัสเซีย ภายใต้ความพยายามของประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องการยุติสงครามในยูเครน
ราอูล อูร์เตกา อดีตผู้อำนวยการฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศของกระทรวงเกษตรเม็กซิโก กล่าวว่าเม็กซิโก นำเข้าปุ๋ยจากรัสเซียมากกว่า 580 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นแหล่งนำเข้ารายใหญ่ที่สุด มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ที่อาจเกิดขึ้นจะสร้างปัญหาใหญ่ให้เกษตรกรเม็กซิโก จะกระทบต่อการนำเข้าปุ๋ยหลายชนิดจากรัสเซีย โดยเฉพาะยูเรีย ซึ่งเป็นปุ๋ยที่ใช้กันมากที่สุดในพืช เช่น ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าวสาลี และแม้แต่อะโวคาโด
อูร์เตกาเตือนว่า หากไม่มีการนำเข้าจากรัสเซีย คุณภาพของปุ๋ยที่มีอยู่ในตลาดจะลดลง ซึ่งอาจกระทบต่อการผลิตอะโวคาโดและส่งผลให้ราคาสำหรับผู้บริโภคในสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งสหรัฐฯ คิดเป็นมากกว่า 80% ของการส่งออกอะโวคาโดทั้งหมดของเม็กซิโก ซึ่งมีมูลค่าตลาดมากกว่า 3 พันล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว ตามข้อมูลของรัฐบาลสหรัฐฯ
ราคาของอะโวคาโดจะเพิ่มขึ้น หากผู้ผลิตต้องเปลี่ยนไปใช้ปุ๋ยทางเลือกอื่น หรือหันไปนำเข้าจากแหล่งอื่นที่ไม่ใช่รัสเซีย
รัสเซียยังเป็นผู้จัดหาปุ๋ยรายใหญ่ที่สุดให้กับโคลอมเบีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตผลไม้ ดอกไม้ และกาแฟรายสำคัญที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ โดยข้อมูลจากรัฐบาลแสดงว่า รัสเซียคิดเป็นประมาณหนึ่งในสี่ของการนำเข้าปุ๋ยทั้งหมดของโคลอมเบีย
ธนาคารโลกได้ชี้ว่า ต้นทุนปุ๋ยเป็นหนึ่งในปัจจัยผลักดันเงินเฟ้อด้านอาหารในอเมริกากลาง ซึ่งส่งผลต่อวิกฤตค่าครองชีพ และเร่งให้เกิดการอพยพขึ้นไปทางเหนือ
แม้แต่บริษัทผลิตปุ๋ยที่ยุติความสัมพันธ์กับรัสเซียไปแล้ว เช่น Mosaic จากสหรัฐฯ ก็ยังแสดงความกังวลว่า ความวุ่นวายด้านการค้าหากเกิดขึ้นอีก อาจส่งผลให้เกิดความผันผวนในตลาด เนื่องจากรัสเซียเป็นหนึ่งในผู้ผลิตปุ๋ยรายใหญ่ที่สุด 3 อันดับแรกของโลก
การพูดคุยที่อาจนำไปสู่การตอบโต้ประเทศที่ยังทำการค้ากับรัสเซีย จะยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ด้านราคาให้แย่ลงไปอีก โดยบราซิลมีสัดส่วนรายได้ประมาณ 40% ของรายได้รวมทั่วโลกของบริษัท
ความกังวลนี้สะท้อนให้เห็นว่า ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ได้ส่งผลให้การขายปุ๋ยสำหรับฤดูกาลเพาะปลูกถัดไปของเกษตรกรบราซิลล่าช้า ซึ่งอาจกระทบต่อการจัดส่งปุ๋ยให้ทันเวลา โดยเฉพาะพืชหลักอย่างถั่วเหลืองซึ่งเริ่มปลูกในเดือนกันยายน
แผนลดการพึ่งพาการนำเข้าปุ๋ย
บราซิลได้ประกาศแผนลดการพึ่งพาการนำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศลงเกือบครึ่ง ขณะที่เม็กซิโกตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการผลิตในประเทศจาก 33% เป็น 80% ของความต้องการภายในประเทศ ประธานาธิบดีลูอิซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ของบราซิล และคลอเดีย ไชน์บาวม์ ของเม็กซิโก ต่างเร่งให้บริษัทน้ำมันแห่งชาติ Petrobras และ Pemex เพิ่มกำลังการผลิตปุ๋ย
ในกรณีของบราซิล อุปสรรคสำคัญได้แก่ การขาดแคลนเงินทุน แหล่งแร่ที่มีต้นทุนสูง และราคาก๊าซธรรมชาติที่แพง ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตปุ๋ยไนโตรเจน
ปัญหาอาจบรรเทาลงบางส่วน หากบริษัท Brazil Potash Corp เริ่มต้นการทำเหมืองโพแทชในพื้นที่แอมะซอนของบราซิล ซึ่งจะสามารถเดินหน้าได้เมื่อโครงสร้างพื้นฐานและใบอนุญาตต่าง ๆ พร้อม ในเม็กซิโก Pemex ซึ่งมีปัญหาหนี้สะสมมานาน ก็ประสบความล้มเหลวในการทำธุรกิจปุ๋ยให้มีกำไร
แม้จะต้องเผชิญการแข่งขันในประเทศ มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ หรือการแบนจากยุโรป ผู้ผลิตปุ๋ยของรัสเซียยังคงไม่หวั่น โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดโลกขึ้นเป็น 25% ภายในปี 2030 โดยมุ่งเน้นการส่งออกไปยังประเทศกำลังพัฒนาในกลุ่ม BRICS เช่น บราซิล อินเดีย และจีน
อย่างไรก็ตาม เเม้หลายประเทศในละตินอเมริกาจะมีแผนลดการพึ่งพาปุ๋ยนำเข้า และเพิ่มกำลังการผลิตในประเทศ เพื่อรองรับทั้งความมั่นคงด้านอาหารและเป้าหมาย Net Zero แต่การดำเนินการกลับล่าช้า เนื่องจากราคาปุ๋ยจากรัสเซียยังแข่งขันได้สูง การสูญเสียแหล่งปุ๋ยต้นทุนต่ำโดยไม่ได้เตรียมการไว้ อาจทำให้ประเทศต่าง ๆ ต้องหันไปใช้วัตถุดิบหรือทางเลือกที่ปล่อยคาร์บอนมากกว่าในระยะสั้น ส่งผลกระทบเชิงโครงสร้างต่อแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตร