ชัวร์ก่อนแชร์ : Over Sharing แชร์เวอร์ อาจเจอดี !
ปัจจุบัน ‘โซเชียลมีเดีย’ กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสาร แบ่งปันข้อมูล และแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี เปิดโอกาสให้ผู้คนทั่วโลกเชื่อมโยงถึงกันได้อย่างไร้พรมแดน แต่อย่างไรก็ตาม หากเราใช้งานโซเชียลมีเดียอย่างขาดความระมัดระวังหรือใช้มากเกินความพอดี ก็อาจส่งผลเสียตามมาได้
ไม่ว่าจะเป็นการเสพติดโซเชียล การเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวมากเกินไป หรือการละเลยความสัมพันธ์และหน้าที่ในชีวิตจริง ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตโดยรวม สิ่งนี้เรียกว่า Over Sharing หรือการโพสต์และแบ่งปันเรื่องส่วนตัวมากเกินไปบนโลกออนไลน์ ที่อาจส่งผลให้เกิด Online Grooming หรือการถูกล่อลวงโดยอาชญากรไซเบอร์ได้ง่ายขึ้น
Over Sharing สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับหลัก ๆ คือ
- ข้อมูลส่วนตัว (Identity Information & Privacy) ไม่ว่าจะเป็น ชื่อ นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ อีเมล ที่อยู่ เลขบัตรเครดิต หรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่การงาน เป็นต้น
- เรื่องราว ประสบการณ์ ความคิด และความรู้สึกส่วนตัว การระบายความรู้สึก ความคิด หรือประสบการณ์ส่วนตัว โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่มักใช้โซเชียลมีเดียเป็นที่แสดงออกทางอารมณ์ เช่น การโพสต์เกี่ยวกับความเหงา ความซึมเศร้า หรือความรู้สึกไม่เข้าใจจากคนรอบข้าง
- ข้อมูลข่าวสารทั่วไป (General Information) การแชร์ข้อมูลข่าวสารที่ตนเองอ่านและอยากให้เพื่อนอ่านด้วย การส่งลิงก์เข้ากลุ่มต่าง ๆ มากเกินไป จนกลายเป็นการรบกวนผู้อื่น
แม้การเผยแพร่ข้อมูลบนโลกออนไลน์จะเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่สามารถกระทำได้ แต่หากใช้อย่างไม่เหมาะสมหรือมากเกินไป ก็อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตจริงได้เช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อตกเป็นเป้าหมายของอาชญากรไซเบอร์ หรือ Online Grooming ที่มักจะจับเป้าหมายจากโพสต์ที่แสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกโดดเดี่ยว อ้างว้าง ซึมเศร้า หรือเหงา โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน
อาชญากรจะแสดงความสนใจ เห็นอกเห็นใจ และเสนอความช่วยเหลือเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น การให้เงินหรือสิ่งของ ซึ่งอาจกลายเป็นกับดักในการล่อลวงเพื่อการแสวงหาประโยชน์ทางเพศในอนาคตได้
นอกจากนี้ การเผยแพร่ข้อมูลที่มากเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ส่วนตัว และสุขภาพจิตได้ รวมถึงส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์ เช่น ในระยะสั้น อาจทำให้เกิดความรำคาญแก่ผู้อื่น ต่อมาอาจทำให้เราไม่สามารถจัดการอารมณ์ในชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ จนกระทั่งชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของเราจะเสียไป ทั้งในด้านการงาน การเรียน และสถานะทางสังคมบนโลกออนไลน์ในระยะยาว
ทำอย่างไร ไม่ให้การใช้โซเชียลมีเดียกลายเป็น Over Sharing ?
สิ่งสำคัญที่สุดคือการตระหนักถึงผลกระทบที่จะตามมา เพื่อป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เหมาะสม
– ไม่โพสต์ข้อมูลที่ไม่จำเป็น พิจารณาให้ดีว่าข้อมูลใดบ้างที่ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยสู่สาธารณะ
– จัดการอารมณ์ด้วยตนเอง สำหรับเด็กและเยาวชน ควรเรียนรู้ที่จะจัดการกับอารมณ์ของตนเอง และปรึกษาหารือกับพ่อแม่ เพื่อนสนิท หรือพี่น้อง แทนที่จะระบายผ่านโพสต์บนโซเชียลมีเดีย
– หลีกเลี่ยงการเปิดเผยข้อมูลที่รบกวนผู้อื่น รวมถึงข้อมูลข่าวสารทั่วไปที่มากเกินไป
แม้ว่าปัจจุบันโซเชียลมีเดียจะเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในหลายด้าน หลาย ๆ คนในสมาร์ตโฟนท่องโลกโซเชียลทั้งในด้านการสื่อสาร การเรียนรู้ และการสร้างปฏิสัมพันธ์ แต่หากใช้อย่างไม่ระมัดระวัง ก็อาจกลายเป็นดาบสองคมที่ก่อให้เกิดผลเสียอย่างพฤติกรรม Over Sharing ได้เช่นกัน
นอกจากนี้ อีกหนึ่งในผลกระทบที่เห็นได้ชัดในยุคปัจจุบันคือ “Nomophobia” หรืออาการวิตกกังวลเมื่อต้องอยู่ห่างจากโทรศัพท์มือถือ ซึ่งกำลังกลายเป็นโรคฮิตในกลุ่มผู้ใช้สมาร์ตโฟน และสามารถจัดอยู่ในกลุ่มโรควิตกกังวลประเภท “หวาดกลัวเฉพาะอย่าง” ตามนิยามขององค์การอนามัยโลกอีกด้วย สามารถรับชมเพิ่มเติมได้ที่ ชัวร์ก่อนแชร์ KEYWORD : BANIPOOHOM ? — อาการขาดมือถือ เหมือนขาดใจ
ดังนั้น การใช้งานโซเชียลมีเดียควรอยู่บนพื้นฐานของความรับผิดชอบ ใช้อย่างมีสติและพิจารณาให้รอบคอบก่อนโพสต์หรือแบ่งปันข้อมูลใด ๆ รวมถึงรู้จักจำกัดเวลาและความถี่ในการใช้งานอย่างเหมาะสม เพื่อให้โลกออนไลน์เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์สำหรับทุกคน พร้อมทั้งลดความเสี่ยงต่อผลกระทบด้านสุขภาพจิตและพฤติกรรมที่อาจเกิดขึ้นในชีวิตจริงจากการเสพติดเทคโนโลยีโดยไม่รู้ตัว
2 กรกฎาคม 2568
ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์
สำนักข่าวไทย อสมท
เขียนและรวบรวม โดย นัฐภรณ์ ผลพฤกษา
อ้างอิง
ชัวร์ก่อนแชร์ KEYWORD : REHANGVISOR ? — การแชร์เรื่องส่วนตัวเยอะเกินไป !