KKP ประเมินเศรษฐกิจไทยทรงไม่ดีครึ่งปีหลังเสี่ยงถดถอยเชิงเทคนิค ภาวะ Technical Recession
KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรปรับ GDP ปี 2025 ลงเหลือ 1.6% จากประมานการครั้งก่อนที่ 1.7% และปี 2026 ลงเหลือ 1.5% จากระดับ 2.0% โดยแม้เศรษฐกิจโลกจะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยตามสถานการณ์สงครามการค้าที่ผ่อนคลายลงบ้าง แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูง เศรษฐกิจไทยยังเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยเฉพาะ คือ นักท่องเที่ยวจีนที่ชะลอตัวลงแรง ภาคการผลิตยังคงเผชิญปัญหาความสามารถในการแข่งขัน และการบริโภคที่ได้รับแรงกดดันจากการปล่อยสินเชื่อภาคธนาคารที่หดตัว
ในช่วงครึ่งหลังของปีเศรษฐกิจไทยมีโอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอยเชิงเทคนิค (Technical Recession) เนื่องจากปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจระยะสั้นหมดไป คือ ฐานต่ำของการลงทุนภาครัฐ การเร่งตัวของการส่งออก และการขยายตัวของนักท่องเที่ยว
[ 3 ความไม่แน่นอนทำให้ไทยเศรษฐกิจไทยชะลอกว่าคาด ]
KKP Research ประเมินว่าในระยะสั้นการประเมินภาพเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนและท้าทายมากขึ้นยังต้องจับตาสามปัจจัยเสี่ยงสำคัญ คือ
1.สถานการณ์การเมืองในประเทศที่อาจนำไปสู่ความล่าช้าของการผ่านงบประมาณภาครัฐ
ความไม่แน่นอนทางการเมืองและข้อจำกัดของภาครัฐ ความเปราะบางทางการเมืองทวีความรุนแรงขึ้นหลังพรรคภูมิใจไทยถอนตัวจากรัฐบาล ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ มีความเสี่ยงที่การพิจารณา ร่าง พรบ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 อาจจะล่าช้าหรือไม่สามารถผ่านได้ โดยในอดีตการเบิกจ่ายงบประมานที่ล่าช้าตัวเป็นฉุดการเติบโตทางเศรษฐกิจได้มากถึง 1.0 – 1.5ppt ต่อไตรมาส หรือประมาน 0.3ppt – 0.5ppt ต่อการเติบโตของ GDP ทั้งปี
ภาวะที่นโยบายการคลังมีข้อจำกัดจากระดับหนี้สาธารณะเข้าใกล้เพดานหนี้ที่ 70% ต่อ GDP ขาดดุลการคลังที่อยู่ในระดับสูง และภาวะการเงินที่ตึงตัวมากขึ้น KKP Research เชื่อว่านโยบายการเงินจะต้องมีบทบาทมากขึ้นในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 3 ครั้ง หรืออีก 0.75 % ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยสุดท้ายลดลงเหลือ 1.0% จาก 1.25% ภายในไตรมาสแรกของปี 2026 และอาจต้องพิจารณาทางเลือกเชิงนโยบายในการแก้ไขข้อจำกัดของการส่งผ่านของนโยบายการเงิน โดยเฉพาะช่องทางสินเชื่อของธนาคาร
2.การเจรจาการค้าระหว่างไทยและสหรัฐ ฯ ส่งผลต่อระดับภาษีที่ไทยจะถูกเรียกเก็บ
สงครามการค้าและการเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐ ฯ การเจรจาการค้าระหว่างไทยและสหรัฐฯ ยังมีความไม่แน่นอนสูงโดยอัตราภาษีแรกที่ไทยถูกเรียกเก็บจากสหรัฐ ฯ คือ 36% ก่อนจะมีการลดลงชั่วคราวมาที่ระดับ 10% KKP Research ประเมินว่าในกรณีของการเก็บภาษีกลับไปที่ 36% จะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจทั้งปีประมาน 0.8ppt เทียบกับกรณีที่ไม่มีการเก็บภาษีเลย
3.ราคาน้ำมันที่อาจปรับตัวสูงขึ้นตามสถานการณ์สงครามอิหร่านอิสราเอลโดยไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิทำให้ได้รับผลทางลบ
สงครามระหว่างอิหร่าน อิสราเอลและผลต่อราคาน้ำมัน ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกกลางทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีความไม่แน่นอนสูงขึ้น หากราคาน้ำมันปรับตัวสูงต่อเนื่องอาจผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะที่คล้าย “stagflation” หรือภาวะเงินเฟ้อเร่งตัวควบคู่กับการชะลอตัวของการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยไทยมีดุลการค้าพลังงานขาดดุลในระดับประมาณ 8% ของ GDP สูงที่สุดในภูมิภาค ซึ่งหมายความว่าหากราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น 10% ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยอาจลดลงราว 0.5% ของ GDP และ GDP ของไทยลดลงราว 0.3%
นโยบายการเงินจำเป็นต้องมีบทบาทมากขึ้นในการดูแลสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยปัจจุบันประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในภาวะตึงตัวเมื่อเทียบกับระดับเงินเฟ้อและภาวะทางการเงิน KKP ประเมินธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับลดดอกเบี้ยอีก 0.75% ในช่วง 12 เดือนข้างหน้ามาที่ระดับ 1.0% จากการคาดการณ์เดิมที่ 1.25% และต้องเร่งแก้ไขข้อจำกัดในการส่งผ่านของนโยบายการเงิน โดยเฉพาะช่องทางการปล่อยสินเชื่อของภาคธนาคาร
[ สิ่งที่จะกำหนดทิศทางเศรษฐกิจไทยหลังจากนี้ ]
– ทิศทางการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีน โดยในช่วงที่ผ่านมานักท่องเที่ยวจีนหดตัวลงอย่างรวดเร็วเหลือเพียงประมาณ 30% – 40% ของระดับก่อนโควิด-19 เป็นผลจากความกังวลด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวจีนหลังเกิดกรณีลักพาตัว และการเข้ามาของคู่แข่งใหม่ ๆ เช่น ญี่ปุ่น เวียดนาม นอกจากนี้ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเทียบเทียบกับเงินหยวนส่งผลให้การมาเที่ยวไทยแพงกว่าที่อื่น ๆ โดยเปรียบเทียบ KKP ประเมินนักท่องเที่ยวทั้งปีที่ 33.6 ล้านคนหดตัวลงจากปีก่อนเป็นครั้งแรกตั้งแต่หลังโควิด-19
– การเร่งตัวของการส่งออกที่มากผิดปกติก่อนการขึ้นภาษีในช่วงต้นปี ส่งผลต่อการขยายตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตามการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของการส่งออกที่ผ่านมา ไม่ส่งผลบวกมากนักต่อภาคการผลิตและเศรษฐกิจไทย และมีโอกาสสูงที่ครึ่งหลังของปีจะเห็นการชะลอตัวลง
โดยเกิดจากการส่งออกบางส่วนใช้สินค้าคงคลังที่เหลืออยู่เพื่อการส่งออกแต่ไม่ได้มีการผลิตใหม่เพิ่มเติม และการส่งออกสินค้าในกลุ่มอิเลคทรอนิกส์ มีแนวโน้มเป็นสินค้าที่ไทยนำเข้าจากประเทศอื่นเพื่อส่งออกต่อไปยังสหรัฐ ฯ แต่ไม่มีผลมากต่อการผลิตในประเทศ KKP Research ประเมินว่าภาคอุตสาหกรรมน่าจะปรับตัวดีขึ้นในระยะสั้น แต่อาจจะกลับมาชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปี
– การบริโภคมีแนวโน้มชะลอตัวตามการชะลอตัวของสินเชื่อ สินเชื่อในระบบการเงินยังคงหดตัวต่อเนื่อง ทั้งในภาคธุรกิจขนาดใหญ่ SME และครัวเรือน โดยเฉพาะกลุ่มเช่าซื้อและอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากภาระหนี้ครัวเรือนที่สูงและระดับหนี้เสียที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นชัดเจน การบริโภคในประเทศมีแนวโน้มชะลอตัว
[ เศรษฐกิจไทยครึ่งหลังมีโอกาสเข้าสู่ Technical Recession ]
จากหลายปัจจัยลบที่ยังคงกดดันเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้ในครึ่งปีหลังของปี 2025 ไทยกำลังจะต้องเผชิญแรงกดดันจากทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในประเทศพร้อม ๆ กัน ซึ่งอาจทำให้ไทยเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิคได้ โดยปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาจะทยอยหมดไป คือ แรงส่งจากฐานต่ำของการลงทุนภาครัฐในปีก่อน การเร่งการส่งออกที่สูงผิดปกติในช่วงต้นปีก่อนการขึ้นภาษี และการท่องเที่ยวที่จะทยอยชะลอตัวลงโดยจำนวนนักท่องเที่ยวอาจเริ่มติดลบในช่วงครึ่งหลัง ประกอบกับเศรษฐกิจในประเทศเดิมของไทยที่อ่อนแออยู่ก่อนแล้ว