ข้อตกลง Bretton Woods จุดเริ่มต้นอำนาจดอลลาร์ แต่วันนี้โลกเริ่มตั้งคำถาม
น.จ.ในโลกยุคใหม่ที่หลายประเทศเริ่มหันหลังให้กับดอลลาร์สหรัฐฯ กระแส De-dollarization กำลังถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อย ๆ บางชาติลดการถือครองเงินดอลลาร์ในการสำรองเงินตราบางกลุ่มเริ่มทำการค้าระหว่างประเทศโดยใช้เงินท้องถิ่น
ภาพสะท้อนเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงคำถามสำคัญที่ว่า ดอลลาร์ควรครองโลกต่อไปอีกนานแค่ไหน? แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น ควรถามกลับอีกข้อหนึ่งว่าดอลลาร์เข้ามาครองโลกได้อย่างไรตั้งแต่ต้น
บทความชิ้นนี้ TODAY Bizview พาย้อนไปดูข้อตกลง Bretton Woods จุดเริ่มต้นที่ทำให้ดอลลาร์มีบทบาทมากขึ้นและเปลี่ยนโฉมระบบการเงินโลกไปตลอดกาล
[ การประชุมเล็กๆ ที่เปลี่ยนอนาคตการเงินทั้งโลก ]
ย้อนไปในปี 1944 ท่ามกลางสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ใกล้มอดลง ประเทศพันธมิตร 44 ชาติรวมตัวกัน ณ เมืองเล็กๆ ชื่อ Bretton Woods ในรัฐนิวแฮมป์เชียร์ สหรัฐอเมริกา
เป้าหมายไม่ใช่การวางแผนโจมตีฝ่ายตรงข้ามแต่คือการสร้างระบบเศรษฐกิจโลกใหม่ เพื่อไม่ให้ความวุ่นวายทางการเงินแบบในช่วงระหว่างสงครามเกิดขึ้นอีก
ผลลัพธ์ของการประชุมครั้งนั้น คือสิ่งที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจว่า ‘ข้อตกลง Bretton Woods’ ซึ่งได้เปลี่ยนบทบาทของดอลลาร์จากเงินของประเทศหนึ่งสู่เสาหลักของระบบการเงินทั้งโลก
[ ดอลลาร์กลายเป็นศูนย์กลางของโลกได้อย่างไร? ]
หัวใจของระบบ Bretton Woods คือการกำหนดค่าเงินของประเทศต่างๆ ให้ผูกกับ ดอลลาร์สหรัฐฯ และให้ดอลลาร์เองผูกกับทองคำ ในอัตราคงที่ : 35 ดอลลาร์ ต่อทองคำ 1 ออนซ์
นั่นหมายความว่า ถ้าถือเงินดอลลาร์อยู่ก็สามารถนำไปแลกทองคำจริง จากรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ และถ้าถือเงินสกุลอื่นอยู่ เงินก็จะมีมูลค่าผ่านการเชื่อมโยงกับดอลลาร์
คำถามที่น่าสนใจอีกอันคือ ทำไมถึงต้องเป็นดอลลาร์? เหตุผลก็เพราะในช่วงเวลานั้น สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุด มีทองคำสำรองมากที่สุด และระบบเศรษฐกิจมีเสถียรภาพที่สุด
ดังนั้นแล้วในสายตาของทั้งโลก ดอลลาร์คือความมั่นคงที่จับต้องได้ และเป็นตัวเลือกเดียวที่เหมาะสมสำหรับการวางระบบใหม่ของโลกที่เพิ่งผ่านสงคราม
[ จุดกำเนิดของ IMF- World Bank ]
ข้อตกลง Bretton Woods ยังเป็นจุดกำเนิดของ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (World Bank) องค์กรเหล่านี้ถือกำเนิดขึ้นเพื่อคอยดูแลเสถียรภาพของระบบใหม่ที่เพิ่งก่อตั้ง
และไม่แปลกเลยที่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นเจ้าบ้านของการประชุมและผู้สนับสนุนหลักทางการเงิน จะมีบทบาทนำในองค์กรเหล่านี้อย่างมาก นี่คือช่วงเวลาที่โลกเริ่มหายใจผ่านดอลลาร์แล้ว
สกุลเงินนี้กลายเป็นสิ่งจำเป็นในการทำการค้า ชำระหนี้ ลงทุน และเก็บเป็นทุนสำรองที่สำคัญ
[ สิ้นสุดยุคดอลลาร์แลกทอง ]
ระบบ Bretton Woods ดำเนินไปได้ไม่ถึง 30 ปี ในปี 1971 ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ประกาศยกเลิกการผูกดอลลาร์กับทองคำอย่างเป็นทางการสิ้นสุดยุค ‘ดอลลาร์แลกทองได้’
และเปิดทางสู่ระบบการเงินแบบใหม่ ที่เงินลอยตัวตามกลไกตลาดแม้ไม่มีทองคำค้ำหลังอีกต่อไป แต่ความเชื่อมั่นที่โลกมีต่อดอลลาร์ก็ยังคงอยู่และส่งต่อมาจนถึงปัจจุบัน
แม้วันนี้ดอลลาร์จะไม่สามารถแลกเป็นทองคำได้อีกต่อไปเหมือนในยุค Bretton Woods แต่คำถามสำคัญคือเมื่อทองไม่ได้อยู่หลังดอลลาร์อีกต่อไปแล้วอะไรคือสิ่งที่ยังหล่อเลี้ยงมูลค่าของดอลลาร์เอาไว้
อาจเป็นความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเป็นเพราะสหรัฐฯ ยังคงมีบทบาทผู้นำในเวทีโลก หรืออาจเป็นเพราะทั้งโลกคุ้นชินกับการใช้ดอลลาร์มานานจนไม่รู้จะหันไปพึ่งพาอะไรแทน
แต่ในโลกปัจจุบันหลายๆ ประเทศเริ่มตั้งคำถามกับบทบาทของดอลลาร์และพยายามสร้างระบบการเงินที่พึ่งพาตัวเองมากขึ้น
กระแส De-dollarization จึงอาจไม่ใช่แค่แนวคิด ในศตวรรษนี้ดอลลาร์จึงต้องพิสูจน์ตัวเองใหม่ท่ามกลางโลกที่มีความหลากหลาย ไม่ยอมขึ้นกับอำนาจเดียวอีกต่อไป