สมาคมธนาคารไทยพร้อมขับเคลื่อนโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ระยะที่ 2 ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า สมาคมธนาคารไทย และธนาคารสมาชิก สนับสนุนนโยบายภาครัฐ ในการขับเคลื่อนการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ โดยเร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินของกลุ่มเปราะบางที่เป็นลูกหนี้รายย่อยและลูกหนี้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ผ่านโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ที่ได้ดำเนินการในระยะที่ 1 ตั้งแต่ 12 ธันวาคม 2567 และพร้อมให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม ภายใต้โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ระยะที่ 2 ที่ได้ปรับปรุงเงื่อนไขของมาตรการเดิมและเพิ่มมาตรการใหม่ เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางได้ครอบคลุมมากขึ้น ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง และยังมีลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่มีความสนใจเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก
มาตรการที่ 1 “จ่ายตรง คงทรัพย์” ขยายคุณสมบัติลูกหนี้ ที่เข้ามาตรการให้ครอบคลุมถึง 1.ลูกหนี้ ที่มีวันค้างชำระเกิน 365 วัน 2.ลูกหนี้ที่เคยมีประวัติค้างชำระน้อยกว่าที่กำหนดในระยะที่ 1 คือ เคยค้างชำระ 1 - 30 วัน และเคยปรับโครงสร้างหนี้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่วงเงินไม่สูงมาก ให้สามารถรักษาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันทั้งบ้าน รถ และสถานประกอบการไว้ได้
มาตรการที่ 2 “จ่าย ปิด จบ” ขยายเพดานภาระหนี้ของลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่เป็นหนี้เสีย เพื่อให้ความช่วยเหลือเพิ่มขึ้น 1. สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน (unsecured loan) เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต ขยายเพดานภาระหนี้คงค้างเป็นไม่เกิน 10,000 บาทต่อบัญชี 2.สินเชื่อที่มีหลักประกัน (secured loan) ซึ่งได้มีการบังคับหลักประกันแล้ว และมีวงเงินสินเชื่อไม่เกินกว่าที่กำหนด (วงเงินสินเชื่อบ้าน หรือ สินเชื่อ SMEs ไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อบัญชี สินเชื่อรถยนต์ไม่เกิน 800,000 บาทต่อบัญชี สินเชื่อรถจักรยานยนต์ไม่เกิน 50,000 บาทต่อบัญชี) ขยายเพดานภาระหนี้คงค้างเป็นไม่เกิน 30,000 บาทต่อบัญชี เพื่อให้ลูกหนี้เหล่านี้สามารถเปลี่ยนสถานะการเป็นหนี้ จาก "หนี้เสีย" เป็น "ปิดจบหนี้" และเริ่มต้นใหม่ได้เร็วขึ้น
มาตรการที่ 3 “จ่าย ตัด ต้น” ซึ่งเป็นมาตรการใหม่สำหรับหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน (unsecured loan) ที่มียอดหนี้คงค้างไม่เกิน 50,000 บาทต่อบัญชี และเป็นหนี้เสีย โดยการปรับโครงสร้างหนี้ให้มีเงื่อนไขการผ่อนชำระคืนเป็นงวด (term loan) และผ่อนชำระร้อยละ 2 ของเงินต้นคงค้าง เป็นระยะเวลา 3 ปี ซึ่งค่างวดที่ชำระจะนำไปตัดเงินต้นทั้งจำนวน สำหรับดอกเบี้ยจะพักแขวนไว้และจะได้รับยกเว้นดอกเบี้ยในระหว่างมาตรการหากลูกหนี้สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดได้ ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ให้กับลูกหนี้ทั้งในปัจจุบันและระยะต่อไปได้
ทั้งนี้ โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ได้เป็นจุดตั้งต้นของการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม สอดประสานกับมาตรการ responsible lending ของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นมาตรการชั่วคราวที่ยาวถึง 3 ปี ที่เพียงพอในการสนับสนุนและรองรับกับมาตรการระยะถัดไปของภาครัฐ โดยเฉพาะมาตรการในการสร้างรายได้ ความสามารถในการแข่งขัน และเสริมสวัสดิการที่จำเป็น รวมถึงการแก้ปัญหาเศรษฐกิจนอกระบบและหนี้นอกระบบ เพื่อให้ลูกหนี้สามารถฟื้นตัวได้อย่างมีศักยภาพ และไม่ใช่การแก้ไขปัญหา ที่ปลายเหตุ
ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่สนใจเข้าร่วมมาตรการภายใต้โครงการ "คุณสู้ เราช่วย" ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 สามารถศึกษารายละเอียดและสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ได้ที่ https://www.bot.or.th/khunsoo ตั้งแต่วันนี้จนถึง วันที่ 30 กันยายน 2568
*กรุงไทยปรับเงื่อนไข-เพิ่มมาตรการ-ขานรับ'คุณสู้เราช่วย'เฟส2
ด้านนายสุริพงษ์ ตันติยานนท์ ประธานผู้บริหาร Retail Banking ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTB)เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงไทยพร้อมสนับสนุนนโยบายภาครัฐอย่างเต็มกำลัง ผ่านโครงการ “คุณสู้ เราช่วย เฟส 2” ซึ่งปรับเงื่อนไขมาตรการ ให้สามารถช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและ SME กลุ่มเปราะบางได้มากขึ้น ขยายความช่วยเหลือทั้งกลุ่มที่เป็น NPL แล้วและกลุ่มที่ยังไม่เป็น NPL แต่มีสัญญาณอ่อนแอ ให้สามารถประคองตัว รักษาสินทรัพย์สำคัญกับความมั่นคงของชีวิต
มาตรการ “จ่ายตรง คงทรัพย์” ช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อบ้าน และ SME ที่มีวงเงินไม่สูง ปรับโครงสร้างหนี้แบบ “ลดค่างวด” และ “พักภาระดอกเบี้ย” เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยค่างวดที่จ่ายนำไปตัดชำระเงินต้นทั้งหมด ขณะที่ดอกเบี้ยที่พักไว้ตลอดระยะเวลา 3 ปี จะได้รับการยกเว้น หากลูกหนี้สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ตลอดระยะเวลาของมาตรการ (ชำระเงินตรงเวลาและไม่กู้เพิ่มในช่วง 12 เดือนแรกของการเข้าโครงการฯ) โดยขยายคุณสมบัติลูกหนี้ที่เข้ามาตรการให้ครอบคลุมถึง 1) ลูกหนี้ที่มีวันค้างชำระเกิน 365 วัน และ 2) ลูกหนี้ที่เคยมีประวัติค้างชำระน้อยกว่าที่กำหนดในระยะที่1 คือ เคยค้างชำระ 1 - 30 วัน และเคยปรับโครงสร้างหนี้ ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่วงเงินไม่สูงมาก ให้สามารถรักษาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันทั้งบ้าน และสถานประกอบการไว้ได้
มาตรการ “จ่าย ปิด จบ” ขยายเพดานภาระหนี้ของลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่เป็นหนี้เสีย (สถานะ NPL) เพื่อให้ความช่วยเหลือเพิ่มขึ้น โดย 1) สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน (unsecured loan) เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล ขยายเพดานภาระหนี้คงค้างเป็นไม่เกิน 10,000 บาทต่อบัญชี และ 2) สินเชื่อที่มีหลักประกัน (secured loan) ซึ่งได้มีการบังคับหลักประกันแล้ว และมีวงเงินสินเชื่อไม่เกินกว่าที่กำหนด (วงเงินสินเชื่อบ้าน หรือ สินเชื่อ SMEs ไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อบัญชี) ขยายเพดานภาระหนี้คงค้างเป็นไม่เกิน 30,000 บาทต่อบัญชี เพื่อให้ลูกหนี้เหล่านี้สามารถเปลี่ยนสถานะการเป็นหนี้ จาก "หนี้เสีย" เป็น "ปิดจบหนี้" และเริ่มต้นใหม่ได้เร็วขึ้น
มาตรการ “จ่าย ตัด ต้น” ซึ่งเป็นมาตรการใหม่สำหรับหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน (unsecured loan) ที่มียอดหนี้คงค้างไม่เกิน 50,000 บาทต่อบัญชี และเป็นหนี้เสีย (สถานะ NPL) โดยการปรับโครงสร้างหนี้ให้มีเงื่อนไขการผ่อนชำระคืนเป็นงวด (term loan) และผ่อนชำระร้อยละ 2 ของเงินต้นคงค้าง เป็นระยะเวลา 3 ปี ซึ่งค่างวดที่ชำระจะนำไปตัดเงินต้นทั้งจำนวน สำหรับดอกเบี้ยจะพักแขวนไว้ และจะได้รับยกเว้นดอกเบี้ยในระหว่างมาตรการหากลูกหนี้สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดได้ ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ให้กับลูกหนี้ทั้งในปัจจุบันและระยะต่อไปได้
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO