ลูกคำนวน 7×4=28 โดนขีดฆ่าว่า "ผิด" เห็นคำตอบที่แก้มา พ่อยิ่งเกาหัว ต่างกันยังไงครับครู?!
ดราม่าเถียงสนั่น! ด.ญ.คำนวณวิชาเลข 7×4=28 แต่ถูกครูหักคะแนน พ่อเกาหัวไม่เข้าใจ การบ้านประถมทำชาวเน็ตถึงกับเสียงแตก
กลายเป็นประเด็นถกเถียงในโลกออนไลน์ไต้หวัน เมื่อเด็กนักเรียนหญิงระดับประถมศึกษา ทำโจทย์คณิตศาสตร์ที่ใครหลายครมองว่าได้ผลลัพธ์ถูกต้อง แต่กลับถูกคุณครูใช้ปากกาสีแดงขีดให้ผิด เพียงเพราะสลับตำแหน่งตัวเลขในการคูณ ทำให้คุณพ่อถึงกับตั้งคำถามว่า “ลูกทำถูกแล้ว ทำไมถึงโดนหักคะแนน?”
เรื่องนี้ไม่ได้หยุดอยู่แค่ในห้องเรียน เมื่อคุณพ่อได้นำภาพโจทย์คณิตศาสตร์ของลูกสาวโพสต์ลงบน Threads พร้อมตั้งคำถามกับชาวเน็ต กลายเป็นประเด็นไวรัลที่มีผู้คนเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างล้นหลาม พร้อมจุดประเด็นใหม่เกี่ยวกับแนวคิดการสอนคณิตศาสตร์ยุคใหม่
ในแบบฝึกหัดดังกล่าวมีการตั้งโจทย์คำถามว่า “บนเนินเขามีวัวอยู่ 7 ตัว ถามว่ามีขารวมทั้งหมดกี่ขา?”
เด็กหญิงตอบได้อย่างถูกต้องว่า 28 ขา โดยเขียนเป็นสมการ 7×4 = 28 แต่กลับถูกครูขีดด้วยปากกาสีแดง พร้อมแนะนำให้แก้เป็นคำตอบที่ถูกต้องคือ 4×7 = 28
เมื่อผู้เป็นพ่อเห็นว่าคำตอบถูกต้องแต่ยังถูกหักคะแนน จึงตั้งคำถามบนโลกออนไลน์ว่า ทำไมการสลับตำแหน่งในการคูณ ถึงทำให้คำตอบผิด ทั้งที่ตามหลักคณิตศาสตร์ การคูณสามารถสลับลำดับตัวเลขได้
ชาวเน็ตถกเถียงหนัก “เข้าใจหลักคูณ vs เข้าใจตรรกะ”
หลังจากโพสต์ถูกเผยแพร่ออกไป เกิดกระแสถกเถียงอย่างดุเดือด หลายฝ่ายออกมาแสดงความเห็นทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับคุณครู โดยมีจุดยืนที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน
กลุ่มที่เห็นด้วยกับคุณครูระบุว่า การเรียงลำดับในสมการคูณมีผลต่อการสร้างความเข้าใจด้านตรรกะ โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่กำลังเริ่มเรียนรู้โครงสร้างของโจทย์
“โจทย์ถามจำนวนขา หมายถึงต้องเอาจำนวนขา (4 ขา) คูณกับจำนวนวัว (7 ตัว) ซึ่งควรเป็น 4×7 เพื่อให้เข้าใจว่า ‘4 ขา ต่อวัว 1 ตัว’ คูณกับ ‘วัว 7 ตัว’ ได้ผลรวมขา 28 ขา”
“แม้การคูณจะสามารถสลับลำดับได้ แต่ความหมายที่สื่อไม่เหมือนกัน 4×7 เน้นหน่วยเป็น ‘ขา’ ขณะที่ 7×4 อาจทำให้เด็กสับสนว่าหน่วยคือ ‘วัว’ ซึ่งอาจส่งผลต่อการตีความในโจทย์ที่ซับซ้อนกว่าในอนาคต”
บางคนยังเสนอเทคนิคช่วยจำสำหรับเด็กเล็กว่า“ให้จำไว้ว่า ‘ค่าที่แน่นอน’ หรือ ‘หน่วยคงที่’ ให้เขียนไว้ข้างหน้า เช่น วัว 1 ตัวมี 4 ขา จำนวนขาคือหน่วยที่ไม่เปลี่ยน ควรอยู่หน้าในสมการ”
ในขณะเดียวกัน ยังมีผู้ใช้อีกจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับคุณครู เพราะเห็นว่าหลักคณิตศาสตร์พื้นฐานระบุชัดว่า การคูณสามารถสลับตำแหน่งตัวเลขได้ และสิ่งสำคัญที่สุดคือ “ตราบใดที่เด็กเข้าใจหลักการ ก็ไม่ควรหักคะแนน” มากกว่าการบังคับให้เขียนในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง
“เด็กตอบถูกตามหลักคณิตศาสตร์ ไม่ควรถูกหักคะแนน เพียงเพราะเขาเขียนสมการในรูปแบบ 7×4 แทนที่จะเป็น 4×7”
“ควรส่งเสริมความเข้าใจ มากกว่าการจำสูตร เพราะสุดท้ายแล้ว 7×4 และ 4×7 ได้ผลลัพธ์เท่ากัน”
แม้ดูเหมือนจะเป็นแค่เรื่องเล็กๆ ในห้องเรียน แต่กรณีนี้สะท้อนแนวโน้มสำคัญในวงการศึกษา โดยเฉพาะด้านคณิตศาสตร์ ที่ในปัจจุบันไม่ใช่แค่สอนให้เด็ก “คิดเลขเร็ว” เท่านั้น แต่ยังต้องสอนให้เด็ก “เข้าใจเหตุผล” และตีความโจทย์ได้อย่างมีตรรกะ
กรณีนี้ยังทำให้พ่อแม่หลายคนสะท้อนว่า “การสอนคณิตศาสตร์ให้ลูกยุคนี้ ไม่ง่ายเหมือนเมื่อก่อน” เพราะนอกจากจะต้องรู้คำตอบ ยังต้องเข้าใจมุมมองของครู วิธีคิด และหลักการตีความที่ซ่อนอยู่ในแต่ละโจทย์ด้วย
แม้สมการ “7×4 = 28” จะให้ผลลัพธ์ถูกต้อง แต่กรณีนี้ได้จุดประกายให้เกิดการพูดคุยเรื่องการศึกษายุคใหม่ ว่าเราควรสอนให้เด็ก “คิดเลขให้เร็ว” หรือ “คิดอย่างมีเหตุผล” ซึ่งต่างก็เป็นเป้าหมายสำคัญของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21