“กกพ.” ต่ออายุโรงไฟฟ้า VSPP ชีวมวลแบบ FiT ได้ 2.28 บาท ไม่กระทบค่าไฟ
ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า จากการร้องเรียนของผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล ที่ได้รับการชดเชยรูปแบบ Adder เพื่อขอความเป็นธรรมในการปรับอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับการต่ออายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้กับโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลแต่กกพ. ไม่สามารถดำเนินการได้
ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในการประชุมครั้งที่ 1/2567 (ครั้งที่ 167) เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 ซึ่งเห็นชอบให้เฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลประเภทที่เปลี่ยนรูปแบบการอุดหนุนจากประเภท Adder เป็น FiT ให้สามารถต่ออายุสัญญาตามจำนวนปีที่ถูกปรับลดได้ ในอัตรารับซื้อไฟฟ้า 2.28 บาท/หน่วย
“กกพ. ได้แจ้งความเห็นให้กับภาคเอกชนแล้ว และจะได้ส่งเรื่องของ VSPP ไปยังสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เพื่อประกอบการพิจารณาของภาคนโยบายต่อไป เพราะไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของ กกพ. การดำเนินการนี้อยู่ภายใต้กรอบนโยบายของ กพช.เพื่อคงประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าชีวมวลเดิมที่ยังสามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่กระทบต่อค่าไฟฟ้าของประชาชน”
โดยหลักเกณฑ์การต่ออายุสัญญาจะครอบคลุมเฉพาะโครงการ
ที่ได้เปลี่ยนจากระบบ Adder เป็น FiT ตามมติ กพช. เมื่อปี 2559 และสามารถต่ออายุได้ เท่ากับระยะเวลาที่สัญญาเดิมถูกปรับลด ตามช่วงเวลาที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์แล้ว โดยมีรายละเอียดดังนี้
สำหรับโครงการที่ได้รับการต่ออายุสัญญาจะได้รับ อัตรารับซื้อไฟฟ้าแบบคงที่ 2.28 บาทต่อหน่วย สำหรับกำลังผลิตตามสัญญาทุกขนาด ตลอดอายุสัญญาที่เหลือ โดยคำนวณจากต้นทุนดำเนินการที่เหมาะสม และไม่รวมต้นทุนการลงทุนเดิม (CAPEX) ที่ได้คืนทุนไปแล้ว
“การพิจารณาอัตรารับซื้อไฟฟ้าในช่วงต่ออายุนี้มุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่อง โดยที่เครื่องจักรอุปกรณ์ยังคงสภาพที่มีประสิทธิภาพใช้การได้ ขณะเดียวกันก็ไม่สร้างภาระให้กับค่าไฟฟ้าของประชาชน”
ส่วนใบรับรองพลังงานหมุนเวียน (REC) หรือคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ที่เกิดจากการผลิตไฟฟ้าในช่วงสัญญาที่ต่ออายุนั้น กพช. มีมติให้เป็นกรรมสิทธิ์ของการไฟฟ้าในฐานะผู้รับซื้อ หรือภาครัฐ เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนนโยบายด้านพลังงานสะอาดของประเทศ
“กกพ. พิจารณาแล้วว่า ทุกโครงการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟภ. และมติ กพช. กำหนดเงื่อนไขต่างๆ เกี่ยวกับการต่ออายุโครงการแล้ว กกพ. จึงให้กฟภ. ในฐานะคู่สัญญา ปฏิบัติตามมติ กพช. สำนักงาน กกพ. จะดำเนินการตามนโยบายอย่างเคร่งครัด เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างมีเสถียรภาพ และสร้างสมดุลระหว่างภาคการผลิตไฟฟ้าและประโยชน์ของประชาชนอย่างยั่งยืน”