ภัยแล้งเขย่าโลกดัน 90 ล้านคน สู่ภาวะอดอยาก วิกฤตน้ำใกล้ล่มสลาย
ภัยแล้งกำลังผลักดันผู้คนนับสิบล้านคนทั่วโลกไปสู่ขอบเหวของความอดอยาก เป็นสัญญาณเตือนของวิกฤตระดับโลกที่กำลังลุกลามอย่างรวดเร็วท่ามกลางสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง
ประชาชนกว่า 90 ล้านคนในแอฟริกาตะวันออกและตอนใต้กำลังเผชิญกับความหิวโหยอย่างรุนแรง หลังเกิดภัยแล้งที่ทำลายสถิติในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรล้มเหลวในวงกว้าง และมีสัตว์เลี้ยงล้มตาย
ในโซมาเลีย ประชากรหนึ่งในสี่กำลังใกล้เข้าสู่ภาวะอดอยาก และมีผู้พลัดถิ่นแล้วอย่างน้อย 1 ล้านคน สถานการณ์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่สะสมมาเป็นเวลาหลายปี เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หนึ่งในหกของประชากรในแอฟริกาตอนใต้ต้องการความช่วยเหลือด้านอาหาร ในซิมบับเว ผลผลิตข้าวโพดเมื่อปีที่แล้วลดลง 70% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และมีวัวตายถึง 9,000 ตัว
จุดเริ่มต้นของหายนะระดับโลก
ตัวอย่างเหล่านี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของหายนะระดับโลกที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้น ตามรายงานว่าด้วยภัยแล้งที่เผยแพร่เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (2 ก.ค.)
ในหลายภูมิภาคทั่วโลก ภัยแล้งและการจัดการน้ำที่ผิดพลาด กำลังก่อให้เกิดการขาดแคลนที่กระทบต่ออาหาร พลังงาน และสุขภาพของประชาชน
มาร์ก สโวโบดา ผู้อำนวยการผู้ก่อตั้งศูนย์บรรเทาภัยแล้งแห่งชาติสหรัฐฯ (National Drought Mitigation Center - NMDC) และผู้เขียนร่วมรายงานดังกล่าว ระบุว่า นี่ไม่ใช่แค่ช่วงแล้งธรรมดา แต่นี่คือหายนะระดับโลกที่ดำเนินไปอย่างช้า ๆ เลวร้ายที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมา
รายงานฉบับนี้จัดทำโดย NMDC อนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อสู้กับการแปรสภาพเป็นทะเลทราย (UNCCD) และพันธมิตรความร่วมมือด้านความยืดหยุ่นต่อภัยแล้งระหว่างประเทศ (International Drought Resilience Alliance) ซึ่งได้ศึกษาละเอียดในกว่า 12 ประเทศใน 4 ภูมิภาคหลัก ได้แก่ แอฟริกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ละตินอเมริกา และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
โดยอาศัยข้อมูลจากรัฐบาล สถาบันวิทยาศาสตร์ และแหล่งท้องถิ่น ผู้จัดทำรายงานสามารถสร้างภาพรวมของความทุกข์ยากของประชาชนและความเสียหายทางเศรษฐกิจขึ้นมาได้
ภัยแล้งส่งผลให้ระดับน้ำในคลองปานามาตกต่ำ
ในละตินอเมริกา ภัยแล้งส่งผลให้ระดับน้ำในคลองปานามาตกต่ำลงอย่างรุนแรง ทำให้การขนส่งหยุดชะงัก การค้าโลกหดตัวอย่างมาก และต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น โดยปริมาณการจราจรทางน้ำลดลงมากกว่าหนึ่งในสามระหว่างเดือนตุลาคม 2023 ถึงมกราคม 2024
ช่วงต้นปี 2024 โมร็อกโกประสบกับภัยแล้งต่อเนื่องถึง 6 ปี ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำถึง 57% ส่วนในสเปน การผลิตน้ำมันมะกอกลดลง 50% อันเป็นผลจากการขาดฝน ทำให้ราคาน้ำมันมะกอกพุ่งขึ้นเป็นสองเท่า
ในตุรกี การเสื่อมโทรมของที่ดินทำให้ 88% ของประเทศตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะกลายเป็นทะเลทราย และความต้องการใช้น้ำในภาคเกษตรทำให้ชั้นน้ำบาดาลแห้งเหือด จนเกิดหลุมยุบขนาดใหญ่ในหลายพื้นที่
ประเทศในแถบเมดิเตอร์เรเนียนเปรียบเสมือนนกขมิ้นในเหมืองถ่านหินสำหรับเศรษฐกิจสมัยใหม่ทั้งหมด ความยากลำบากของสเปน โมร็อกโก และตุรกีในการจัดหาน้ำ อาหาร และพลังงานท่ามกลางภัยแล้งที่ยืดเยื้อ คือภาพตัวอย่างของอนาคตด้านน้ำภายใต้ภาวะโลกร้อนที่ไม่มีการควบคุม ไม่มีประเทศใด ไม่ว่าจะร่ำรวยหรือมีศักยภาพเพียงใด สามารถนิ่งนอนใจได้
ปรากฏการณ์เอลนีโญในช่วงสองปีที่ผ่านมาได้ซ้ำเติมแนวโน้มโลกร้อนที่เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ผู้จัดทำรายงานระบุว่า อุณหภูมิที่สูงและฝนที่ตกน้อย ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางในปี 2023 และ 2024 ทั้งการขาดแคลนน้ำเพื่อการบริโภค อาหาร และพลังงาน
ผลกระทบจากภัยแล้งขยายวงกว้างเกินขอบเขตของประเทศที่ได้รับผลกระทบ รายงานเตือนว่าภัยแล้งทำให้เกิดความปั่นป่วนต่อการผลิตและห่วงโซ่อุปทานของพืชเศรษฐกิจหลัก เช่น ข้าว กาแฟ และน้ำตาล
ในปี 2023-2024 ภาวะแห้งแล้งในไทยและอินเดียก่อให้เกิดภาวะขาดแคลน ซึ่งทำให้ราคาน้ำตาลในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 9%
รายงานดัังกล่าวเป็นอีกหนึ่งในคำเตือนล่าสุดเกี่ยวกับวิกฤตน้ำของโลก
น้ำจืดกำลังเป็นที่ต้องการมากขึ้นกว่าเดิม แต่การรวมกันของภาวะโลกร้อน ซึ่งทำให้รูปแบบฝนเปลี่ยนแปลง ทำให้พื้นที่แห้งแล้งยิ่งแห้งขึ้น และในบางพื้นที่เกิดฝนตกหนักแบบฉับพลัน ประกอบกับการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดและมลพิษต่อแหล่งน้ำ ทำให้โลกเผชิญความเสี่ยงอย่างร้ายแรง
ความต้องการใช้น้ำจืดจะสูงเกินกว่าปริมาณที่มีอยู่ถึง 40% ภายในสิ้นทศวรรษนี้ และการผลิตอาหารมากกว่าครึ่งของโลกจะเผชิญความเสี่ยงล้มเหลวในอีก 25 ปีข้างหน้า ตามรายงานสถานการณ์ทรัพยากรน้ำโลกฉบับใหญ่ที่สุดที่เผยแพร่เมื่อฤดูใบไม้ร่วงปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ รายงานเมื่อเดือนมีนาคมยังเน้นถึงการสูญเสียน้ำแข็งจากธารน้ำแข็งในระดับที่ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนซึ่งกำลังคุกคามแหล่งอาหารและน้ำของประชากร 2 พันล้านคนทั่วโลก
เมื่อเดือนที่แล้ว องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ระบุว่า พื้นที่แผ่นดินทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในช่วง 120 ปีที่ผ่านมา และต้นทุนของภัยแล้งก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยคาดว่า ในปี 2035 ความเสียหายจากภัยแล้งเฉลี่ยจะสูงกว่าปัจจุบันอย่างน้อย 35%
อิบราฮิม เทียว เลขาธิการบริหารของอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อสู้กับการแปรสภาพเป็นทะเลทราย ซึ่งเป็นสนธิสัญญาระดับโลกที่ลงนามในปี 1992 เพื่อป้องกันผลกระทบเลวร้ายที่สุดจากภัยแล้ง ระบุว่าปัญหานี้ยังไม่ได้รับความสนใจเพียงพอ
ภัยแล้งคือฆาตกรเงียบ มันคืบคลานเข้ามา ค่อย ๆ สูบทรัพยากร และทำลายชีวิตอย่างช้า ๆ รอยแผลของมันลึกมาก
เขาเสริมว่า ภัยแล้งไม่ใช่ภัยคุกคามที่อยู่ห่างไกลอีกต่อไป ซึ่งกำลังทวีความรุนแรง และต้องการความร่วมมือจากทั่วโลกอย่างเร่งด่วน เมื่อพลังงาน อาหาร และน้ำหายไปพร้อมกัน สังคมจะเริ่มพังทลาย นั่นคือความปกติแบบใหม่ที่ต้องเตรียมตัวให้พร้อม
อ้างอิงข้อมูล
- unccd