แค่ได้ดีลสหรัฐยังไม่พอ แบงก์ชาติอินโดฯ 'หั่นดอกเบี้ย' กระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม
ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงลง 0.25% ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินวันนี้ (16 ก.ค.68) ซึ่งเป็นการลดดอกเบี้ย "ครั้งที่ 4" นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2567 และระบุว่าข้อตกลงภาษีศุลกากรที่บรรลุกับสหรัฐ เป็นผลดีต่ออินโดนีเซีย ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของอาเซียน ท่ามกลางการค้าโลกที่อ่อนแอลง และอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัว
แบงก์ชาติอินโดนีเซีย ปรับลดอัตราดอกเบี้ยธุรกรรม Reverse Repo ระยะ 7 วัน ลดลง 0.25% สู่ระดับ 5.25% และลดดอกเบี้ยอ้างอิงอีกสองรายการลง โดยเป็นไปตามความหมายของผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์โดยรอยเตอร์ส
เพอร์รี วาร์จิโย ผู้ว่าการธนาคารกลางอินโดนีเซีย กล่าวว่า BI "จะยังคงพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม" โดยอ้างถึงการคาดการณ์ว่า "อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับต่ำไปจนถึงปี 2569 ค่าเงินรูเปียห์จะมีเสถียรภาพ และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ย่ำแย่"
“ธนาคารกลางอินโดนีเซียได้ดำเนินมาตรการอย่างเต็มที่เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงสนับสนุนการเติบโตของสินเชื่อด้วย” ผู้ว่าแบงก์ชาติอินโดฯ แถลง
ผู้ว่าแบงก์ชาติอินโดนีเซีย กล่าวด้วยว่า BI ยินดีกับการบรรลุข้อตกลงการค้ากับสหรัฐ ซึ่งตกลงอัตราภาษีนำเข้าจากอินโดนีเซียได้ที่อัตรา 19% จากเดิม 32% ที่รัฐบาลวอชิงตันเคยเสนอไว้ในตอนแรก ข้อตกลงดังกล่าวถือเป็น "พัฒนาการเชิงบวก" ที่จะสนับสนุนการส่งออก และแนวโน้มเศรษฐกิจของอินโดนีเซียในวงกว้าง โดยธนาคารกลางยังคงคาดการณ์การเติบโตของจีดีพีประเทศในปีนี้เอาไว้ที่ 4.6 - 5.4%
วาร์จิโยยังแสดงความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มการส่งออกของอินโดนีเซีย หลังจากมีการปรับแก้ไขข้อตกลงภาษีกับสหรัฐ
"แน่นอนว่าข้อตกลงนี้จะช่วยเพิ่มการนำเข้า แต่ในมุมมองของเรา การนำเข้าเหล่านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการผลิต ซึ่งจะช่วยเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต" วาร์จิโย กล่าวพร้อมเสริมว่า ความแน่นอนที่ได้มาจากดีลนี้จะช่วยในการตัดสินใจทางธุรกิจ และโอกาสในการไหลเข้าของเงินทุนด้วย
ทางด้านนักวิเคราะห์บางรายมองว่า การบรรลุข้อตกลงกับสหรัฐได้เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ทำให้แบงก์ชาติอินโดนีเซียมีเหตุผลอีกประการหนึ่งในการผ่อนคลายนโยบายการเงิน โดย ราธิกา ราว นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคาร DBS กล่าวว่า "ความระมัดระวังต่อปัจจัยภายนอกถูกถ่วงดุลด้วยข่าวดีใหม่เกี่ยวกับข้อตกลงการค้า"
"ในปีนี้ผู้กำหนดนโยบาย (ธนาคารกลาง) ถือว่าใช้จังหวะได้อย่างชาญฉลาด โดยอาศัยช่วงที่ตลาดมีเสถียรภาพดำเนินการลดอัตราดอกเบี้ยอย่างรอบคอบ ซึ่งการปรับลดครั้งล่าสุดก็เกิดขึ้นท่ามกลางความสำเร็จในการบรรลุข้อตกลงการค้ากับสหรัฐเช่นกัน"
ก่อนหน้านี้ การใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ซบเซาลงส่งผลให้จีดีพีของอินโดนีเซียอ่อนแรงลงในไตรมาสแรก ขณะที่แนวโน้มในไตรมาสต่อๆ มาก็ถูกบดบังด้วยผลกระทบของมาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐที่มีต่อการค้าโลก
พิสูจน์อักษร….สุรีย์ ศิลาวงษ์