กมธ.ทหารฯ วุฒิสภาถกอนาคตชาติ ใกล้สงครามโลก-ภาษีสหรัฐฯ กดดันหนัก
วันนี้ (16 ก.ค.2568) ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การทหารและความมั่นคงของรัฐ วุฒิสภา จัดเสวนาวิชาการหัวข้อ"ความมั่นคงกับอนาคตประเทศไทย" โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ รศ.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการอิสระด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ, รศ.ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์นโยบายและการเมือง, ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และนายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายข่าวไทยพีบีเอส เป็นผู้ดำเนินรายการ
พล.อ.สวัสดิ์ ทัศนา ประธานกมธ.การทหารฯ กล่าวเปิดงานว่า กมธ.ติดตามสถานการณ์ด้วยความไม่สบายใจเช่นเดียวกับประชาชนส่วนใหญ่ จึงจัดเวทีนี้เพื่อถกแถลงข้อมูลและเสนอแนะนโยบายต่อรัฐบาล
ผศ.วันวิชิต กล่าวถึงภาพรวมความมั่นคงว่า การป้องกันประเทศและรักษาอธิปไตยไม่ใช่หน้าที่ของทหารเพียงอย่างเดียว แต่พลเรือนและฝ่ายการเมืองมีบทบาทมากขึ้น ผู้นำการเมืองต้องมีความรู้ด้านความมั่นคงอย่างเพียงพอ โดยชี้ว่าช่วง 5 ปีของรัฐบาล คสช. ตัวเลขด้านความมั่นคงดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่รัฐบาลพลเรือนปัจจุบันให้ความสำคัญกับเรื่องปากท้องและคะแนนนิยมมากกว่าความมั่นคง ซึ่งแตกต่างจากแนวคิดของทหารที่มุ่งเน้นความมั่นคงโดยไม่คำนึงถึงความนิยม
รศ.ธนพร ศรียากูล ระบุว่า ปัญหาความมั่นคงชาติในปัจจุบันต้องเริ่มจากการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี โดยไม่ต้องกลัวการเปลี่ยนม้ากลางศึก เพราะสามารถทำได้ตามกระบวนการกฎหมาย พร้อมยกตัวอย่างที่นายใหญ่เคยระบุว่านายชัยเกษม นิติสิริ ก็สามารถเป็นนายกฯ ได้ เขายังเรียกร้องให้วุฒิสภาเปิดอภิปรายทั่วไปตาม ม.153 โดยไม่ต้องรอผลจากศาลรัฐธรรมนูญหรือ ป.ป.ช. แม้ว่ารัฐบาลอาจพยายามล็อบบี้ขัดขวาง แต่ผู้นำต้องมีความน่าเชื่อถือจากประชาชนเพื่อขับเคลื่อนงานต่อไปได้
รศ.ปณิธาน วัฒนายากร กล่าวว่า การตัดสินใจด้านความมั่นคงจะกำหนดอนาคตประเทศไทยทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และการต่างประเทศ แต่รัฐบาลปัจจุบันยังตัดสินใจได้ไม่ดีนัก โดยสถานการณ์โลกขณะนี้ไม่ปกติใน 3 ประเด็นหลัก
- สงครามโลกครั้งที่ 3 ใกล้กว่าที่คิด ด้วยสงครามแบบเบ็ดเสร็จที่เกิดในทุกสมรภูมิ
- สงครามยูเครน-รัสเซียและความขัดแย้งทั่วโลกที่มีความซับซ้อนและยืดเยื้อ
- ภัยคุกคามสมัยใหม่ เช่น ภัยการเมือง เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสงครามการค้าที่ไทยถูกสหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าร้อยละ 36 ซึ่งต้องปรับสมดุลยุทธศาสตร์ใหม่
เขายังเสนอให้ทบทวนการทำงานของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และ MOU 43 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะการเจรจากับกัมพูชา
ในประเด็นการตั้งฐานทัพของสหรัฐฯ รศ.ปณิธานระบุว่า การอนุญาตให้สหรัฐฯ ตั้งฐานทัพถาวรในไทยขัดต่อกติกาของไทยและอาเซียน แต่การให้เช่าพื้นที่ทำได้หากทำให้จีนยอมรับได้ โดยแนะนำให้ชะลอการตัดสินใจและคำนวณผลประโยชน์อย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้ชักศึกเข้าบ้านหรือเสียเปรียบในการเจรจาภาษี เขายังตั้งข้อสังเกตว่าการที่เวียดนามได้ลดภาษีอาจเกี่ยวข้องกับดีลฐานทัพ ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ตั้งแต่สมัยโอบามา
ผศ.วันวิชิต เสริมว่า ภาษีทรัมป์ร้อยละ 36 เป็นเครื่องมือของสหรัฐฯ ที่เปรียบเสมือน "จิ้มก้อง" ในรูปแบบรัฐบรรณาการสมัยใหม่ ซึ่งต่างจากจีนที่ใช้การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างมิตรภาพ ไทยต้องยึดมั่นในอธิปไตยเช่นสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อไม่ให้ตกเป็นเมืองขึ้นของมหาอำนาจ เขายกตัวอย่างกัมพูชาที่อนุญาตให้จีนตั้งฐานทัพเรือ ซึ่งแสดงถึงการยอมจำนนต่ออิทธิพลมหาอำนาจ
อ่านข่าวอื่น :
"สุชาติ" จี้ พศ.ทำงานเชิงรุกคุมพระ-วัด ห้ามมีข่าวฉาว
ไร้เงา "พระเทพปวรเมธี" ขณะผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดประยุรฯ ชี้คุยแชตอาบัติสังฆาทิเสส