ไทยจ่อยอมสหรัฐมากขึ้น แลกไม่ถูกเก็บภาษีนำเข้าสินค้า 36%
บลูมเบิร์ก รายงานว่า ไทยกำลังพยายามครั้งสุดท้ายเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีส่งออก 36% ที่รัฐบาลทรัมป์ขู่ไว้ โดยเสนอเปิดตลาดให้สินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมของสหรัฐ รวมถึงซื้อพลังงาน และเครื่องบินโบอิงเพิ่มขึ้น
ข้อเสนอล่าสุดของไทย มีเป้าหมายที่จะกระตุ้นปริมาณการค้าทวิภาคี และลดดุลการค้า 46,000 ล้านดอลลาร์ ของไทยกับสหรัฐลง 70% ภายใน 5 ปี และจะถึงจุดสมดุลภายใน 7-8 ปี นายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์กนิวส์เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งเร็วกว่าคำมั่นสัญญาที่จะขจัดการเกินดุลการค้านี้ภายใน 10 ปีภายใต้ข้อเสนอที่เสนอโดยไทยก่อนหน้านี้
นายพิชัย คาดว่า จะยื่นข้อเสนอแก้ไขใหม่ก่อนวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดการพักการขึ้นภาษีนำเข้า 90 วันที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศไว้
หากได้รับการยอมรับ ประเทศไทยจะสามารถยกเว้นภาษีนำเข้าหรืออุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าส่วนใหญ่ในทันที ในขณะที่จะค่อยๆ ยกเลิกข้อจำกัดสำหรับสินค้าส่วนน้อยลง เขากล่าว
การแก้ไขดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่นายพิชัย ได้ประชุมกับนายจามีสัน กรีเออร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ และนายไมเคิล ฟอลเคนเดอร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ในการเจรจาเกี่ยวกับภาษีศุลกากรระดับรัฐมนตรีครั้งแรก
เนื่องจากสินค้าของสหรัฐ ที่จะสามารถเข้าถึงตลาดของไทยได้มากขึ้นนั้นเป็นสินค้าที่ไทยผลิตได้เองไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดภายในประเทศ จึงไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรหรือผู้ผลิตในท้องถิ่น นายพิชัย กล่าว
“สิ่งที่เรานำเสนอให้พวกเขานั้นเป็นข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน” นายพิชัย กล่าว “สหรัฐ สามารถค้าขายกับเราได้มากขึ้น และเราจะได้มีโอกาสปรับปรุงกระบวนการของเรา และลดขั้นตอนที่ยุ่งยาก”
หวั่นไทยต้องเสียภาษีสูงกว่าเวียดนาม
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่กำลังเร่งสรุปข้อตกลงกับสหรัฐ และพยายามหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรสูง
หากไทยไม่สามารถลดกำแพงภาษีศุลกากรของตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของไทยได้ อาจส่งผลให้ปริมาณการขนส่งสินค้าลดลงอย่างรวดเร็ว และอาจจะทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจของไทยหายไปถึง 1%
เวียดนามซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านบรรลุข้อตกลงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยทรัมป์ประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าในอัตรา 20 % และอัตราภาษีนำเข้าสินค้าที่ถือเป็นสินค้าต่างประเทศขนส่งผ่านเวียดนาม 40 %
ไทยกำลังผลักดันให้สหรัฐเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 10% ซึ่งเป็นอัตราที่ดีที่สุด นายพิชัย กล่าว และเสริมว่าแม้จะถูกเก็บภาษีระดับ 10 - 20 % ก็ถือว่ายอมรับได้“สิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้ก็คือ เราจะได้รับข้อตกลงที่เลวร้ายที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคนี้”
นอกจากนี้ ไทยยังได้ปรับแผนการซื้อพลังงานจากสหรัฐ อย่าง “เข้มข้น” มากขึ้น โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติเหลว และเครื่องบินโบอิง ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดความไม่สมดุลทางการค้าได้อย่างมาก นายพิชัย กล่าว
บริษัทปิโตรเคมีของไทย รวมถึงบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ต่างให้คำมั่นว่าจะนำเข้าเอทานอลจากสหรัฐ มากขึ้น โดยบริษัทพีทีที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สามารถซื้อ LNG จากโครงการก๊าซในอลาสก้าได้ปีละ 2 ล้านตันในระยะเวลา 20 ปี ขณะที่บริษัทที่รัฐควบคุมกำลังพิจารณาผลประโยชน์ในการร่วมพัฒนาโครงการนี้ การบินไทย สายการบินแห่งชาติของไทย ระบุว่าอาจซื้อเครื่องบินโบอิงมากถึง 80 ลำในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
การลดอัตราภาษีนำเข้าของสหรัฐ ถือเป็นกุญแจสำคัญในการปกป้องเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการค้าไม่ให้ตกต่ำลงอีก การเติบโตอยู่ภายใต้แรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการบริโภคภายในประเทศที่ซบเซา ข้อตกลงที่เป็นประโยชน์จะช่วยบรรเทาความกังวลของนักลงทุนที่เกิดจากความวุ่นวายทางการเมืองหลังจากที่ศาลมีคำสั่งพักงานนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าประพฤติผิดทางจริยธรรมในการจัดการข้อพิพาทชายแดนกับกัมพูชา
การส่งออกของไทยพุ่งขึ้นประมาณ 15% ในช่วงห้าเดือนแรกของปี ซึ่งส่วนใหญ่มาจากคำสั่งซื้อล่วงหน้าก่อนช่วงผ่อนปรนภาษี 90 วันจะสิ้นสุดลง
พิสูจน์อักษร….สุรีย์ ศิลาวงษ์