Oversharing เล่าดราม่าชีวิตในออฟฟิศมากไป งานอาจพังไม่รู้ตัว
โลกการทำงานยุค 2025 ถูกพลิกโฉมหน้าเปลี่ยนไปจากเดิม ไม่ใช่แค่เกิดจากเทคโนโลยีเข้าสมาดิสรัปต์วิธีการทำงานเท่านั้น แต่ออฟฟิศหลายแห่งก็เริ่มเกิดวัฒนธรรมการทำงานใหม่ๆ ขึ้นมา ซึ่งสอดรับกับไลฟ์สไตล์ของคนทำงานรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดเวลางาน การทำงานไฮบริด หรือการให้สวัสดิการดูแลสุขภาพร่างกาย สุขภาพจิตใจ มีห้องสันทนาการ มุมขนมและอาหารฟรี ฯลฯ
ล่าสุด.. เกิดเทรนด์พฤติกรรมหนึ่งที่ดูไม่ดีนักในที่ทำงาน นั่นคือ "Oversharing" หรือพฤติกรรม "เทดราม่ากลางออฟฟิศ" (Trauma dumping) ซึ่งทุกวันนี้พบได้บ่อยในออฟฟิศจำนวนไม่น้อย และกำลังกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ของคนวัยทำงานรุ่น Gen Z ที่เติบโตมากับความกล้าที่จะเปิดเผยปัญหาภาวะสุขภาพจิต และการเป็นตัวของตัวเอง
แต่ในโลกการทำงานจริง… ความกล้าเปิดเผยจริงใจที่มากไป อาจกลายเป็นดาบสองคมในการเข้าสังคมที่ทำงาน
เล่าดราม่าส่วนตัวตั้งแต่เริ่มงานได้ไม่กี่นาที (เข้างาน 09.00 เริ่มเม้าท์เลย 09.03 น.)
ลองนึกภาพว่าคุณเพิ่งเริ่มงานตอน 9 โมงเช้า แต่เพื่อนร่วมงานกลับเล่าเรื่องรักพังๆ หรือปัญหาทางสุขภาพส่วนตัวให้คุณฟัง ตั้งแต่ยังไม่ทันจิบกาแฟหมดแก้ว
เรื่องนี้ไม่ใช่แค่ความบังเอิญ แต่กำลังเป็นพฤติกรรมที่เกิดบ่อยขึ้นเรื่อยๆ ในที่ทำงานยุคใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มพนักงาน Gen Z ที่มองว่าการแบ่งปันเรื่องส่วนตัวคือการ "เปิดเผยตัวตน" ที่แท้จริงในออฟฟิศ
“ในรุ่นฉัน เวลาจะแชร์อะไร มันจะมีแค่เพื่อนซี้ในที่ทำงานคนเดียวที่เราจะบอกว่า ‘แก เดาไม่ออกแน่ ว่าฉันไปทำอะไรมาเมื่อคืน’ แต่กับ Gen Z พวกเขาดูจะเปิดเผยมากกว่านั้น ทั้งเรื่องครอบครัว ความเจ็บป่วย หรืออะไรก็ตามที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่” อาเดรียนา ลีมา (Adriana Lima) พนักงานระดับผู้จัดการวัย 32 ปี (ไม่ใช่นางแบบชาวบราซิลที่ชื่อคล้ายกัน) สะท้อนมุมมองต่อประเด็นนี้ผ่าน Business Insider
ความจริงใจ กลายเป็น ดราม่า ที่คนอื่นไม่ได้ร้องขอ อาจนำไปสู่ Toxic
พฤติกรรมนี้เรียกได้หลายชื่อ ทั้ง Trauma dumping, Emotional vampiring หรือ "การแชร์เรื่องส่วนตัวเกินงาม" ซึ่งหลายครั้งก็สร้างความอึดอัดให้คนรอบข้าง และทำให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลเริ่มตั้งคำถามว่า… ควรรับมือกับพนักงานแบบนี้ยังไง
แคร์รี บัลเกอร์ (Carrie Bulger) นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Quinnipiac มองว่าส่วนหนึ่งเกิดจาก เส้นแบ่งระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัวของผู้คนยุคนี้ที่ขยับเข้ามาชิดกันมากขึ้นจนแทบแยกไม่ออก เธอบอกว่า “ทุกวันนี้งานไหลตามเรากลับบ้านได้ง่ายๆ ผ่านมือถือ แล้วทำไมเรื่องส่วนตัวจะไม่ไหลย้อนไปสู่ที่ทำงานบ้างล่ะ? การพ่นดราม่าใส่กันเลยกลายเป็นเรื่องปกติ”
ขณะที่ คาร์ลา เบวินส์ (Carla Bevins) นักวิชาการด้านการสื่อสารธุรกิจและความเป็นผู้นำ จากมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon เตือนว่า “ชื่อเสียงในการทำงานขึ้นอยู่กับการสื่อสารอย่างชัดเจนและน่าเชื่อถือ การแชร์เกินไปอาจทำให้ภาพลักษณ์เสียหาย "การแสดงความจริงใจ" กับ "การไม่กลั่นกรองคำพูด" …เป็นคนละเรื่องกัน”
ในบางองค์กรที่มีการแข่งขันสูง โครงสร้างชัดเจน และลำดับขั้นเคร่งครัด การเล่าชีวิตส่วนตัวของคุณมากเกินไป อาจทำให้เกิดอคติหรือกลายเป็นหัวข้อการนินทาภายในออฟฟิศโดยที่คุณไม่รู้ตัว
ในอีกมุมหนึ่ง Gen Z บางคนก็แค่ “อยากเป็นตัวของตัวเอง”
อลิสัน กรีน (Alison Green) คอลัมนิสต์สายอาชีพการงาน ระบุว่า Gen Z รู้สึกสบายใจกับการพูดเรื่องสุขภาพจิตแบบเปิดเผยมากขึ้น พวกเขาต้องการลดตราบาปเหล่านี้ให้หมดไปจากที่ทำงาน อย่างไรก็ตาม เธอยอมรับว่า “วัฒนธรรมองค์กรและสังคมโดยรวม ยังไม่ค่อยให้คำแนะนำพวกเขาเกี่ยวกับการรักษา ‘ขอบเขต’ ระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัวได้ดีนัก”
นอกจากการเปิดเผยทางอารมณ์แล้ว The Post ยังรายงานว่า "การลุกออกไปหาของกินตอนบ่ายสาม" ก็กลายเป็นเหมือนพิธีกรรมใหม่ของ Gen Z ในที่ทำงาน เกรซ การ์ริก (Grace Garrick) ผู้บริหารสาย PR วัย 30 ปีเล่าว่า พนักงานรุ่นใหม่ของเธอมีวินัยกับการพักเบรกบ่ายสามจนร้านข้างออฟฟิศจำหน้าได้
“บ่ายสามไม่ใช่แค่เวลาพัก แต่มันดูเหมือนรางวัลชีวิตของพวกเขา หลังจากฝ่าฟันการทำงานช่วงเช้ามาได้” เธออธิบาย
วัฒนธรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของ Gen Z ที่จะ "รีแบรนด์" วัฒนธรรมองค์กรใหม่ให้ยืดหยุ่น เป็นมิตร และใส่ใจความสบายมากขึ้น แม้จะหมายถึงเบรกย่อยตลอดวัน ดื่มน้ำ 3 แก้วบนโต๊ะ และแวะไถมือถือดู TikTok เป็นระยะๆ
ไม่ใช่ทุกคนจะปลื้ม "วัฒนธรรมองค์กรใหม่" ที่คนรุ่นนี้ทำ
ในมุมมองของ ร็อกแซนน์ คัลเดอร์ (Roxanne Calder) ผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานเตือนว่า “การพักเบรกบ่อยๆ อาจไม่ใช่การดูแลจิตใจตัวเอง แต่อาจเป็นการ ‘หนีงานย่อยๆ’ ที่ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ” นำมาสู่คำถามต่อมาคือ แล้ว HR ของบริษัทจะจัดการเรื่องนี้ยังไงดี?
ขณะที่ ซาชา เลเธอร์บาโรว์ (Sasha Leatherbarrow) ผู้นำฝ่ายทรัพยากรบุคคลระดับโลกของบริษัท Bansk Beauty ได้ ฝากข้อคิดถึงวัยทำงานรุ่นใหม่ไว้อย่างเรียบง่ายว่า
“คุณไม่จำเป็นต้องเล่าทุกอย่าง แค่ต้องรู้จังหวะว่าตอนไหนควรเล่าหรือพูดเรื่องอะไรกับคนที่ทำงาน เราอยากเห็นความเป็นตัวตนที่แท้จริงของคุณ แต่ไม่ใช่ดราม่าชีวิต ที่เพื่อนร่วมงานไม่ได้ขอรับฟัง”
3 วิธีรับมือ ถ้าคุณเป็นเหยื่อ โดนเพื่อนร่วมงานพ่นดราม่าใส่เกินพอดี
นอกจากนี้ หากคุณเป็นหนึ่งในผู้ที่กลายเป็นเหยื่อ ถูกคนอื่นพ่นดราม่าชีวิตใส่แทบทุกวันในออฟฟิศทั้งที่ไม่ได้อยากฟัง แบบนี้ควรรับมือยังไงดี? มีข้อมูลจากหลายแหล่งระบุถึง วิธีรับมือกับเพื่อนร่วมงานที่มีพฤติกรรม Trauma dumping เอาไว้ดังนี้
1. ตั้งขอบเขต (Set Clear Boundaries)
หากเพื่อนร่วมงานเริ่มแชร์ปัญหาชีวิตของเขาหรือเธอหนักเกินไป ให้พูดอย่างสุภาพแต่ชัดเจน เช่น “ขอบคุณที่เล่าให้ฟัง แต่ช่วงนี้ผม/ฉัน อยากโฟกัสเรื่องงานก่อนนะครับ/ค่ะ” จากนั้นใช้ภาษากายช่วยเสริม เช่น หันไปทำงาน ดึงสายตา หรือใช้โทนเสียงที่หนักแน่นหรือเข้มขึงมากขึ้น เมื่อเริ่มรู้สึกอึดอัดในบทสนทนานั้นๆ
2. เปลี่ยนเรื่องหรือปิดบทสนทนาอย่างสุภาพ
ให้คำตอบสั้นๆ พร้อมจบประโยค เช่น "นั่นฟังดูหนักมากนะ ผม/ฉันขอเปลี่ยนเรื่องไปที่งานละกัน" ทั้งนี้ มีหนึ่งใรผู้ใช้ Reddit แนะนำให้ “เสนอหมากฝรั่ง” ให้คนๆ นั้นเอาไปเคี้ยวแก้เครียด ก็ถือเป็นวิธีนุ่มนวลเบี่ยงเบนบทสนทนาได้ดี
3. ดูแลตัวเองอย่างมีสติ
ถ้ารู้สึกหนักใจตามเรื่องราวที่คนอื่นมาเทดราม่าใส่เรา จนกลายเป็นว่าเกิดสภาพจิตตก ลองหยุดคุยชั่วคราว หรือขอเวลาให้รู้ตัวว่า “ผม/ดิฉัน รับไม่ไหวตอนนี้” จากนั้นพยายามรักษาสมดุลด้วยการพักสายตา หายใจลึกๆ หรือเดินออกไปพักเพื่อคลายความเครียด
วิธีการรับมือเหล่านี้โดยเฉพาะการตั้งขอบเขต จะช่วยป้องกันภาระทางอารมณ์ที่รับแบบไม่รู้ตัว ขณะที่การเปลี่ยนเรื่องคุย หรือขัดจังหวะบทสนทนาเบาๆ ช่วยรักษาความสัมพันธ์ที่ดีโดยไม่ทำร้ายจิตใจอีกฝ่าย อีกทั้งยังช่วยรักษา productivity ในที่ทำงาน ขณะที่การดูแลตัวเองเป็นการปกป้องสุขภาพจิตของคุณเอง ซึ่งเป็นสิทธิ์ที่ทุกคนควรมีในที่ทำงาน
อ้างอิง: Businessinsider, NewYorkPost, Theofficepass, Washingtonpost, Reddit