โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เผยคำตอบโครงกระดูกมนุษย์ท่าพิสดาร ณ จุดสร้างสถานีรถไฟฟ้าศิริราช ใน “ไขปริศนาความตายท้ายเมืองธนบุรี”

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 1 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 4 ชั่วโมงที่ผ่านมา
ภาพ

เผยผลการศึกษาโครงกระดูกมนุษย์นอนคว่ำหน้า มือกับเท้าไพล่หลัง ณ จุดสร้างสถานีรถไฟฟ้าศิริราช ใน “ไขปริศนาความตายท้ายเมืองธนบุรี”

การพบโครงกระดูกมนุษย์จำนวนมากในพื้นที่ก่อสร้างสถานีศิริราช โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ใกล้วัดอมรินทรารามวรวิหาร ฝั่งธนบุรี เป็นการค้นพบครั้งสำคัญในแวดวงโบราณคดีและประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะเมื่อลักษณะของโครงกระดูกส่วนใหญ่อยู่ในท่านอนคว่ำหน้า มือกับเท้าไพล่หลัง ยิ่งเป็นจุดสนใจว่าทำไมร่างจำนวนมากมายจึงถูกฝังกลบในท่าดังกล่าว ณ ที่แห่งนี้

กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ได้เข้าตรวจสอบขุดค้นและศึกษาหลักฐานต่าง ๆ จากในพื้นที่ จนได้ข้อสรุปที่ค่อนข้างแน่นอนแล้ว นำมาสู่งานเสวนา“ไขปริศนาความตายท้ายเมืองธนบุรี” เมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 เวลา 10.00-12.30 น. ณ ห้องประชุมใหญ่ สำนักหอสมุดแห่งชาติ วาสุกรี

งานนี้มีวิทยาการร่วมเสวนา ได้แก่ นางสุริยา สุดสวาท นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ กองโบราณคดี กรมศิลปากร, อ. ดร. นฤพล หวังธงชัยเจริญคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, รศ. ดร. ชาติชาย มุกสงคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ ผศ. นพ. ดร. ณปกรณ์ ฉายแสง ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ดำเนินการเสวนาโดย นายชัยสิทธิ์ ปะนันวงศ์นักอักษรศาสตร์ชำนาญการ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร และ นางสาวอิสราวรรณ อยู่ป้อมนักโบราณคดีชำนาญ กองโบราณคดี กรมศิลปากร ในการนี้ พนมบุตร จันทรโชติอธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานกล่าวเปิดงานและร่วมฟังการเสวนาด้วย

ธนบุรีในอดีต

ย่านเมืองธนบุรีเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จากการเป็นชุมชนเล็ก ๆ ในฐานะเมืองด่านขนอน ที่พักเรือและตรวจสินค้าของพ่อค้าชาวต่างชาติที่จะเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยา ปรากฏหลักฐานอยู่ในกฎหมายตราสามดวงที่กล่าวย้อนไปสมัยเจ้าสามพระยา ว่ามีตำแหน่ง “นายพระขนอนธนบุรี”

เมื่อเกิดคลองลัดบางกอก (ต่อมาเป็นลำน้ำเจ้าพระยาสายหลัก) ในสมัยสมเด็จพระไชยราชา บริเวณธนบุรีซึ่งอยู่ระหว่างคลองบางกอกน้อย-บางกอกใหญ่ และแม่น้ำเจ้าพระยาจึงมีลักษณะเป็นเกาะ และถูกยกขึ้นเป็นเมืองธนบุรีศรีมหาสมุทรในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ

ต่อมาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีการสร้างป้อมเมืองบางกอกทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำ แต่มาโดนรื้อทำลายสมัยสมเด็จพระเพทราชา เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสถาปนากรุงธนบุรี จึงบูรณะฝั่งตะวันตกที่ชื่อ “ป้อมวิไชยประสิทธิ์” ขึ้นใหม่ แม้ราชธานีจะข้ามมาอยู่ฝั่งกรุงเทพฯ แต่ความเป็นเมืองของธนบุรีและการใช้พื้นที่ของผู้คนยังดำรงอยู่เสมอมา

เมื่อมีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม “สถานีศิริราช” ซึ่งครอบคลุมบริเวณโบราณสถาน “สถานีรถไฟธนบุรี” จึงมีการค้นพบร่องรอยทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ หลังจากกรมศิลปากรเข้าตรวจสอบขุดค้นก็พบหลักฐานต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะกำแพงเมืองเก่าและโครงกระดูกมนุษย์จำนวนมาก

อะไรอยู่ท้ายเมืองธนบุรี ?

สุริยา สุดสวาท ในฐานะตัวแทนทีมขุดค้นเผยว่า จากการขุดค้นพื้นที่สถานีรถไฟธนบุรีเดิม ตั้งแต่บริเวณใต้สะพานอรุณอมรินทร์ฝั่งตะวันออก หน้าวัดอมรินทรารามฯ (วัดโบสถ์น้อย) และทางตะวันตกของโรงพยาบาลศิริราช พบหลักฐานที่มีอายุเก่าแก่ย้อนไปถึงสมัยอยุธยา อย่างน้อยช่วงแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เรื่อยมาถึงสมัยกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ ร่องรอยโบราณสถานและโบราณวัตถุที่พบ ได้แก่

หลักฐานกลุ่มแรกเป็นหลักฐานตั้งแต่สมัยอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ก่อน พ.ศ. 2443 ซึ่งมีการเวนคืนก่อสร้างสถานีรถไฟ ประกอบด้วย เครื่องถ้วยจีน และภาชนะดินเผาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แนวทางเดินลายก้างปลาที่นิยมทำในสมัยอยุธยา แนวกำแพงเมืองกรุงธนบุรี แนวทางเดินที่ซ้อนทับแนวกำแพงเมือง และกลุ่มอาคารที่ซ้อนทับแนวทางเดินอีกที รวมถึงฐานเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม อาคารรูปสี่เหลี่ยม กระเบื้องมุงหลังคา

หลักฐานกลุ่มที่ 2คือร่องรอยที่เกี่ยวข้องกับกิจการรถไฟ เช่น กลุ่มอาคารเครื่องไม้ แนวรางรถไฟ หมุด ตะปู

หลักฐานกลุ่มที่ 3คือโครงกระดูกมนุษย์ในลักษณะของนอนหงายเหยียดขา นอนคว่ำเหยียดขา และนอนคว่ำแล้วมือกับเท้าพับไพล่หลัง ซึ่งเป็นลักษณะที่พบในโครงกระดูกส่วนใหญ่ โดยพบร่วมกับเหรียญพดด้วงสมัยรัชกาลที่ 4 และเหรียญกษาปณ์สมัยรัชกาลที่ 5 ทั้งนี้ โครงกระดูกที่พบร่วมกับเหรียญจะเป็นโครงที่นอนคว่ำ มือกับเท้าพับไพล่หลัง

พนมบุตร จันทรโชติ สรุปการค้นพบข้างต้นเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกคือ การพบเครื่องถ้วย-ภาชนะดินเผา พิสูจน์ว่าธนบุรีมีอายุสืบย้อนไปถึงสมัยอยุธยา ต่อมาเรื่องการพบแนวกำแพง วิเคราะห์ได้ว่าเป็นกำแพงสมัยกรุงธนบุรีจากรูปแบบวิธีการสร้าง สุดท้ายคือการพบอาคารเครื่องไม้ช่วงที่พื้นที่ดังกล่าวเป็นสถานีรถไฟ

อธิบดีกรมศิลปากรยังชี้ว่า การพบโครงกระดูกบริเวณดังกล่าวไม่ได้พบเป็นครั้งแรก แต่เคยพบมาก่อนแล้วเมื่อปี 2558-2559 จากโครงการอนุรักษ์กำแพงเมืองและคูเมืองธนบุรี เป็นโครงกระดูกมนุษย์จำนวน 16 โครง พบคู่กับเหรียญที่ระบุ พ.ศ. 2438 (รัชกาลที่ 5) เป็นหลักฐานติดที่ ซึ่งอนุมานได้ว่าฝังสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

ด้าน นฤพล หวังธงชัยเจริญ ได้อธิบายการศึกษาทางโบราณคดีในพื้นที่ขุดค้น เมื่อเทียบชั้นดินทั้ง 2 ชั้น คือแนวกำแพงเมืองและแนวทางเดินที่ทับอยู่ด้านบน จะพบว่าพื้นที่ดังกล่าวมีการใช้งานอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัยอยุธยาถึงสมัยรัชกาลที่ 4-5

ส่วนโครงกระดูกมนุษย์นอกจากจะพบแบบ “ฝังครั้งที่ 1” คือเสียชีวิตแล้วทำพิธีกรรมและฝังลงดิน ยังพบแบบ “ฝังครั้งที่ 2” คือมีการเผาศพก่อนนำกระดูกมาเก็บใส่ภาชนะ ซึ่งนิยมทำกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยาด้วย

โครงกระดูกมนุษย์ทั้งหมดที่เจอ ณ ปัจจุบันคือ 152 โครง ส่วนใหญ่หันหัวไปทางทิศตะวันตก ลักษณะอยู่ในท่านอนคว่ำหน้า มือและเท้าไพล่หลังมากที่สุดคือ 56 โครง พบหนาแน่นบริเวณใต้เชิงสะพาน มีทั้งที่อยู่ด้านล่างกับบนแนวกำแพง ซึ่งเป็นชั้นดินสมัยรัชกาลที่ 4-5 สอดคล้องกับข้อสังเกตว่าพื้นที่ดังกล่าวถูกใช้เป็น “ป่าช้า” หรือที่ฝังศพในช่วงเวลานั้น และการพบหรียญก็ช่วยยืนยันว่ามีการให้ศพอมเหรียญก่อนฝังนั่นเอง ทั้งนี้ ชั้นดินสมัยอยุธยาที่พบฐานเจดีย์ก็พบโครงกระดูกและหม้อ-ไหบรรจุอัฐิด้วยเช่นกัน

อาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า “ส่วนใหญ่ในระดับ 1-2 เมตรขึ้นไปจะเป็นท่านอนคว่ำ ประมาณ 1.8 เมตรจะเป็นท่านอนคว่ำพับขา ส่วนท่านอนหงายจะอยู่ที่ 1-1.2 เมตร นั่นหมายความว่าพิธีกรรมของคนในช่วงนั้นค่อย ๆ เปลี่ยน

การนอนคว่ำเป็นท่าศพที่ค่อนข้างแปลก ท่านอนคว่ำในบริบทสากลเป็นท่าที่มักใช้กับกรณีที่ผิดปกติหรือกลุ่มคนที่ไม่ใช่กลุ่มเดียวกัน เป็นท่าหายากและบ่งชี้ความเชื่อทางสังคม”

อย่างไรก็ตาม นฤพลเผยว่า ในงานของพระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) เรื่องประเพณีเนื่องในความตาย บอกไว้ว่า การเผาบนเชิงตะกอนสมัยก่อน ในขั้นตอนท้ายสุดศพที่นอนหงายในโลงจะถูกเปลี่ยนท่าเป็นนอนคว่ำตอนนำขึ้นเชิงตะกอน หรืองานเกี่ยวกับพิธีการฝังศพสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ระบุถึงการฝังแบบนอนคว่ำสำหรับคนที่ตายกลุ่มหรือตายผิดปกติ การฝังแบบดังกล่าวจึงอาจเป็นเรื่องปกติในช่วงนั้น

ว่าด้วย “ความตาย” ของร่างที่ถูกฝัง

ด้วยจำนวนโครงกระดูกที่มีถึงร้อยกว่าโครง และรูปแบบการฝังแบบนอนคว่ำพับขา ซึ่งไม่ใช่รูปแบบทั่ว ๆ ไป จึงชวนให้ตั้งข้อสังเกตว่าเรามีหลักฐานหรือบันทึกทางประวัติศาสตร์อะไรอธิบายที่มาและวิธีจัดการศพแบบดังกล่าวได้อีกบ้าง

เรื่องนี้ ชาติชาย มุกสง อธิบายว่า การตายของคนจำนวนมากหรือที่เรียกว่า “ตายห่า” ในประวัติศาสตร์ไทยมีอยู่ 3 ห่า ได้แก่ ไข้ทรพิษ กาฬโรค และอหิวาตกโรค ทั้ง 3 ห่าสามารถเป็นสาเหตุความตายของเจ้าของโครงกระดูกที่ถูกฝังได้ทั้งหมด แต่กาฬโรคอาจจะเป็นไปได้น้อยกว่าเพราะเพิ่งระบาดในช่วง พ.ศ. 2447 แต่มีการเวรคืนพื้นที่ดังกล่าวเพื่อทำทางรถไฟไปตั้งแต่ พ.ศ. 2443 แล้ว

สมัยรัชกาลที่ 5 คนไทยเชื่อกันแล้วว่าการฝังหรือเผาศพคือวิธีการจัดการศพที่ทำให้โรคไม่ระบาดต่อ ประกอบกับในทศวรรษ 2430 ผู้คนเริ่มมีความคิดเรื่องความ “ศิวิไลซ์” ไม่ต้องการให้พระนครแปดเปื้อนไปด้วยกลิ่นเหม็นของศพ ชนชั้นนำจึงให้เอาซากศพมาจัดการนอกพระนคร

ทั้งนี้ ก่อนทศวรรษ 2440 ศพที่ตายด้วยโรคระบาด ไม่ว่าจะด้วย “โรคห่า” หรือโรคยอดนิยมอื่น ๆ ในยุคนั้น เช่น วัณโรค ซิฟิลิส (โรคบุรุษ) แล้วเผาไม่ทันจะถูกนำมาฝังไว้ก่อนเพื่อรอทำพิธีเผาอีกครั้ง แต่บางศพอาจไม่ได้เอามาเผาอีก เพราะเป็นศพไร้ญาติหรือศพนักโทษจึงถูกฝังลืมไว้ภายในวัด ตรงนี้เองที่อาจารย์จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สันนิษฐานว่า เป็นที่มาของโครงกระดูก (ส่วนใหญ่) ที่ขุดค้นพบกัน

โครงกระดูกใครอยู่ท้ายเมืองธนบุรี ?

สำหรับผลวิเคราะห์ทางการแพทย์จากตัวอย่างโครงกระดูกในหลุดขุดค้น ณปกรณ์ ฉายแสง เผยว่า โดยทั่วไปแล้ว การวิเคราะห์โครงกระดูกคือการระบุตัวตนเจ้าของร่าง โดยใช้ 4 อัตลักษณ์ ได้แก่ เพศ อายุ เชื้อชาติ และความสูง และอีก 2 กระบวนการเพิ่มเติมคือ แยกโครงกระดูกที่พบหากพบหลายโครงอยู่ด้วยกัน และการตรวหาร่องรอยอื่น ๆ บนกระดูก เช่น อาการบาดเจ็บ หรือรอยโรค

จากการศึกษาโครงกระดูก 20 ตัวอย่าง แบ่งเป็น 29 โครง พบว่า เป็นเพศชาย 10 โครง เพศหญิง 8 โครง บางโครงไม่สามารถระบุเพศได้เนื่องจากอายุไม่ถึง 15 ปี โดยมีช่วงอายุประมาณ 17-49 ปี อยู่ 11 โครง อายุมากกว่า 50 ปี 4 โครง อายุน้อยกว่า 17 จำนวน 4 โครง นอกนั้นเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถระบุอายุได้ ขณะที่เชื้อชาติของโครงกระดูกทั้งหมดเป็นชาวเอเชีย (ไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าเป็นคนไทย) ส่วนความสูงอยู่ในช่วงระหว่าง 145-170 ซม.

สำหรับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของกระดูกที่สามารถวิเคราะห์ทางการแพทย์ได้ พบว่า ร่องรอยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับกระดูก ทั้งการแตกของกะโหลกศีรษะ การหักของกระดูก เกิดขึ้นหลังการตายทั้งหมด ไม่มีที่เกิดก่อนหรือระหว่างการเสียชีวิต ซึ่งร่องรอยการแตก-หักส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากแรงกดอัดในช่วงที่มีการสำรวจขุดค้นนั่นเอง

หมอณปกรณ์ยังยกตัวอย่างกระดูกบางชิ้นที่ปรากฏร่องรอยแตกคล้ายลายไม้ จากการอักเสบเรื้อรังบนผิดกระดูก กล่าวคือ เป็น “รอยโรค” ของเจ้าของโครงกระดูก โรคที่ก่อให้เกิดลักษณะดังกล่าวคือ วัณโรค ซิฟิลิส ฯลฯ ซึ่งพบถึง 7 จาก 29 โครง นอกจากนี้บางโครงยังมีภาวะเลือดจางจากภาวะขาดโภชนาการ โดยเฉพาะธาตุเหล็กด้วย

จากข้อมูลทั้งหมดจึงสรุปอย่างคร่าว ๆ ได้ว่า โครงกระดูกมนุษย์จำนวนมากที่ถูกฝังไว้ในท่าพิสดาร นอนคว่ำหน้า มือและเท้าไพล่หลังนั้น เป็นวิธีการจัดการศพที่ตายเพราะโรคระบาดในสมัยรัชกาลที่ 5 หรือเก่ากว่านั้น ในพื้นที่ที่เป็นป่าช้าเก่านั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 กรกฎาคม 2568

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : เผยคำตอบโครงกระดูกมนุษย์ท่าพิสดาร ณ จุดสร้างสถานีรถไฟฟ้าศิริราช ใน “ไขปริศนาความตายท้ายเมืองธนบุรี”

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก ศิลปวัฒนธรรม

“กาแฟ” กับ “อาหารเช้า” ความลงตัวที่เกิดขึ้นมาเพราะต้องการ “ความบริสุทธิ์”

4 ชั่วโมงที่ผ่านมา

“อึ้งเมี่ยวเหงี่ยน” เจ้าสัวค้าไม้ผู้ใจบุญ ต้นตระกูล “ล่ำซำ” มหาเศรษฐีหมื่นล้านของเมืองไทย

5 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความไลฟ์สไตล์อื่น ๆ

"ขนมถ้วยฟูทุเรียนมูซานคิง" แปลกใหม่ ชวนชิม หรอยแรงแห่งพังงา

Manager Online

หมอจุฬาฯ เผยวิธีผ่าตัดรักษาโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OSA) แห่งแรกในไทย

Thairath - ไทยรัฐออนไลน์

คอนเสิร์ต BLACKPINK ที่ Goyang Stadium มีคนดูรวม 2 วันทะลุ 78,000 คน

THE STANDARD

ใครหยุดบ้าง 10-13 ก.ค. 2568 เช็กวันเปิดทำการธนาคาร - ไปรษณีย์ - เอกชน

Thai PBS

“Price War: สงครามราคาครั้งนี้ ใครได้ ใครเสีย?!”

GM Live

ยิ่งใหญ่สมการรอคอย “งานบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราช” ปี 2568 จังหวัดนครพนม

Manager Online

MEYOU แท็กทีม JAONAAY-JAOKHUN ร่วมกันถ่ายทอดอารมณ์คนเหงาผ่านซิงเกิลล่าสุด 4TH JULY

THE STANDARD

ทำไมนอนตะแคงถึงทำให้หน้าเหี่ยว?

สยามรัฐวาไรตี้

ข่าวและบทความยอดนิยม

เผยคำตอบโครงกระดูกมนุษย์ท่าพิสดาร ณ จุดสร้างสถานีรถไฟฟ้าศิริราช ใน “ไขปริศนาความตายท้ายเมืองธนบุรี”

ศิลปวัฒนธรรม

“อึ้งเมี่ยวเหงี่ยน” เจ้าสัวค้าไม้ผู้ใจบุญ ต้นตระกูล “ล่ำซำ” มหาเศรษฐีหมื่นล้านของเมืองไทย

ศิลปวัฒนธรรม

3 เรื่องประวัติศาสตร์น่ารู้ จาก The Sandman Season 2, Vol. 1

ศิลปวัฒนธรรม
ดูเพิ่ม
Loading...