โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

หมอจุฬาฯ เผยวิธีผ่าตัดรักษาโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OSA) แห่งแรกในไทย

Thairath - ไทยรัฐออนไลน์

อัพเดต 4 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 4 ชั่วโมงที่ผ่านมา
ภาพไฮไลต์

รพ.จุฬาลงกรณ์พบวิธีผ่าตัดรักษาโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OSA) ด้วยวิธีการกระตุ้นเส้นประสาทสมองคู่ที่ 12 (HGNS) โดยเป็นเทคนิคการผ่าตัดแบบใหม่ และแผลผ่าตัดเล็ก

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยทีมแพทย์ ศูนย์นิทราเวช ฝ่ายโสต ศอ นาสิกวิทยา ฝ่ายอายุรศาสตร์ (หน่วยโรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤต) ฝ่ายการพยาบาล และฝ่ายวิสัญญีวิทยา ประกาศเมื่อวันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมา ว่ามีวิธีผ่าตัดช่วยรักษาผู้ป่วยโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OSA) ด้วยเทคนิคใหม่ได้สำเร็จเป็นแห่งแรกของประเทศไทย และแห่งที่สี่ในเอเชีย

จากการเปิดเผยข้อมูลโดย รศ.พญ.นฤชา จิรกาลวสาน หัวหน้าศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และนายกสมาคมโรคจากการหลับแห่งประเทศไทย ระบุว่า โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OSA) พบได้ถึงประมาณร้อยละ 14 ในประชากรทั่วไป โดยผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการกรน ตื่นบ่อยระหว่างคืน ง่วงนอนผิดปกติในเวลากลางวัน เป็นต้น

รศ.พญ.นฤชา จิรกาลวสาน หัวหน้าศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และนายกสมาคมโรคจากการหลับแห่งประเทศไทย

โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OSA) เพิ่มโอกาสการเป็นโรคร้ายแรง เช่น โรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือด การรักษาหลักคือการใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก แต่อย่างไรก็ตามมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถทนต่อการรักษาด้วยวิธีนี้ได้ ทีมแพทย์จึงหาวิธีการใหม่มาช่วยในการรักษา ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัย และมีความเหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละราย

โดยล่าสุดนี้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ประสบความสำเร็จในการใช้เทคนิคพิเศษผ่าตัดรักษาผู้ป่วยโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นระดับรุนแรง ระดับปานกลางถึงรุนแรงมาก ด้วยวิธีการกระตุ้นเส้นประสาทสมองคู่ที่ 12 (HGNS) โดยเป็นเทคนิคการผ่าตัดแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง แผลผ่าตัดเล็ก ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว โดยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เป็นแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นแห่งที่สี่ในเอเชีย หลังจากประเทศญี่ปุ่น ประเทศสิงคโปร์ และประเทศฮ่องกง ที่ขณะนี้มีการรักษาด้วยวิธีนี้

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์จะเปิดการรักษาด้วยวิธี HGNS ในอนาคตอันใกล้ ผู้ป่วยที่สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าของการรักษาด้วยนวัตกรรมนี้ได้จากข่าวสารของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

ผศ. (พิเศษ) พญ. นทมณฑ์ ชรากร หัวหน้าหน่วยโสต ศอ นาสิกวิทยาการนอนหลับ ฝ่ายโสต ศอ นาสิกวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

ทางด้าน ผศ. (พิเศษ) พญ. นทมณฑ์ ชรากร หัวหน้าหน่วยโสต ศอ นาสิกวิทยาการนอนหลับ ฝ่ายโสต ศอ นาสิกวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า “โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มีศักยภาพสูงในการดูแลผู้ป่วยที่มีโรคจากการนอนหลับทุกประเภท ทุกสหสาขาวิชาชีพทำงานร่วมกันในการดูแลกลุ่มผู้ป่วยโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น โดยผู้ป่วยที่เหมาะกับการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดแบบ HGNS ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ โดยต้องมีระดับความรุนแรงของภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นระดับรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก ไม่สามารถทนการรักษาด้วยเครื่องอัดอากาศแรงดันบวกได้ และมีข้อบ่งชี้ตามเกณฑ์กำหนด

การผ่าตัดแบบ HGNS จัดว่าเป็นเทคนิคการผ่าตัดทางเดินหายใจใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง แผลผ่าตัดเล็ก ความเจ็บหลังผ่าตัดน้อย และการฟื้นตัวเร็ว ปัจจุบันอุปกรณ์ดังกล่าวที่ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยาแห่งประเทศไทย (อ.ย.) เมื่อปี พ.ศ. 2567

หลักการของการผ่าตัดคือ การฝังเครื่องกระตุ้นเส้นประสาทสมองคู่ที่ 12 (Hypoglossal Nerve) เป็นกล่องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ฝังลงไปในร่างกาย (Implantable Device) ที่บริเวณเหนือกล้ามเนื้อหน้าอก เพื่อส่งสัญญาณกระตุ้นไฟฟ้าที่เส้นประสาทสมองคู่ที่ 12 ทางฝั่งขวา เฉพาะแขนงที่ทำให้กล้ามเนื้อลิ้น (Genioglossus Muscle) เคลื่อนตัวไปข้างหน้า ขณะที่มีอุปกรณ์จับสัญญาณการเคลื่อนไหวของทรวงอกว่ากำลังหายใจเข้า บริเวณชายโครงด้านขวา ทำให้ทางเดินหายใจเปิดโล่ง อุปกรณ์จะปล่อยพลังงานไฟฟ้าในขนาดที่เหมาะสม โดยการปรับสัญญาณไฟฟ้าให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย

ผู้ป่วยสามารถเปิด ปิดอุปกรณ์ ผ่านทางรีโมทคอนโทรลที่ใช้งานง่าย เพียงกดปุ่มเดียว เพื่อเปิดใช้งานก่อนเข้านอนและปิดเมื่อตื่นนอน วิธีนี้เป็นการรักษาโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นที่มีมาแล้วมากกว่า 10 ปี ผ่านการรับรองโดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (Food and Drug Administration: FDA) เมื่อปี พ.ศ. 2557 (ค.ศ.2014) มีหลักฐานเชิงประจักษ์ถึงประสิทธิภาพการรักษาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นหัตถการที่ปลอดภัยและผลลัพธ์ดี ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการทำหัตถการนี้เกิดขึ้นภายในประเทศไทย”

รศ.นพ. ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รศ.นพ. ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวสรุปว่า “นับเป็นสิ่งที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ทีมแพทย์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สามารถนำเทคนิคนี้มารักษาผู้ป่วยได้สำเร็จเป็นที่แรกของประเทศไทย และเป็นลำดับที่สี่ของเอเชีย เป็นการเพิ่มทางเลือกในการรักษาให้กับกลุ่มผู้ป่วยโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นระดับรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นที่มีความประสงค์จะรักษาด้วยเทคนิคการผ่าตัดแบบใหม่นี้ จำเป็นต้องผ่านการวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และมีข้อบ่งชี้ตามเกณฑ์ เพื่อความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงสุด

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก Thairath - ไทยรัฐออนไลน์

ดูดวงรายวัน ประจำวันอังคารที่ 8 กรกฎาคม 2568

2 ชั่วโมงที่ผ่านมา

เผยที่ดินรีสอร์ต “จอนนี่ มือปราบ” รับช่วงต่อเป็นมือที่ 3 ในพื้นที่มีอีกกว่า 500 ครอบครัว

4 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความไลฟ์สไตล์อื่น ๆ

ข่าวและบทความยอดนิยม

Loading...